ข่าวดังข้ามปี 2566 : ย้อนรอยกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เสี่ยงมะเร็งหาย!
ข่าวสุดช็อกทั่วประเทศในปี2566 หลายคนอาจหลงลืมไปแล้วว่า มีเหตุการณ์ที่ให้ใจหายใจคว่ำจากการหายไปของแท่งวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137) สารพิษอันตรายเสี่ยงมะเร็ง เช็กไทม์ไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบร่วมถอดบทเรียนได้ที่นี้!
นับเป็นเหตุการณ์น่าอกสั่นขวัญผวาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยกับข่าวคราว การสูญหายไปของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137)จากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี ที่นี้หากถามว่าทำไมถึงช็อกทั้งประเทศ ? เพราะอย่างไรขึ้นชื่อว่าวัสดุกัมมันตรังสีย่อมมีความอันตรายหากฟุ้งกระจายไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมย่อมไม่เป็นผลดีต่อมนุษย์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะซีเซียม-137 ที่จากข้อมูลพบมีมีฤทธิ์ทำให้ผู้ที่สัมผัสโดนผิวไหม้พุพองสะสมนานก่อมะเร็งได้
ซีเซียม-137 สารกัมมันตรังสีอันตราย สัมผัสอาจผิวไหม้พุพอง สะสมนานก่อมะเร็งได้
ซีเซียม-137 ผลกระทบต่อสุขภาพ และแนวทางป้องกันอันตราย

ซึ่งนับเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่เราได้เห็นการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่ส่งพื้นที่เพื่อค้นหาและตรวจวัดปริมาณรังสี บทเรียนที่ชาวปราจีนบุรีจะจำไปตลอด!
ไทม์ไลน์ย้อนรอยตามหาซีเซียม
- 14 มีนาคม 2566
เรื่องแดงขึ้นเมื่อ ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี แถลงข่าวสุดช็อก! ถึงเหตุการณ์แท่งวัตถุบรรจุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายจากจุดติดตั้ง 1 ชิ้นจากทั้งหมด 14 ชิ้น ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี คาดว่าหายไปหายไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะที่บริษัทได้เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 หลังจากค้นหาทั้งจังหวัดยังไม่พบเบาะแส จึงขอความร่วมมือหากมีใครพบเห็นสามารถแจ้งมาที่บริษัท โดยจะมีรางวัลสำหรับคนชี้เบาะแสจนนำไปสู่การติดตามกลับคืนมาได้ สูงสุด 100,000 บาทเลยทีเดียว
- 20 มีนาคม 2566
หลังจากระดมกรมสรรพกําลังปูพรหมค้นหาต่อเนื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงข่าวพบ "แท่งซีเซียม-137" แล้วจากการตรวจสอบ ต้นทางที่หายไปเป็นฝีมือมนุษย์ โดยจากการตรวจสอบตรวจพบสารซีเซียม-137 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 โดยมีการปนเปื้อนในเขม่าหรือฝุ่นแดง ซึ่งบรรจุอยู่ในบิ๊กแบ็ก เตรียมจะขนส่งไปขายต่อ แต่ยังไม่ได้ขนส่งออกไปยืนยันว่ายังไม่กระทบต่อชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์แบบเชอร์โนบิล หรือฟุกุชิมะ เบื้องต้นตรวจทั้งรถบรรทุกที่ขนส่งของโรงงานไม่พบสารกัมมันตรังสี รวมถึงรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงานก็ยังไม่พบสารอันตรายเช่นกัน
พบ “ซีเซียม-137” ปนเปื้อนในเขม่าหลอมเหล็ก ยันถูกจำกัดพื้นที่-ปลอดภัย

- 21 มีนาคม 2566
จากการตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในเตาหลอมโลหะจำนวน 1 เตา จากทั้งหมด 3 เตา ซึ่งผลการตรวจวัดการปนเปื้อนรังสีอยู่ในระดับต่ำ (0.07-0.10ไมโครซีเวิร์ตต่อ 1 ชั่วโมง) และไม่พบการปนเปื้อนในชิ้นส่วนอุปกรณ์ถ่ายเทน้ำเหล็ก และยังพบการปนเปื้อนในระบบดูดฝุ่นและระบบกรองฝุ่น และมีฝุ่นจำนวนหนึ่งอยู่ในระบบกรองฝุ่นโลหะปนเปื้อนซีเซียม-137 จากการหลอมโลหะในวันที่ 18-19 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา นำไปเก็บในโรงเก็บฝุ่นแดงที่มีการปนเปื้อนก่อนหน้านี้ 24 ตัน
จากนั้นได้มีการตรวจวัดปริมาณการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน จ.ปราจีนบุรีเพื่อให้บริการประชาชนหากมีผลกระทบที่เกิดจากการสูดดม สัมผัสแต่ไม่พบการค่าที่เกินมาตราฐานจนเป็นอันตรายแก่มนุษย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมายืนยันผลตรวจของพนักงานถลุงเหล็กที่ทำงานใกล้ชิดเตาหลอมว่าปลอดภัยไม่พบสารซีเซียมในร่างกาย ท่ามกลางความกังวลและข่าวลือมากมายแต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยการยืนยันจากทางภาครัฐว่าทุกอย่างปลอดภัยสามารถเที่ยวและกินอาหารใช้ชีวิตในจังหวัดปราจีนและใกล้เคียงได้ตามปกติไม่พบการปนเปื้อนใด ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบประกาศเพิ่ม "โรคจากรังสีแตกตัว" เป็นชื่อหรืออาการสำคัญของโรค หลังเกิดสถานการณ์ "ซีเซียม-137" เพื่อทำให้มีแนวทางจัดการสารกัมมันตรังสีและการตอบโต้ได้ทันสถานการณ์ หากพบผู้ที่มีอาการเข้าได้กับนิยามอาการสำหรับการเฝ้าระวัง เช่น มีตุ่มน้ำ มีผื่น มีเรื่องของมะเร็งต่างๆ เป็นต้น จะได้เกิดการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ แต่ย้ำว่าไม่ใช่อาการสำหรับวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่าเป็นโรค
ทั้งนี้เหตุการณ์ซีเซียม-137นับเป็นบทเรียนในปี 2566 ที่ทำให้ทุกหน่วยงานทั้งด้านความมั่นคงและสาธารณสุขเตรียมความพร้อมด้านสารกัมมันตรังสีอันตรายอย่างรอบด้าน เช่นเดียวกับภาคเอกชนและประชาชนได้ถอดบทเรียนเพื่อนำมาระมัดระวังไม่แตะต้องหรือเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับสารกัมมันตรังสีต่างๆ ลดผลกระทบในวงกว้างเพราะอะไรที่เสียไปยากจะเอาคืน
พบซีเซียม-137 ปนเปื้อนเตาหลอม 1 ใน 3 เตา รังสีอยู่ในระดับต่ำ