จากกรณี จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ออกมาแสดงความเห็นว่า มีแนวคิดอยากให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมองว่า สิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ตอนนี้คือรัฐบาลแห่งชาติ โดยแต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
โดย รัฐบาลแห่งชาติ หรือ national unity government มีความหมาย เป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกพรรค (หรือพรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรค) ในสภานิติบัญญัติ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งปกติรัฐบาลแห่งชาติ จะถูกตั้งในยามสงครามหรือภัยพิบัติของชาติ
ส่วน รัฐบาลแห่งชาติ ในความหมายของการเมืองไทย มักจะหมายถึงการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวหรือรัฐบาลเฉพาะกิจ ที่ไม่มีฝ่ายค้าน (ทุกพรรคการเมืองร่วมเป็นรัฐบาล) เพื่อความสงบของประเทศและยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น
โดยที่ผ่านมา รัฐบาลแห่งชาติ ถูกพูดถึงในหลายวาระและในเหตุการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มีการชูข้อเสนอให้ที "นายกฯ คนกลาง" พร้อมด้วย "รัฐบาลสมานฉันท์" เข้ามาบริหารประเทศในช่วงวิกฤต-ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังพรรคไทยรักไทยลงสนามเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว และมีการชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงปี 2549
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย(ในขณะนั้น) เรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง" ใช้เวลา 3 เดือนตกลงกรอบกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรม ก่อนยุบสภา หลังเกิดเหตุนองเลือดจากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช. บริเวณสี่แยกคอกวัว ในปี 2553
การเมืองเดือด! ส.ว.จเด็จ เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
เลือกตั้ง 2566 : ส.ว.เสียงแตก ข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ชี้เป็นไปได้ยาก
เลือกตั้ง 2566 : ตอกกลับ! รัฐบาลแห่งชาติ “ศิธา”ฟาดเดือด-โซเซียลแห่วิจารณ์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางจัดตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลางที่เกิดขึ้นบนความยอมรับของทุกฝ่าย" เพื่อบริหารการจัดทำข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ การปฏิรูป และการเลือกตั้ง หลังเกิดการชุมนุมของมวลชน กปปส. ในปี 2556-2557
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีการเสนอตั้งคำถามพ่วงในการทำประชามติ ในปี 2559 เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการตั้ง "รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป" แต่ข้อเสนอตกไปในชั้น สปช. เสียก่อน
ทั้งนี้คงจะต้องรอดูว่าข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาล ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้หรือไม่ หรือสุดท้ายจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและเงียบหายไปหลังกระแสสังคมไม่ให้การตอบรับเหมือนที่ผ่านๆ มา