10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก พบสถิติผู้ป่วยจิตเวชเพิ่ม 2 เท่าในรอบ 6 ปี
สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ที่ตรงกับวันที่10 ตุลาคม ของทุกปี พบอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 6 ปีและหลักช่วยเหลือ 3 ส. เช็กลิสต์ 7 ข้อ เสี่ยงป่วยจิตเวชหรือไม่
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในปี 2535 โดยเป็นการริเริ่มขอ ริชาร์ด ฮันเตอร์ (Richard Hunter) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health) ที่ในปี 2566 กำหนดหัวข้อ "Mental Health Anywhere : เพื่อนแท้...มีทุกที่" มีวัตถุประสงค์เพื่อ รณรงค์ให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต
30 มีนาคม "วันไบโพลาร์โลก" ร่วมเข้าใจรู้ทันสัญญาณเตือนโรคอารมณ์ 2 ขั้ว
วิจัยพบปัญหาสุขภาพจิต-สูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเร่งแก่ก่อนวัย แนะวิธีเอาชนะความโศกเศร้า
ช่วยกันป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลาม เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิต รวมถึง สร้างความเข้มแข็งในเครือข่าย ส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและสร้างช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตให้ครอบคลุมประชากรทั่วโลก
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลจากคลินิกจิตเวชและยาเสพติด พบว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกจำนวน 22,481 ราย ส่วนใหญ่จากอาการ โรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยที่ได้รับส่งต่อ 292 ราย เป็นผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน 24 ราย ให้การดูแลผู้ป่วยในเฉลี่ย 18 ราย/วัน ส่วนงานบำบัดยาเสพติด มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 253 ราย สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ สุรา ยาบ้า และกัญชา
คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 6 ปี
ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต, สังคม ส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นถือเป็นช่วงเวลาที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น การเปลี่ยนโรงเรียน การใช้ชีวิตนอกบ้าน ความเศร้า ความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การเรียนรู้ในการดูแลตัวเองและผู้อื่น บางคนที่ไม่สามารถรับมือและยอมรับ ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จึงนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวช
การช่วยเหลือด้วยหลัก 3 ส
- ส 1 สอดส่องมองหา โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช
- ส 2 ใส่ใจรับฟัง อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ
- ส 3 ส่งต่อเชื่อมโยง โดยให้ความช่วยเหลือ ตามความจำเป็น หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เครียดรุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้ป้องกัน ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ป่วยจิตเวชห้ามขาดยาโดยเด็ดขาด ย้ำอาการดีขึ้น ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด!
เช็คลิสต์อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวช
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งติดต่อกันนานเกินสองสัปดาห์ หรือเป็นเดือนจนกระทบกับการใช้ชีวิต
- อยากแยกตัว เก็บตัวอยู่คนเดียว อยู่ๆ ก็ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่อยากออกไปใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง ไม่อยากทำแม้กระทั่งอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแต่งตัว
- มีอาการเจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดหลัง ปวดหัวแบบไม่มีสาเหตุ ปวดท้องท้องอืด หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารแบบเฉียบพลัน ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หัวใจเต้นเร็วขึ้น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ทั้งหมดนี้เรียกกันว่าเป็น ภาษาร่างกายแห่งความเครียด (body language of stress)
- พฤติกรรมกินอาหารผิดปกติไม่อยากกินอะไรเลยจนน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ซูบผอม หรือกินมากเกินปกติแบบต่อเนื่องจนน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเองไม่ได้
- อยู่ๆ ก็ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำได้ตามปกติ ความสามารถในการคิดอ่านลดลง ตัดสินใจในเรื่องธรรมดาๆ ก็ยังทำไม่ได้
- มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น มั่นใจในตัวเองมากเกินปกติ มีอารมณ์คึกครื้น ไม่อยากนอน มีพลังงานสูงมากเกินปกติ พูดเร็ว ทำเร็ว รวมถึงใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเงินแบบไม่คิด
- มีอารมณ์ซึมเศร้า และคิดว่าตนเองไร้ค่า สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย คิดว่าตนเองเป็นภาระ ท้อแท้ตำหนิตัวเอง หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ มองเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง รู้สึกสิ้นหวัง หรืออาจมีความคิดอยากตาย
มีอาการ 1 ใน 7 ข้อนี้ หรือมีหลายอาการร่วมกัน ควรตระหนักโรคจิตเวช
นอกจากนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวช ในเบื้องต้นเราจึงควรฝึกสำรวจจิตใจตนเอง โดยหมั่นทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความเครียดที่เกิดขึ้น และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้น รวมถึงการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ อาจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ความเครียดส่งผลกระทบต่อโรคทางกาย และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตใจซ้ำเติมอีกด้วย หากมีปัญหาสุขภาพจิต โทรสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก : รพ.กรุงเทพ,รพ.เปาโล,สสส.และกระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : shutterstock
จิตเวช-จิตเภทแตกต่างกันอย่างไร? อาการปัจจัยเสี่ยงที่ควรสังเกตและรักษา
สธ.เผยสถิติผู้ป่วยจิตเวช 2 หมื่นคนพบ โรคจิต-ซึมเศร้า-วิตกกังวลมากสุด