กรมวิทย์เผย “BA.4/BA.5” ครองไทยกว่า 68% ยันแพร่ได้เร็ว-รุนแรงกว่าเดิม
กรมวิทย์เผยสัดส่วนผู้ติดเชื้อ “BA.4/BA.5” แซงหน้า BA.2 แล้ว โดยครองตลาดในไทยกว่า 68% ยันแพร่ได้เร็ว-รุนแรงกว่าเดิม แนะฉีดเข็มกระตุ้น-สวมแมสก์ป้องกัน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศไทยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-22 กรกฏาคม 2565) พบว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 แซงหน้า BA.2 ที่เคยครองตลาดเดิมเรียบร้อยแล้ว
โดยจากการสุ่มตรวจผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 468 คน พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 จำนวน 5 ราย คิดเป็น 1.1% BA.2 จำนวน 143 ราย คิดเป็น 30.6% และ BA.4/BA.5 จำนวน 320 ราย คิดเป็น 68.4%
โควิดวันนี้ (24 ก.ค.65) ยอดผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง เสียชีวิต 30 ราย
สธ.ย้ำ “ฝีดาษลิง” ไม่ได้ติดต่อง่าย ล่าสุดยังไม่พบติดเชื้อเพิ่ม
และหากดูกราฟ แยกสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 จะพบอีกว่า เป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 16 ราย คิดเป็น 100% และ เป็นกลุ่มผู้ติดเขื้อภายในประเทศ จำนวน 304 ราย คิดเป็น 67.3% จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อภายในกรุงเทพมหานคร 141 ราย คิดเป็น 80.1% และผู้ติดเชื้อในส่วนภูมิภาค 163 ราย คิดเป็น 59.1%
ทั้งนี้เนื่องจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มี spike protein ที่เหมือนกัน ดังนั้นการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นจึงไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้อย่างชัดเจน
“จากกราฟ จะเห็นว่า BA.4/BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.1 และ BA.2 แพร่ได้เร็วกว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ในตอนนี้ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สัดส่วนผู้ติดเชื้อ BA.5 มากกว่า BA.4
เนื่องจากการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นไม่สามารถแยกได้ว่าสัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้มีจำนวน BA.4 และ BA.5 เท่าใดอย่างแน่ชัด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงทำการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 357 ราย ด้วยการตรวจวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (Whole genome sequencing) พบว่ามีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 จำนวน 87 ราย คิดเป็น 24.37% และ BA.5 จำนวน 270 ราย คิดเป็น 75.63%
เช็กเลย! ป่วยโควิด - สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาที่ไหนได้บ้าง
กทม. เตรียมขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด อีก 758 เตียง
สำหรับการกระจายของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 ที่มากกว่า 50 % พบใน 2 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่
ยัน BA.4/BA.5 รุนแรงมากกว่า BA.2
ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 นอกจากจะมีความสามารถในการแพร่ได้เร็วแล้ว มีความรุนแรงเพิ่มด้วยหรือไม่นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้
กรุงเทพมหานคร
- กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อ BA.2 จำนวน 28 ราย คิดเป็น 22.95% และ ผู้ติดเชื้อ BA.4/BA.5 จำนวน 94 ราย คิดเป็น 77.05%
- กลุ่มที่มีอาการรุนแรง จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อ BA.2 จำนวน 7 ราย คิดเป็น 12.96% และ ผู้ติดเชื้อ BA.4/BA.5 จำนวน 47 ราย คิดเป็น 87.04%
ส่วนภูมิภาค
- กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อ BA.1 จำนวน 1 ราย คิดเป็น 2.24% ติดเชื้อ BA.2 จำนวน 94 ราย คิดเป็น 42.15% และ ผู้ติดเชื้อ BA.4/BA.5 จำนวน 124 ราย คิดเป็น 55.61%
- กลุ่มที่มีอาการรุนแรง จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อ BA.2 จำนวน 14 ราย คิดเป็น 26.42% และ ผู้ติดเชื้อ BA.4/BA.5 จำนวน 39 ราย คิดเป็น 73.58%
นอกจากนี้ หากย้อนไปดูผลตรวจเมื่อวันที่ 2-22 กรกฎาคม 2565 จะพบเช่นเดียวกันว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ทำให้เกิดอาการป่วยโควิดที่รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
BA.2.75 อาจหลบภูมิ-จับเซลล์ปอดได้ดี
สำหรับการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ 9 ตำแหน่งที่เพิ่มมาจาก BA.2 ซึ่งไม่มีผลกระทบมาก แต่การเปลี่ยนพร้อมกัน 9 ตำแหน่งทำให้เป็นที่จับตามอง
โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ปอด และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการดูตำแหน่งการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ยังไม่มีข้อมูล Real World ที่จะสรุปได้ว่า เกิดเหตุการณ์แบบข้างต้นมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจะต้องติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เพียง 1 รายตามที่เคยรายงานข่าวไปแล้ว ยังไม่พบรายอื่นใดเพิ่มเติม
แนะฉีดเข็มกระตุ้น สวมแมสก์-หมั่นล้างมือ ป้องกัน BA.5
สำหรับมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด นพ.ศุภกิจ ยังเน้นย้ำให้ประชาชนมารับเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มมานานแล้ว กลุ่มเสี่ยงผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ (608) ควรได้รับเข็มที่ 4 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 ที่กำลังแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญยังต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ เพื่อให้ห่างไกลโรคโควิด-19
WHO เผยข้อเท็จจริง "ฝีดาษวานร" เมื่อติดเชื้อแล้วใช้ยาอะไรรักษา