เมื่อประมวลสถานการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นหรือไม่ หลังเกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐที่ออกมาระบุว่าจะมีปฏิบัติการสำคัญถึงขั้นนำไปสู่การล่มสลายของพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงการคว้าตัวนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และความเคลื่อนไหวที่เรียกได้ว่าเป็นที่จับตามากที่สุดคือ การพบปะกันระหว่าง “นายเนวิน ชิดชอบ” อดีตนักการเมือง และ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี
รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมพูดคุยกับ PPTV ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันขณะ และโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์อื่น ๆ ในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ
เพจดังแห่แฉ! บริษัทธุรกิจเครือข่ายขายตรง มีผู้เสียหายอื้อ
ประวัติ "บอสพอล" วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของธุรกิจ "The iCON GROUP"
ฮิซบอลเลาะห์ ยิงจรวดกว่า 100 ลูกถล่มทางตอนเหนืออิสราเอล
เชื่อ พรรคเพื่อไทย เตรียมโดนเล่นงานกรณี "ครอบงำพรรค"
นายศักดา กล่าวว่า ความแปลกเริ่มมาตั้งแต่ช่วงอดีตนายกเศรษฐา ทวีสินแล้ว เราไม่ค่อยได้เห็นว่านายเศรษฐาทำงานได้เป็นชิ้นเป็นอัน เดินสายต่างประเทศมาโดยตลอด ตนจึงมองว่านั่นเป็นสัญญาณแรกที่ไม่จำเป็นต้องจับงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเดี๋ยวจะมีคนมาแทน จนกระทั่งที่สุดมีคนเข้ามาแทนจริง ๆ
เมื่อมาวันนี้ นางสาวแพทองธารเข้ามารับตำแหน่ง ก็เกิดปัญหาถาโถมเข้ามาเรื่อย ๆ เช่นกรณีที่พรรคพลังประชารัฐออกมาประกาศว่าจะมีสถานการณ์ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ไม่ได้ ซึ่งหนีไม่พ้นคำร้อง โดยคำร้องเหล่านี้จะมีองค์กรอิสระนำเรื่องเข้าไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขามีวัตถุประสงค์ที่จะนำเรื่องเข้าศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน
นายศักดา เชื่อว่า เรื่องที่จะโดนร้องนั้นคือเรื่อง “ครอบงำ” หมายถึงว่าจะต้องมีคนที่ถูกตัดสิทธิ์ห้ามทางการเมืองแล้วเข้ามายุ่งเกี่ยวมาก โดยเฉพาะนายทักษิณ ซึ่งก่อนหน้านี้ออกมาเดินแรง เนื่องจากเป็นบุคลิกส่วนตัว พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของนายทักษิณ และลูกสาวก็ถือเป็นของนายทักษิณ เพราะฉะนั้นนายทักษิณต้องปกป้อง นี่เป็นเรื่องปกติ
แต่เนื่องจากมีข้อจำกัด ก็เปิดช่องให้ฝ่ายที่อยากร้อง อยากล้ม อยากเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งทำได้สำเร็จแล้วในสมัยนายกเศรษฐา นายกสมัคร และนายกสมชายมาแล้ว และเชื่อว่าจะไม่มีการปฏิวัติแบบสมัยก่อน เปลี่ยนมาใช้กฎหมายจัดการ
อีกทั้งกลุ่มองค์กรอิสระก็จัดตั้งโดยกลุ่มอำนาจเดิม ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยตนตั้งข้อสังเกตว่า หากพรุ่งนี้ เวลา 07.00 น. มีสถานการณ์ที่อ่อนไหวขนาดสั่นสะเทือนพรรคเพื่อไทยได้ เวลานี้สำนวนต้องเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่า คนที่ออกมาพูดรู้ได้อย่างไรว่าสำนวนจะเสร็จเวลานี้ ซึ่งคนที่ออกมาพูดก็เป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ
ด้าน รศ.ยุทธพร กล่าวว่า จุดนี้สะท้อนให้เห็นกระบวนการการตรวจสอบต่าง ๆ ที่ถูกใช้เป็นเกมการเมือง ตั้งแต่เรื่องจริยธรรม มาจนถึงเรื่องที่มีการร้องเรียนเรื่องอื่น ๆ ตามมา ในทำนองที่ว่าใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับฝ่ายใด และยังส่งผลให้เป็นปมหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ต่อมาผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะตกสู่พี่น้องประชาชน เนื่องจากเมื่อการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะไม่มี ซึ่งนั่นคือปากท้องของพี่น้องประชาชน สิ่งนี้สำคัญ
ส่วนกรณีการร้องเรียนอื่น ๆ เช่น เรื่องทำท่ามินิฮาร์ต ตนมองว่าเป็นเรื่องไร่สาระ เป็นสีสัน ขณะที่เรื่องการครอบงำนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งหากมีคนไปร้องเรื่องนี้จริง นายทักษิณก็จะถูกดึงกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง
เรียกเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ความผิด "ครอบงำพรรค" สำเร็จ
นายศักดา กล่าวว่า นายทักษิณจำเป็นต้องออกมาแสดงตัวแบบโลว์โปรไฟล์ เนื่องจากมีโอกาสถูกร้องเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีข้อจำกัดทางการเมือง และจะโดนเรื่องการครอบงำพรรคอีก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในคืนที่เรียกประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้า
โดยเหตุการณ์ในคืนนั้นถือได้ว่าความผิดสำเร็จแล้วจากความพยายามในการกระทำความผิด พยายามจะครอบงำ ซึ่งในทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดบรรลุถึงบั้นปลายหรือขั้นสุดท้าย ถ้าหากประเด็นนี้เกิดขึ้นขณะที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไม่อยู่ด้วย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ด้วย แสดงว่าเป็นการชี้นำพรรคการเมืองแล้ว มีการกระทำแล้ว และทางพรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสโดนในเรื่องของยอมให้พรรคถูกครอบงำ
นายศักดา อธิบายว่า การร้องเรียนในกรณีนี้ จะร้องไปที่ตัวนายกรัฐมนตรี ร้องไปที่คนที่นายกฯ แต่งตั้งแล้วไม่สมบูรณ์แบบ มีตำหนิติติง และร้องเรียนคนนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี สามารถเขียนร้องเรียนได้หมด
"ทักษิณ" คุย "เนวิน" - ตั้ง "ณัฐวุฒิ" นั่งที่ปรึกษานายกฯ ปฏิบัติการเพื่อความอยู่รอดของพรรคเพื่อไทย
นายศักดา กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วงนี้ เป็นสถานการณ์ที่บอบช้ำมากที่สุดสำหรับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร บอบช้ำมากที่สุดในความอ่อนแอของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ จึงต้องนำคนที่อยู่นอกวงจรเข้ามามีส่วนร่วม คือ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งแม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นคนที่มีบทบาทมากในนามพรรคภูมิใจไทย
เพราะฉะนั้นหากพรรคภูมิใจไทยไม่สนับสนุนให้รัฐบาลทำนโยบายต่าง ๆ ที่จะเป็นเรือธงของรัฐบาล พรรคเพื่อไทยอาจจะหนักกว่านี้
ส่วนการตั้งนายณัฐวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายศักดา มองว่า คนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาต้องเอาคนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีวัยวุฒิที่พอสมควร ไม่ใช่ตั้งใครก็ได้เป็นที่ปรึกษา ซึ่งในความรู้สึกของประชาชนคือ หากนายกฯ แต่งตั้งใครเป็นที่ปรึกษา คนนั้นต้องเชี่ยวชาญชำนาญยุทธ ต้องมีประสบการณ์ให้คำปรึกษาได้
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า การแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ เป็นการแต่งตั้งมาเพื่อปฏิบัติการ ไม่ใช่มาปรึกษา
นายศักดา มองว่า หลังจากผ่านเช้าวันที่ 10 ตุลาคมเป็นต้นไป นายกแพทองธารอาจต้องเผชิญกับคำร้องอีกมากมาย ซึ่งขณะนี้มีคาอยู่ 13 คำร้อง และเชื่อว่าจะมีอยู่อีกแน่นอน ซึ่งการที่จะเขียนคำร้องได้นั้นก็ต้องมาจากพฤติกรรมของภาคการเมือง
นายศักดา กล่าวว่า การเมืองเป็นการชิงเข้าสู่อำนาจ โดยลืมนึกไปว่าพี่น้องประชาชนลำบาก เศรษฐกิจก็แย่ เพราะต่างชาติไม่มาลงทุน ประเทศไทยไม่มั่นคงเพราะรัฐบาลไม่มั่นคง รัฐบาลไม่มั่นคงเพราะคนเล่นการเมืองด้วยกันพยายามที่จะล้มรัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งที่มีกรอบระยะเวลา แพ้ก็แพ้ไป อย่าไปหาเหตุให้ต้องล้ม
ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลยังคงเดินต่อไป ส่วนจะถูกใจพี่น้องประชาชนไหม เสียหายไหม ทุจริตไหม สร้างความชื่นชมชื่นชอบไหม เราก็ต้องไปดูในระยะเวลานั้น
รัฐบาลเปลี่ยนมือหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ "เศรษฐกิจ"
รศ.ยุทธพร กล่าวว่าเชื่อว่าต่อจากนี้จะมีความอ่อนไหวอยู่ตลอด และเชื่อว่าจะไม่จบอยู่ที่แค่ 10 กว่าคำร้อง ดีไม่ดีอาจไปถึง 40 - 50 คำร้องได้เลย ส่วนจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ อีกในช่วงวาระนี้หรือไม่นั้น ต้องดูเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปากท้องของพี่น้องประชาชน
หากหลังจากนี้สัก 1 ปี เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ก็น่ากังวล เพราะสุดท้ายรัฐบาลอาจไม่ต้องเปลี่ยนจากคำร้องเหล่านี้เลยก็ได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น โอกาสที่รัฐบาลชึดนี้จะอยู่ครบวาระก็เป็นไปได้
ส่วนบรรดาคำร้องอาจมีแค่บางส่วนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การถือครองหุ้น การครอบงำพรรค ส่วนเรื่องคำร้องเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้จะดูเป็นเรื่องไม่เป็นสาระ แต่การเมืองไทยไม่สามารถประมาทได้ เพราะมีหลายคนที่เรื่องไม่เป็นสาระส่งผลกระทบหนักมาแล้ว บางคดีที่พบเอามาจากข่าวบนอินเทอร์เน็ตสามารถมาล้มนายกได้
รศ.ยุทธพร กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงทางอำนาจ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ คิดถึงพี่น้องประชาชนด้วย และที่สำคัญคือ ต้องให้ประชาชนตัดสิน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาตัดสินว่านายกคนนี้ควรออกหรือไม่ออก
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเมืองแบบคัดออกถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้ลักษณะพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมแบบเอเชียทำงานมากขึ้น หากย้อนไปดูประเทศอื่นก็มีการเมืองในลักษณะตัวแทนแบบนี้เช่นเดียวกัน เช่น เมียนมา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงอินเดีย เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้เป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยานี้ให้ขับเคลื่อนเร็วขึ้น
ซึ่งหากตัวเร่งปฏิกิริยานี้ไม่เกิดขึ้น พัฒนาการทางการเมืองไทยอาจไปถึงวันหนึ่งซึ่งคนไม่ต้องการการเมืองแบบนี้ ไปเลือกตั้งตามกระบวนการ ตามที่ต้องการ แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะในระยะ 20 ปี มีตัวแปรแทรกซ้อนซึ่งคนไม่เห็นแต่คุมทั้งหมดอยู่