รัฐสภานัดประชุมร่วมกัน ระหว่างวันที่ 12 – 13 กันยายน 2567 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในการแถลงนโยบายครั้งนี้ แบ่งเวลาออกเป็น 2 วันที่มีการจัดสรรเวลาในการอภิปราย แบ่งเป็น ประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง , นายกรัฐมนตรีและคณะ 6 ชั่วโมง , สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 4 ชั่วโมงครึ่ง , พรรคร่วมรัฐบาล 4 ชั่วโมงครึ่ง , พรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง
ผลสรุปการแถลงนโยบายวันแรกที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลาอภิปรายไปแล้ว 15 ชั่วโมง 23 นาที คงเหลือเวลาในการอภิปรายทั้งหมด ดังนี้ ประธานในที่ประชุม เหลือ 18 นาที , นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เหลือ 3 ชั่วโมง 10 นาที , สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เหลือ 2 ชั่วโมง 9 นาที , พรรคร่วมรัฐบาล เหลือ 1 ชั่วโมง 16 นาที , พรรคร่วมฝ่ายค้าน เหลือ 6 ชั่วโมง 40 นาที
“นายกฯอิ๊งค์” ถึงเชียงรายลุยน้ำท่วม ปลอบผู้ประสบภัย ยังเหลือชีวิตอยู่!
เทียบตัวท็อป 2 ค่ายดัง iPhone 16 Pro Max vs Samsung Galaxy S24 Ultra
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: “ทรัมป์” ไม่ดีเบต “แฮร์ริส” อีก ลั่นไม่จำเป็นต้องแก้มือ
รถไฟฟ้า 20 บาททุกสายภายใน ก.ย.68
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า นโยบายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลยืนยันทำแน่ และได้ทำแล้ว หลังจากรับตำแหน่งตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งดำเนินการไปแล้วในส่วนที่รัฐเดินรถเอง คือสายสีแดง และสายสีม่วง ส่วนสายที่ให้สัมปทานเอกชนในการเดินรถ ต้องใช้เวลา 2 ปี หรือภายในเดือนกันยายน 2568 จึงจะครอบคลุมทุกสายทุกสี
เรื่องการเดินหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลจะเดินหน้าแน่นอน ภายในเดือนกันยายน 2568 เป็นคนละส่วนกับนโยบายการซื้อคืนสัมปทานให้บริการเดินรถจากเอกชนผู้ประกอบการ เรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่จะมีการศึกษารายละเอียด ประเด็นนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนและร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับเงินที่จะนำมาอุดหนุนส่วนต่างของค่าโดยสารที่ลดลงจากที่ระบุไว้ในสัญญาเดิมของผู้ประกอบการ จะเป็นเงินกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เนื่องจากรถไฟฟ้าเป็นมาตรการลดการใช้พลังงานน้ำมัน เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่จะขอเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในแนวคิดที่จะดำเนินการต่อไป
ชงรัฐบาลปฏิรูปการศึกษา
นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ไม่มีเรื่องการศึกษา แต่ต้องขอชื่นชมถ้อยคำหรูหราที่ใส่ไว้ในนโยบาย ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เน้นทักษะใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งเสริมการปลดล็อคศักยภาพ เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ ถ้อยคำเหล่านี้จะมีความหมาย ถ้าท่านเข้าใจความสำคัญของการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
นาวสาวนันทนา ยังตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัทชั้นนำที่ผลิตสินค้าสำหรับโลกแห่งอนาคตต่างๆ จึงตัดสินใจลงทุนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แทนที่จะเป็นประเทศไทย โดยยกดัชนีวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ที่พบว่า จุดอ่อนสำคัญ คือเรื่องประสิทธิภาพของคนหรือแรงงาน ทั้งปกขาวและปกน้ำเงิน ซึ่งมาจากคุณภาพการศึกษา
ขณะนี้การศึกษาของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 54 จาก 67 ประเทศ จากที่ IMD สำรวจ และการสอบ PISA ในรอบ 10 ปี ก็มีผลต่ำลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน รวมถึงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้วยปัญหาดังกล่าวได้ยินกันมาทุกปี แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
นางสาวนันทนา มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ดังนี้ ประการที่หนึ่ง บูรณาการ วางทิศทางแก้กฎหมาย จัดระบบงบประมาณ บุคลากร และการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ
ประการที่สอง อยากให้นายกรัฐมนตรีผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการระดับสูง ว่า ด้วยการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วยตนเอง
“ชวน” พูดในฐานะร่วมรัฐบาลเพื่อไทย จี้เยียวยาไฟใต้
นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 เคยอภิปรายนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา พูดในฐานะฝ่ายค้าน ส่วนวันนี้พูดในฐานะรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะอยู่พรรคใดก็ตาม ความจริงก็คือความจริง ความจริงไม่อาจเปลี่ยนไปตามฐานะ ดังนั้นข้อมูลที่จะพูดถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอย้ำว่าตอนนั้นตนต้องการให้รัฐบาลบรรจุปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ติดขัดที่ขณะนั้นนโยบาย 14 หน้าของรัฐบาลไม่มีเรื่องนี้เลย แต่ขณะนี้รัฐบาลบรรจุไว้แล้ว แม้จะเป็น 1 บรรทัด แต่เท่ากับยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ครม.ได้ปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ นึกถึงประโยชน์ประเทศ และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เราต้องให้เกียรติข้าราชการ ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตในการแต่งตั้งต้องไม่เอาตำแหน่งมาเป็นราคา ดังนั้นนักการเมืองต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลให้โอกาสคนเหล่านั้นมาตามความสามารถ ไม่ใช่ด้วยราคา ส่วนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชน วันนี้เหมือนระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จึงอยากขอให้ ครม.แปลความข้อนี้ให้ชัดเจนว่า การบริหารประเทศไม่ใช่เพื่อประโยชน์พรรคการเมือง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชน
ปรับค่าแรง 400 บาท ได้กี่โมง ?
นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับแรงงาน ทั้งที่ตอนหาเสียงบอกว่า นโยบายแรงงานเป็นนโยบายเรือธง
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยเคยเสนอสโลแกน “รดน้ำที่ราก” เสนอค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท , เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท , ปลดล็อกศักยภาพคนไทย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ , สร้างงานใหม่ 20 ล้านตำแหน่ง , ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น นี่คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นสัญญากับประชาชน หรือเป็นเพียงเทคนิคนำมาหลอกให้ผู้ใช้แรงงานลงคะแนนให้เท่านั้น
นอกจากเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรตามสัญญาให้กับแรงงาน ไม่รู้ว่าท่านลืม แกล้งลืม หรือเกรงใจนายทุนขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่กันแน่ และสาเหตุที่ท่านไม่เลือกกระทรวงแรงงานในกำกับดูแล เพราะไม่สามารถทำตามนโยบายหาเสียงใช่หรือไม่
นายเซีย กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเจ็บปวดมากกว่านี้คือ เราได้ รมว.แรงงาน คนเดิม จากพรรคการเมืองเดิม ที่ไม่มีนโยบายด้านแรงงานแม้แต่ข้อเดียว 1 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับแรงงาน
ผมและพี่น้องแรงงานอยากทราบความชัดเจนที่เคยหาเสียงกับพี่น้องแรงงาน 600 บาทต่อวัน เพราะนอกจากไม่มีในคำแถลงนโยบาย ตอนรัฐบาลเศรษฐาก็เคยอภิปรายเรื่องนี้ และคุณเศรษฐาก็ชี้แจงว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทโดยเร็วที่สุด จากวันนั้นถึงวันนี้ สิ่งที่พูดไว้ ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่รู้โดยเร็วคือเมื่อไร ชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติไหน
นายเซีย กล่าวด้วยว่า เดือน ธ.ค.2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนนี้ นำเรื่องเข้า ครม. แต่นายกรัฐมนตรีทำท่าทีไม่พอใจ บอกว่าปรับแค่ 2 บาทซื้อไข่ก็ไม่ได้ ให้นำไปแก้ไข ทุกคนมีความหวังว่าจะได้ปรับค่าจ้าง 400 บาท แต่พอคณะกรรมการไตรภาคียืนยันปรับแค่ 2 – 16 บาท และนำกลับเข้า ครม. ท่าทางขึงขังก็หายไป
เดือน เม.ย. 2567 มีการปรับค่าจ้าง 400 บาท แต่ทำเฉพาะ 10 จังหวัด กิจการโรงแรม 4 ดาวที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป บางจังหวัดปรับหนึ่งตำบลเท่านั้น เดือน พ.ค.2567 บอกว่าเดือน ต.ค. 2567 จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แต่เมื่อ 4 ก.ย. 2567 เนื้อหาเปลี่ยนไป คำว่าทั่วประเทศหายไป แต่มีเนื้อหาว่า จะปรับเฉพาะกลุ่มอาชีพ บางไซส์ของสถานประกอบการ บริหารแบบนี้ 3 ปีบอกได้เลย ไม่มีเจ๊า มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ขอให้นายกรัฐมนตรีตอบชัดๆ ได้หรือไม่ว่า ค่าจ้าง 400 บาทจะขึ้นได้ไหม ขึ้นกี่โมง เพราะค่าครองชีพขึ้นไปไกลแล้ว