องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน รวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชน เฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึง ปัจจุบัน โดยรวบรวมได้ทั้งหมด 61 คดี นักการเมือง 68 คน ไม่นับรวมคดีตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพราะละเมิดจริยธรรมร้ายแรงอีก 2 คดี
ส่องนโยบาย "ปราบโกง" พรรคการเมือง ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง
5 ปี แผนต้านโกงยังห่างไกลเป้าหมาย
คดีโกงเหล่านี้เป็นหลักฐานความเลวร้ายของนักการเมืองทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีคดีที่ตรวจพบมากเรียงตามลำดับ ดังนี้
1) โกงเลือกตั้ง 25 คดี
2) ยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ 9 คดี
3) โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 8 คดี
4) เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 8 คดี
5) ประพฤติมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3 คดี
6) แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2 คดี
7) ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี
8. บุกรุกที่ดินหลวง 2 คดี
9) เรียกรับสินบน 1 คดี
10) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 1 คดี
เฉพาะ 8 คดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล มีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว 5.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สุขอนามัยของเด็ก ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น
นอกจากนั้น ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ พบประเด็นน่าสนใจ เช่น
2 คดีที่ถูกระบุว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสุงสุดคือ คดีโครงการจำนำข้าว (มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) และคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท)
“ความผิด” มีโอกาสเกิดขึ้นในทุกกระทรวงและหน่วยงานรัฐพอๆ กัน โดยไม่จำกัดว่า “คนผิด” ต้องเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารเท่านั้น แต่ ส.ส. กรรมาธิการ และเครือข่าย ก็สามารถเชื่อมโยงกันทำร้ายบ้านเมืองได้
การตีมูลค่าความเสียหายจากคอร์รัปชันทำได้ยาก เพราะไม่สามารถคำนวนความเสียหายต่อเนื่องที่กระทบต่อหน่วยงานและประชาชน การที่รัฐซื้อของแพงได้ของไม่ดีหรือล่าช้า ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคหรือด้อยคุณภาพในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือความขัดแย้งในสังคมตามมา
พฤติกรรมประหลาดของนักการเมืองเมื่อเกิดคดีความหรือส่อว่าจะมีคดี เช่น จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรส, เปลี่ยนชื่อ – นามสกุล เป็นต้น
โดยทั่วไปคดีคอร์รัปชันขนาดใหญ่มักมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่กลับพบว่าคดีจำนวนมากที่เกิดในรอบสิบปีนี้มีแต่ข้าราชการที่โดนดำเนินคดี เช่น คดีถุงมือยาง (ความเสียหาย 2,000 ล้านบาท) คดีสร้างโรงพัก (มูลค่า 5,848 ล้านบาท) และแฟลตตำรวจทั่วประเทศ (มูลค่า 3,700 ล้านบาท) เว้นแต่คดีนั้นมีหลักฐานแน่นหนา เช่น คดีสนามฟุตซอล (มูลค่า 4,450 ล้านบาท) และคดีรุกป่า
ปี 2564 ไม่ปรากฏว่ามีคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมือง
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า
- มีการดำเนินคดีข้อหาร่ำรวยผิดปรกติน้อยมาก ทั้งที่พบว่า นักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ร่ำรวยมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปรกติจำนวนมาก
- นักการเมืองหลายคนที่มีคดีติดตัว ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ด้วย ทั้งที่รู้กันดีว่า ผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชัน จะหมดสิทธิ์การเป็น ส.ส. แล้วเลือกตั้งใหม่ทันที
- นักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็มีโอกาสคอร์รัปชันได้พอกัน
- คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แม้เสียชีวิตไปแล้ว ทายาทยังต้องชดค่าเสียหายให้แก่รัฐ
- คดีที่มีนักการเมืองเกี่ยวข้องมักเป็นคดีใหญ่สร้างความเสียหายมาก ทำกันเป็นเครือข่ายและมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย เว้นแต่คดีโกงเลือกตั้งหรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ
- ในแต่ละปีเกิดเรื่องอื้อฉาวและเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และยื่นฟ้องต่อศาลจำนวนมาก แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกชี้มูลและศาลตัดสินว่าผิดจริง
- คดีอื้อฉาวจำนวนมากใช้เวลาดำเนินคดีมากกว่า 10 ปี นานถึง 30 ปีก็มี บางคดีเอาผิดใครไม่ได้เพราะหมดอายุความ บางคดีผ่านไป 20 ปีเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหาก็มี
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนบ่อนทำลายบ้านเมืองของเราให้ตกต่ำ คงไม่ใช่ต่างชาติที่ไหน แต่เป็นนักการเมืองจำนวนมากที่ทรยศประชาชน จ้องจะคดโกงอยู่ร่ำไปการโกงซับโกงซ้อนโกงซ่อนเงื่อน การพลิกแพลงกฎหมายและใช้โวหารจอมปลอมทำให้ยากสำหรับประชาชนที่จะรู้เท่าทันไปทุกอย่างข้อมูลคดีโกงของนักการเมืองชุดนี้คือ “บทเรียนความเสียหายของแผ่นดินที่เกิดจากคอร์รัปชันโดยนักการเมือง” ที่เราคนไทยต้องเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคต
“คอร์รัปชัน” ในยูเครน พิษร้ายท่ามกลางเพลิงสงคราม
หมายเหตุ: คดีโกงของนักการเมืองในที่นี้ หมายถึง คดีของ ส.ส. ส.ว. สนช. รัฐมนตรี ในอดีตและปัจจุบัน ที่ปรากฏข่าวตั้งแต่ปี 2555 ถึง 8 เมษายน 2566