“แพนิค” ไม่ใช่แค่ตกใจ แต่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติแนะวิธีบรรเทา
แพนิค (Panic Disorder) โรคตื่นตระหนกวิตกกังวลที่ระบบประสาทอัตโนมัตทำงานผิดปกติอาจสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน เช็กอาการที่ควรพบแพทย์
โรคแพนิค (Panic Disorder)โรคตื่นตระหนกเป็นโรควิตกกังวลที่มีอาการตกใจกลัวอย่างกะทันหันและรุนแรงทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือ สถานการณ์ที่อันตราย สามารถพบได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ในประชากรทั่วไป คนส่วนใหญ่จะเคยมีอาการแพนิกหนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต ซึ่งความถี่ในการเกิดอาการแพนิกอาจแตกต่างกันออกไป ซึ่งที่หลายคนมักชอบพูดว่า “อย่ามาแพนิคน่ะ” แท้จริงแล้วผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ และโรคแพนิคนี้ก็ไม่ใช่แค่นิสัยขี้ตระหนกตกใจด้วยเช่นกัน
สัญญาณโรคแพนิค เกิดจากอะไร? วิธีรักษาและดูแลตัวเองเบื้องต้น
5 โรควิตกกังวล จิตเวชที่คนวัยทำงานมักเป็นแต่ไม่รู้ตัว
แพนิคเกิดจากอะไรกัน?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคแพนิค แต่มีงานวิจัยที่พบว่าโรคแพนิคอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ โดยถ้าเป็นญาติสายตรงจะพบประมาณร้อยละ 43 นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับการมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ในชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การเกิดอาการของโรคแพนิคได้
นอกจากนี้ แพนิคยังเกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วน จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน
อาการของโรคแพนิค
- ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
- เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
- หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
- วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และผู้ป่วยโรคแพนิคมักจะรู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิคก็ต่อเมื่อมีอาการดังกล่าวไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ค แล้วพบว่าหัวใจแข็งแรงเป็นปกติ แพทย์จะสงสัย และอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิค เพราะแม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน
เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายขณะที่มีอาการแพนิค ?
ขณะมีอาการแพนิคร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ คือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ที่เรียกว่า“อะมิกดาลา” ( Amygdala ) รับรู้ว่ามีอันตรายเกิดขึ้นจะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่าซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenaline) ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการปกป้องเราจากอันตรายในลักษณะที่เรียกว่า“สู้หรือหนี” (fight or flight) ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
อะไรที่กระตุ้นให้แพนิคแย่ลง
โดยปกติแล้วอาการแพนิคจะหายไปภายใน 10 นาทีเนื่องจากเป็นธรรมชาติของเวลาการหลั่งอะดรีนาลินสู่กระแสเลือด แต่เมื่อเราพยายามหยุดอาการแพนิคด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- หลีกเลี่ยงที่จะไปสถานที่ที่อาจทำให้เกิดอาการเช่นห้างสรรพสินค้า หรือไม่กล้าอยู่คนเดียว จะอยู่ในสถานที่ที่คิดว่าจะมีคนช่วยเหลือได้ตลอดเวลา
- การหายากล่อมประสาทเตรียมพร้อมไว้ และการพยายามหายใจในถุงกระดาษ
การกระทำเหล่านี้กลับทำให้อาการของโรคนี้แย่ลงเพราะสมองส่วนอารมณ์จะรับรู้ว่าอาการต่างๆของแพนิคเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายยิ่งพยายามทำสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร อาการก็ยิ่งแปรปรวนมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะสงบซึ่งอาจนานเป็นชั่วโมงสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ถ้าคุณกลัวว่าอาการแพนิคจะเกิดขึ้นคุณกำลังส่งเสริมการกลับมาเป็นซ้ำของแพนิคและเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับแพนิคแบบที่เรียกว่ายิ่งเกลียดยิ่งเจอ กล่าวคือยิ่งคุณกลัวมากเท่าไร อาการแพนิคก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเรากำจัดความกลัวออกไปได้ก็จะไม่มีปัจจัยที่จะไปสนับสนุนการเกิดอาการแพนิค เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาการแพนิคอย่างถาวร
ในทำนองเดียวกัน หากคุณยิ่งพยายามที่จะหยุดหรือต่อสู้กับอาการเหล่านี้ คุณก็เพียงแค่สนับสนุนและยืดเวลาให้มีอาการนานขึ้นหรือหากคุณฝึกเทคนิคการผ่อนคลายบางอย่าง แล้วรออย่างใจจดใจจ่อต่อผลลัพธ์ที่จะทำให้อาการแพนิคลดลง คุณจะต้องผิดหวัง เพราะเทคนิคต่างไม่ได้ช่วยให้คุณเอาชนะอาการแพนิคได้เท่ากับการปรับความรู้ความเข้าใจต่ออาการแพนิค
วิธีรับมือกับปัญหารุมเร้า-ภาวะเครียดสะสม ก่อนกระทบสุขภาพจิต
ถึงจะไม่อันตรายแต่ก็ต้องรักษาให้หาย
โรคแพนิครักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
การรักษาที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลและ โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์
เช็กอาการ “ซึมเศร้า” ป่วยจริงหรือแค่คิดไปเอง พร้อมเผยท่าโยคะลดความเครียด