เจ็บเวลายืน เดินนานๆ! สัญญาณ “ภาวะเท้าแบน” ภัยเงียบในเด็กที่ไม่ควรละเลย
“เท้าแบน” อาการที่พบได้ทุกกลุ่มวัย แต่เจอบ่อยในเด็ก แม้เป็นปัญหาที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรละเลย เพราะอาจนำไปสู่ความผิดรูปของข้อเท้า นิ้วเท้า หรือเส้นเอ็นฉีกขาดได้
ผู้ปกครองเวลาเห็นลูกเจ็บทีไร ก็เจ็บปวดใจทุกที และอาการที่พบในเด็กได้บ่อยก็คือ “เจ็บเท้า” ซึ่ง “ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม” นางแบบและนักแสดงคนดัง ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตัวเองก็เป็นห่วงลูกชาย “สกาย-กิ่งโพยม ชาร์พเพิล” เหมือนกัน ที่เวลายืน เดินนานๆ หรือวิ่งเขาจะเจ็บเท้า เพราะตั้งแต่เกิดมาเขาก็เป็น “กระดูกเท้าแบน” คือตรงเท้าเขาไม่มีส่วนโค้ง ทำให้เขาเลือกเป็นนักกีฬาว่ายน้ำแทน เพราะไม่ต้องลงน้ำหนักที่เท้ามาก
วิจัยพบ“การกอด”คลายหนาวได้ แถมยังช่วยให้อายุยืน เพิ่มพูนฮอร์โมนความสุข
ส่อง 10 เทรนด์ “อาหารเพื่อสุขภาพ” มาแรงปี 2566
ซึ่ง “ลูกเกด” เองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าว่ายน้ำไปนานๆ แล้วจะเป็นอะไรอีกหรือเปล่า แต่ภาวะเท้าแบนในเด็กเป็นอย่างไร น่ากังวลมากน้อยขนาดไหน
ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวมข้อมูลมาจาก รศ.นพ.จตุพร โชติกวณิชย์ ที่ปรึกษาศูนย์กระดูกและข้อ แพทย์โรคกระดูกและข้อในเด็ก และแพทย์โรคกระดุกสันหลังในเด็กและผู้ใหญ่ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ และ โรงพยาบาลกรุงเทพ มาให้คลายความสงสัยกันดังนี้
เจ็บเท้าเวลาเดิน-วิ่ง สัญญาณเตือนภาวะเท้าแบน
ภาวะเท้าแบน คือ ภาวะผิดปกติที่กลางเท้าสูญเสียความสูงไปหรือแบนติดพื้น ทำให้เวลาเดินนานๆ หรือวิ่งจะเจ็บเท้า จนอาจนำไปสู่ความผิดรูปของข้อเท้าและนิ้วเท้าตามมาได้ โดยอากาของภาวะเท้าแบน มีดังนี้
- เจ็บอุ้งเท้าและส้นเท้า แม้สวมใส่รองเท้าได้ดีและนุ่มสบายแล้ว
- ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น มีการอักเสบบวมแดงตามเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเท้า
- ทรงตัวลำบาก ยืนเขย่งขาไม่ได้ หรือเดินขึ้นลงบันไดลำบาก
- ไม่สามารถสวมใส่รองเท้าที่เคยใส่ได้ หรือรู้สึกอุ้งเท้าแบนมากยิ่งขึ้น
- รู้สึกชาฝ่าเท้า หรือเส้นเอ็นนิ้วเท้าอ่อนแรงหรือผิดรูปมากขึ้น
ชนิดของภาวะเท้าแบน
ภาวะเท้าแบน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1.) ภาวะเท้าแบนแต่กำเนิด
ภาวะเท้าแบนแต่กำเนิด แบ่งย่อยออกเป็นอีก 2 ประเภท ได้แก่
- ภาวะเท้าแบนแบบติดแข็ง
มักมีความผิดปกติของกระดูกและข้อภายในเท้าแต่กำเนิด ทำให้เท้ามีภาวะผิดรูป เท้ามีความพิสัยการขยับที่น้อยกว่าปกติ มีลักษณะการลงน้ำหนักเท้าที่ผิดปกติ และมักมีความเจ็บปวดตามจุดต่าง ๆ ของเท้าตามมา
- ภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่น
เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากลักษณะที่อุ้งเท้าเด็กมีเนื้อเยื่ออ่อนหรือไขมันสะสมมาก โดยลักษณะทางกระดูกและข้อภายในเท้าปกติ หรืออาจเกิดจากความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นที่มากเกินไปในเด็กที่มีกายวิภาคเสี่ยงต่อการเกิดเท้าแบน ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นสามารถหายได้เองในบางราย
2.) ภาวะเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง
ส่วนมากพบในผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าเสื่อม ภาวะข้อเสื่อม เส้นเอ็นเสื่อมที่เกิดจากภาวะโรคอักเสบข้อเรื้อรัง เช่น โรคทางรูมาติสซั่ม ข้ออุ้งเท้าเสื่อม รวมไปถึงความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อในเท้าและข้อเท้าที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จากเส้นประสาทกดทับจากหมอนรองกระดูก หรือจากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเท้าแบน แต่ภาวะนี้ในเด็กนั้น ต้องอธิบายก่อนว่า เด็กเกือบทุกคนจะเท้าแบน พอเริ่มโตขึ้นมาประมาณ 7-8 ปี จนถึง 12-13 ปี เท้าจะมีการฟอร์มอุ้งเท้าขึ้นมา ตรงส่วนที่ฟอร์มเราก็จะต้องดูไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่ในกลุ่มยืดหยุ่น กรณีเป็นน้อยๆ ก็อาจจะไม่ต้องทำอะไร แต่ในกรณีที่เป็นหนัก อาจต้องใส่แผ่นรองเท้าเสริม หรือรองเท้าเสริมเข้ามา เพื่อลดอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นในอนาคต
ส่วนภาวะเท้าแบนในกลุ่มผู้ใหญ่ จะน่าเป็นห่วงมากกว่ากลุ่มเด็กนิดนึง เพราะว่าถ้าเดินมากๆ เอ็นบริเวณข้อเท้าอาจจะเสื่อมหรือฉีกขาดได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษาด้วยวิธีข้างต้น อาจต้องใช้การผ่าตัดเข้ามาช่วย เพื่อจัดแนวกระดูกหรือเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้า ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดิน วิ่ง รวมถึงออกกำลังกายได้ตามปกติ
ในปัจจุบันนี้ ผู้คนบนท้องถนนประมาณ 10-20% ก็เป็นภาวะเท้าแบนแบบไม่แสดงอาการ แต่ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่ 90% มักจะเป็นโดยตามสรีระ จึงอยากฝากผู้ปกครองว่า เรื่องภาวะเท้าแบนในเด็กไม่ต้องกังวลมากไป เพราะมักจะดีขึ้นเองหรือหายได้เองในอนาคต และส่วนมากจากประสบการณ์ เด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มติดตามอาการ คือ ปีละครั้ง สองปีครั้ง หรือบางรายก็ไม่จำเป็นต้องมาเลย เพราะว่าเท้าหายเป็นปกติแล้ว
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลกรุงเทพ
นอนขี้เกียจวันหยุด! ช่วยให้อายุยืน ไม่แตกต่างจากนอนเต็มที่ทุกวัน