กกต.แจง ปมนำยอดชาวต่างชาติ คำนวณเขต ส.ส.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่ามีการนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้เกิดปัญหาอะไรหรือไม่

ล่าสุดวันนี้ 1 ก.พ. 2566 มีแถลงจาก คณกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าทุกอย่างทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นหลักการทำงานที่ทำมาโดยตลอด

นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าว ประเด็น "การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส." หลังมีการท้วงติง ปมแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2566 ว่า กกต.นำจำนวนคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มาคำนวณจำนวน ส.ส.ด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่

ราชกิจจา ประกาศแล้ว! กฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับ

รัฐบาลจ่อยุบสภา มอบหมายฝ่ายกฎหมายเตรียมพร้อม

นายปกรณ์ ชี้แจงว่า จำนวนราษฎรต้องรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย แต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ยืนยันว่าเป็นหลักการที่ทำมาตลอดทุกปี นับตั้งแต่ปี 2558 ก็เป็นแบบนี้ เลือกตั้งปี 2562 ก็ทำแบบนี้ สามารถขอหลักฐานจาก กกต.ได้

นายปกรณ์ อธิบายต่อว่า รัฐธรรมนูญไทยมาตรา 86 กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ที่ประกาศปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง มาคำนวณหาจำนวน ส.ส. และเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด

จำนวนราษฎรในที่นี้ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้ระบุไว้ว่าเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย แต่ให้นำมาจากหลักฐานการทะเบียนราษฎร

ดังนั้น คนไม่มีสัญชาติไทยตามประกาศจำนวนราษฎรจึงเป็นคนที่มีข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามกฎหมาย

สำหรับกรอบระยะเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 29 วัน มีไทม์ไลน์ของ กกต. ดังนี้

วันที่ 31 ม.ค. มีการประกาศ เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง  ส.ส. จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และเขตเลือกตั้ง

จากนั้นในวันที่ 1 - 3 ก.พ. ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด พิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง

วันที่ 4 - 13 ก.พ. ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน

วันที่ 14 -16 ก.พ. ผอ.การเลือกตั้งสรุปความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน และเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งพร้อมข้อเสนอให้กกต.

และวันที่ 20 - 28 ก.พ. กกต. พิจารณารรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่บางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งปี 2562 สกปรกบ้าง แบ่งเขตเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวบ้าง นายปกรณ์ ยืนยันว่าทุกอย่างทำโดยชอบด้วยกฎหมาย  และยืนยันอีกว่า พร้อมจัดการเลือกตั้ง ไม่กังวลหากยุบสภา เพราะจะมีเวลาถึง 60 วัน มากกว่าระยะเวลาครบกำหนดสภาถึง 15 วัน

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ