อหิวาต์แอฟริกา(ASF) โรคร้ายในสุกร-หากคนกินหมูปนเปื้อนอันตรายหรือไม่?
โรคอหิวาต์แอฟริกาหรือ ASF ถูกกลับมาให้ความสนใจอีกครั้งหลัง หน่วยงาน DLD-Quarantine and Inspection K9 unit ของกรมปศุสัตว์ได้ทำการตรวจยึดสินค้าไส้กรอกหมูลักลอบนำเข้าจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความ"เสี่ยง"ปนเปื้อนเชื้อโรคระบาดสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (ASF) ซึ่งยังไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองด้านสุขอนามัยสัตว์ จากกรมปศุสัตว์ และยังไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าประเทศไทย พีพีทีวี ออนไลน์จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลถึงโรคดังกล่าวที่แม้ไม่ระบาดสู่คนแต่ทำลายเศรษฐกิจ
โรคอหิวาต์แอฟริกา African Swine Fever หรือที่รู้จักกันสั้นๆว่า ASF เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Asfarviridae โดยเชื้อไวรัสกลุ่มนี้สามารถแพร่ระบาดได้จากการกินอาหารที่ปนเปื้อน การสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอด ติดเชื้อทางบาดแผล และถูกเห็บอ่อนสกุล Ornithodoros ที่เป็นพาหะกัดซึ่งมีหมูป่าเป็น แหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค
บีเกิลจับไส้กรอกเถื่อน กรมปศุสัตว์เตือนเสี่ยงแพร่โรค ASF
อย. เตือน"ไส้กรอกจีนเถื่อน"ลักลอบนำเข้า หลังกรมปศุสัตว์หวั่นโรคระบาด
แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่า เป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง
เนื่องจากหากมีการระบาด ของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค
ความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสนี้ทำให้โรคสามารถแพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกับหมูเลี้ยง ส่วนในหมูป่านั้นจะเป็นแหล่งรังโรค หรือแหล่งที่เชื้อก่อโรคอาศัยอยู่เพื่อเติบโตและเพิ่มจำนวนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หมูเกิดการเจ็บป่วย โดยอาการของโรคเมื่อหมูมีการติดเชื้อแล้วจะมีไข้สูง เกิดการอาเจียน ขับถ่ายเป็นเลือด และมีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู นอกจากนี้ยังแท้งลูกทุกช่วงของการตั้งครรภ์อีกด้วย หลังจากการติดเชื้อจะแสดงอาการภายใน 3-4 วัน เมื่อเกิดการติดเชื้อโอกาสรอดจะน้อยมากเพราะมีอัตราการตายสูงเกือบ 100% โดยหมูที่ตายจากโรคนี้ผู้เลี้ยงมักจะนำไปทำลายบางครั้งจะต้องมีการเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจทำให้อากาศและแหล่งน้ำในเส้นทางที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายมีการปนเปื้อนจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งในร่างกาย อาหาร หรืออุจจาระของหมู การเคลื่อนย้ายจึงนับว่าเป็นการเพิ่มระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคนี้
เจ้าของฟาร์มพบว่ามีหมูตายเฉียบพลันแสดงถึงมีการเกิดโรคจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- ต้องทำลายหมูและซากทั้งฟาร์ม
- แจ้งกรมปศุสัตว์ให้มีการสอบสวนโรค
- เก็บตัวอย่างส่งตรวจ
- จำกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์
- พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคที่ฟาร์ม
- กำจัดสัตว์พาหะ
- ระหว่างนั้นจะต้องมีการพักคอกอีกอย่างน้อย 12 สัปดาห์
ต้องมีการประกาศว่ามีโรคระบาดพร้อมสอบสวนความเชื่อมโยงในรัศมี 5 กิโลเมตรอีกด้วย เพราะถึงแม้ว่าโรคนี้จะยังไม่มีการระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ก็ตาม แต่ไวรัสกลุ่มนี้ถือว่าน่ากลัวเป็นอย่างมากเนื่องจากสามารถติดต่อได้หลายทาง และในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ อีกทั้งไวรัสยังมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์จากหมูได้นานสูงสุดถึง 18 เดือนจึงทำให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและยากที่จะควบคุม
เชื้อ ASF อยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานแค่ไหน?
- อยู่ในมูลสุกร และสิ่งแวดล้อม ได้ประมาณ 1 เดือน
- อยู่ในซากสัตว์ และในดินได้ถึง 3 เดือน
- อยู่ในเนื้อแปรรูป เนื้อแห้ง ได้ถึง 1 ปี
- อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้ถึง 3 ปี
จะฆ่าเชื้อโรค ASF ได้อย่างไร?
เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูงและสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไส้กรอก แฮม สามารถตายด้วยความร้อน 60°C ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และมีรายงานการทดสอบยาฆ่าเชื้อส่วนใหญ่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ ตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ หรือโดยทั่วไปจะใข้ 1:200 เช่น Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine เป็นต้น โดยมีระยะเวลาหลังฆ่าเชื้อประมาณ 5-30 นาที
วิธีการป้องกันและควบคุมโรค ASF ได้อย่างไร? สามารถทำได้ 3 ระดับดังนี้
- การป้องกันโรคระหว่างประเทศ (International biosecurity) การห้ามนำเข้าเนื้อและวัตถุดิบจากประเทศที่เกิดโรค การตรวจโรคจากผลิตภัณฑ์ที่สนามบิน ทางเรือโดยสาร ตามด่านทางการเข้า-ออกระหว่างชายแดน ไม่ให้นำเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศที่มีการระบาดเข้าประเทศไทย เป็นต้น
- การป้องกันโรคภายในประเทศหรือระหว่างฟาร์ม หรือจากหน่วยงานภายนอกฟาร์ม (External biosecurity) เช่น โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ บริษัทยาสัตว์ บริษัทอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- การป้องกันโรคระดับฟาร์ม (Farm biosecurity) ฟาร์มหมูที่มีระบบป้องกันโรคที่ดีต้องปฏิบัติตาม 10 ข้อห้าม (บทความ) และ 10 ข้อปฏิบัติ (บทความ) ในการป้องกันโรค ASF เช่น การไม่นำเศษอาหารเลี้ยงสุกร การอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์มของพนักงาน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่ง การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ เป็นต้น
ปศุสัตว์ ประกาศ "ไทยพบโรค ASF ในสุกร" จากโรงฆ่า จ.นครปฐม
กินหมูปนเปื้อนเชื้อ ASF อันตรายหรือไม่?
โรค ASF ไม่ติดต่อสู่คนและยังไม่พบรายงานการติดเชื้อจากหมู ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อหมูโดยตรงเท่านั้น เพราะเป็นโรคที่เกิดจากดีเอ็นเอไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่อย่าไงไรก็ตามการรับประทานเนื้อหมู ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และที่สำคัญขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนทุกครั้ง เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ เพราะผู้ที่รับประทานเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อก่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำชนิดต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้หูดับ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น และควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อน-หลังการเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย
ในส่วนของเกษตรกรเลี้ยงสุกร ขอให้ติดตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ในเรื่องของการเลี้ยงสุกรปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และหากเกษตรกรมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการโรคต่างๆ ในคน สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 ,ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาและกรมควบคุมโรค
กินสุกๆดิบๆ ระวังพยาธิใบไม้ตับ เสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี พบมากในภาคอีสาน
อาหารเสี่ยงปนเปื้อน “พยาธิ” เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ปลอดภัยกว่า