9 ต.ค. 67 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ย้ำการส่งเสริมความเป็นแกนกลางและหนึ่งเดียวกันของอาเซียน โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลด้านความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียนจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั่วโลกในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ความขัดแย้งแถบตะวันออกกลาง และสงครามในประเทศเมียนมา
เริ่มจากกรณีพิพาททะเลจีนใต้ นายกฯ กล่าวว่า ไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยอาเซียนต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการ แต่ไม่เลือกข้างในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ
ประเทศไทยมุ่งมั่นเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้โดยเร็วที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องรับรองเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เพจดังแห่แฉ! บริษัทธุรกิจเครือข่ายขายตรง มีผู้เสียหายอื้อ
ประวัติ "บอสพอล" วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของธุรกิจ "The iCON GROUP"
ฮิซบอลเลาะห์ ยิงจรวดกว่า 100 ลูกถล่มทางตอนเหนืออิสราเอล
ด้านสถานการณ์ในตะวันออกกลาง นายกฯ กล่าวว่า ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงพลเมืองอาเซียน ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด พร้อมสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ
ส่วนประเด็นสงครามเมียนมา นายกฯ กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์
โดยนายกรัฐมนตรีได้หยิบยก 4 ประเด็นสำคัญต่อเรื่องนี้ ได้แก่
1. ไทยจะทำงานร่วมกับชาติอื่นในอาเซียน และภายนอก เพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาค
2. ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการคืนสันติภาพให้เมียนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคี และสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป
3. อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก ต้องเริ่มพูดคุยกัน ไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง
4. อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้น และเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 9.7 ล้านบาท ให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และพร้อมช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น