30 มีนาคม "วันไบโพลาร์โลก" ร่วมเข้าใจรู้ทันสัญญาณเตือนโรคอารมณ์ 2 ขั้ว
ทุกวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี ตรงกับวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day: WBD) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง
วันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day: WBD) ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี ถูกจัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงาน International Society for Bipolar Disorders (www.isbd.org) เพื่อชักชวนประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาโรคไบโพลาร์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับผู้ป่วย และกระตุ้นให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์
ไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว (Bipolar disorder) ที่นับเป็นโรคทางจิตเวชที่มีความผิดปกติทางอารมณ์เป็นอาการสำคัญ มีความชุกประมาณร้อยละ 1 ในผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชายเท่าๆกัน
สัญญาณ “ไบโพลาร์” อารมณ์ 2 ขั้ว และปัจจัยการเกิดโรคที่พบบ่อยในวัยรุ่น
รู้จัก “โรคหลอกตัวเอง” โกหกเก่ง เป็นโรคจิตเวช ? พร้อมวิธีสอนเด็กไม่ให้โกหก
พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเริ่มมีอาการระหว่างอายุ 15-19 ปี แต่ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีอาการในระยะก่อนเข้าวัยรุ่นหรือวัยรุ่นตอนต้นก็ได้โดยที่องค์การอนามัยโลกก็ได้ระบุว่า โรคนี้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก และยังพบอีกว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดปามีน (Dopamine) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
- พันธุกรรม ปัจจุบันยังไม่ทราบรูปแบบที่ชัดเจนของการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่พบผู้ป่วยมักมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคไบโพลาร์เช่นเดียวกัน
- วิกฤตชีวิต เช่น สูญเสียคนรัก ตกงาน เครียดเรื้อรัง หรือเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์อย่างรุนแรง
สัญญาณเตือนไบโพลาร์
- ไม่สามารถควบคุมการทำงานได้
- มีอาการเหมือนโรคซึมเศร้า
- พูดเร็วจนไม่สามารถจับใจความได้
- ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยๆ
- อารมณ์ดีเกินไป
- เริ่มใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์
- การนอนผิดปกติไป
- ขาดสมาธิ ฟุ้งซ่าน
อาการของผู้ป่วยไบโพลาร์
- ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหารเชื่องช้า ลังเล ตัดสินใจไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตัวเอง คิดช้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า มีความคิดฆ่าตัวตาย
- ในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี คึกคัก มีกำลังวังชา ขยันกว่าปกติแต่ทำได้ไม่ดี ความต้องการนอนน้อยลง พูดคุยทักทายผู้อื่น แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็ว กิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายเปลือง เชื่อมั่นตนเองมาก การตัดสินใจไม่เหมาะสม ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้
ป่วยจริงไม่หงายการ์ด “ป่วยจิตเวช” แบบไหนละเว้นโทษได้
โรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคที่เรื้อรังมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ถึง 80-90 % จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวผู้ป่วยและครอบครัวจึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกับโรคและการรักษา ทั้งนี้สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
“โรคดึงผมตัวเอง” ป่วยจิตเวชแบบย้ำคิดย้ำทำ หายได้หากรู้ตัวทัน
เช็ก 9 สัญญาณ “โรคซึมเศร้า” อาการแบบไหนควรพบแพทย์?