เลือกตั้ง อบจ. 2568 "เทพไท" มองอีสานเดือดสุด ฟาดพรรคประชาชนตีโจทย์ผิด!

โดย PPTV Online

เผยแพร่

วิเคราะห์เลือกตั้ง อบจ. 2568 "เทพไท" มอง "ภาคอีสาน" เดือดสุด ฟาดพรรคประชาชนตีโจทย์ผิด "ศักดา" ชี้ "ภาคตะวันออก" ฐานที่มั่น พรรคประชาชนต้องรักษา

สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งนายก อบจ. 2568 ทั้งหมด 47 จังหวัด หลายคนประเมินว่าจะเป็นสนามการเมืองที่ดุเดือด และอาจส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่ รวมถึงมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นของพรรคเพื่อไทย ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ไปจนถึงพรรคประชาชนที่ต้องพิสูจน์ว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้จะมีที่นั่งในจังหวัดไหนบ้างหรือไม่ หรือจะสามารถบอกอะไรในทิศทางการเมืองระดับชาติได้บ้าง?

คอนเทนต์แนะนำ
เลือกตั้ง อบจ. 2568 เปิดขั้นตอนตรวจสอบรายชื่อ - ไม่ไปใช้สิทธิได้ไหม?
เช็กคิว! "ทักษิณ" หาเสียงอบจ. โค้งสุดท้าย 3 จังหวัดภาคเหนือ
ศึกอบจ.ภาคตะวันออกเดือด! ปชน.ปะทะบ้านใหญ่ตระกูลการเมือง

เลือกตั้ง อบจ. 2568 "เทพไท" มองอีสานเดือดสุด ฟาดพรรคประชาชนตีโจทย์ผิด รายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk
เลือกตั้ง อบจ. 2568 "เทพไท" มองอีสานเดือดสุด ฟาดพรรคประชาชนตีโจทย์ผิด

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช และ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และนักวิเคราะห์การเมือง ร่วมวิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าวกับ PPTV ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk ไว้อย่างน่าสนใจ

เลือกตั้ง อบจ. 2568 เทพไทมอง "ภาคอีสาน" เดือดสุด ศักดาชี้ "ภาคตะวันออก" ฐานที่มั่นพรรคประชาชนต้องรักษา

นายเทพไท มองว่า พื้นที่การแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดคือ ภาคอีสาน เป็นการสู้กันระหว่าง “แดง” กับ “น้ำเงิน” เป็นหลัก “ส้ม” แทรกยาก ส่วนภาคใต้เป็นกลุ่มบ้านใหญ่กับไม่เอาบ้านใหญ่ถล่มกัน ไม่มีพรรคไหนส่งในนามพรรค มีแค่พรรคประชาชนส่งพรรคเดียว เนื่องจากในการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 ซื้อเสียงกันมาก พอเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนก็จะถามหา แต่ละพรรคเลยไม่ส่ง ยกเว้นพรรคประชาชนเพราะไม่จ่ายอยู่แล้ว

ภาคใต้ “สีน้ำเงิน” จะเป็นแกนในการสามัคคีบ้านเล็กเพื่อถล่มบ้านใหญ่ “สีฟ้า” โดยใช้ “นครโมเดล” มาสู้กัน วัฒนธรรมการเมืองภาคใต้เป็นเช่นนี้ และยังมองว่าภาคใต้มีสิทธิเปลี่ยนขั้วมาก

ด้าน นายศักดา มองว่า ขณะที่ภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ของคนวัยทำงาน จากสถิติการเลือกตั้งปี 2566 เป็นฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์คะแนนที่จะได้ อบจ. ภาคตะวันออกทั้งหมด 8 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว มี สส. อบจ. ทั้งหมด 28 คน มี สส. ของพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนขณะนี้ 17 คนเข้าไปแล้ว

นายศักดา เชื่อว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เป้าหมาย เป็นฐานที่มั่นที่ต้องรักษาจากปี 2566 หรือปี 2570 ให้ได้ ต้องทำคะแนนให้ได้ ทว่ามีสิ่งที่ต้องคำนึงคือ 1) เหตุปัจจัยในการเชื้อเชิญให้ไปเลือกตั้ง เพราะไม่ตรงกับวันอาทิตย์ ตรงกับวันเสาร์ 2) กฎหมายการเลือกตั้งไม่ได้บังคับ ไม่ได้จูงใจให้ทุกคนไปเลือกตั้ง เว้นแต่คนที่ทำงานการเมืองที่จะต้องไปรักษาสิทธิ์ตนเองไว้ คนจึงเพิกเฉย 3) ไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า หรือลงคะแนนข้ามเขต นอกพื้นที่

คนที่มาลงคะแนนให้ สส. ภาคตะวันออกเมื่อปี 2566 พบว่ามีเฉลี่ย 73% แต่การเลือกตั้งนายก อบจ. 2568 นี้ จะมีคนมาไม่เกิน 55% หายไปเกือบ 20% หายไปจากคนที่เป็น Voter หรือคนที่โหวตให้พรรคประชาชน ทำให้เราคาดหวังไม่ได้เต็มร้อย

และในวันศุกร์นี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จะไปที่ชลบุรี คำถามคือเหตุใดนายธนาธรไม่อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ที่มี สส. ถึง 10 คน เหตุผลคือ ต้องไปทำภารกิจยุทธศาสตร์รักษาฐานที่มั่น และพยายามช่วงชิง อบจ. ที่เป็นบ้านใหญ่มาให้ได้

วิเคราะห์ "พรรคประชาชน" เลือกตั้ง อบจ. 2568 เทพไทมองตีโจทย์ผิด ไม่ใกล้ชิดประชาชน ศักดาชี้ เป้าหมายหลักพรรคนี้คือ "สแกนพื้นที่"

นายเทพไท มองว่า พรรคประชาชนตีโจทย์ผิด ไม่เข้าใจระดับการเมืองท้องถิ่น ถ้าพูดทางการเมืองคือ การเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาตินั้นคนละบริบท การที่พรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิมมีปาร์ตี้ลิสต์สูงในการเมืองระดับชาติ เนื่องจากว่ามีตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็นเดิมพัน สามารถสร้างกระแสทั้งประเทศได้ว่าเลือกก้าวไกลพิธาเป็นนายกฯ

ส่วนนายกฯ ท้องถิ่นนั้นไม่มีอะไรเป็นเดิมพัน พอมาถึง นายก อบจ. เป็นระดับท้องถิ่น บริบทคือต้องสัมผัสกับคนท้องถิ่น เขาเลือกคนที่ไปงานศพบ้านเราไหม ให้วัว ให้ข้าวสารไหม ถ้าไปอยู่ในครัวกอดแม่ครัวไหม ถ้าไปวงไฮโลแทงไฮโลไหม กินเหล้าขาวได้ไหม ลูกถูกจับไปประกันตัวได้หรือเปล่า บริบทคนละเรื่องกัน

ส่วนนายก อบจ. พรรคประชาชนคัดมาตรฐานเดียวกับ สส. คือ เป็นนักวิชาการ ภาพพจน์ดี ขาวสะอาด ไม่รู้จักใครไม่เป็นไร ไม่มีเครือข่ายไม่เป็นไร มาจากบ้านใหญ่ มาจากพรรคการเมืองอื่นไม่เอา ต้องเลือกเนื้อแท้ ทำให้มองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นพรรคประชาชน “โบ๋” พรรคประชาชนมองว่าขอแค่ชนะเพียง 1 จังหวัดก็จะทำให้ดู

นายเทพไท มองว่า เครือข่ายพรรคก้าวไกลไม่ใช้การเมืองท้องถิ่นสร้างคะแนน แต่สร้างด้วยกระแส ตั้งเป้า มีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่เหมาะกับ อบจ. เหมาะกับการเมืองระดับชาติ และตนเป็นห่วงเพราะพอเขาทำการเมืองใหม่ ได้คะแนนเยอะ ได้ที่หนึ่ง แต่ไม่ได้เข้าสู่อำนาจรัฐ กองเชียร์เขาจะรู้สึกผิดหวังท้อแท้ และสนาม อบจ. จะเหนื่อย

นายเทพไท มองว่า พรรคประชาชนควรลดระดับลงมาหน่อยให้เข้าใจว่าท้องถิ่นคืออะไร พื้นฐานของสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องเห็นหน้ากันมีสัมพันธ์กัน แต่การเลือกระดับชาตินั้นคนละเรื่องกัน

ด้าน นายศักดา มองว่า การตั้งเป้าหมายทางการเมืองของพรรคประชาชน ในครั้งนี้พรรคการเมืองไม่มีใครปฏิเสธสนามใหญ่ แต่เมื่อมีโอกาสสนามเล็ก จะต้องใช้โอกาสนี้เป็นสนามฝึกปรือซ้อมรบหรือทำข้อมูลไว้ ตนเชื่อว่าพรรคประชาชนมีเป้าหมายแท้จริง คือ การสแกนพื้นที่สำหรับการรองรับการเลือกตั้งในอนาคต เพราะต้องการทำการเมืองรูปแบบใหม่ ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคประชาชน และต้องการทำการเมืองที่ไม่ต้องการพึ่งบ้านใหญ่ คำว่าบ้านใหญ่ไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดี แต่หมายถึงมีทุน มีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ