ยังคงเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง กรณีที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก หรือ “ไอซ์ รักชนก” สส.กทม. พรรคประชาชน ออกมาชำแหละการใช้งบประกันสังคมในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่งบดูงานต่างประเทศของบอร์ดแพทย์ งบคอลเซ็นเตอร์ร้อยล้าน ไปจนถึงงบพัฒนา Web App กว่า 850 ล้าน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือนำส่วนไหนจากการดูงานมาพัฒนาบ้าง
ล่าสุด น.ส.รักชนก และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้นสังกัดของสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวในรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ
ตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่ ยืนยันไม่กีดกันสัดส่วนผู้ประกันตน
น.ส.รักชนก ตั้งคำถามเรื่องสัดส่วนของบอร์ดแพทย์ว่า ช่วงสิ้นเดือน ก.พ. บอร์ดแพทย์ชุดเดิมจะหมดอายุและจะต้องแต่งตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่ ในเมื่อสำนักงานประกันสังคมเกิดคำถามในสังคม จะไม่มีการกีดกันสัดส่วนจากผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกตั้งที่เสนอไปใช่หรือไม่
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แต่งตั้ง การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ภายในโครงสร้างมีลูกจ้าง 7 คน นายจ้าง 7 คน รัฐบาล 7 คน รวมกันเป็น 21 คน โดยมีตัวแทนจากฝ่ายประกันสังคมก้าวหน้า 8 คนฝ่ายรัฐบาล 7 คน ซึ่งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 จะหมดอายุ ทั้งยังกล่าวเพิ่มว่า กระทรวงมีการหารือกัน ให้สิทธิฝ่ายลูกจ้างของประกันสังคมก้าวหน้าอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีคนส่งตัวแทนมาแล้ว 2 - 3 คน แต่ขอให้เป็นแพทย์ จะได้ปรึกษาหารือกัน
"ตนเปิดกว้างเสมอ เข้ามาช่วยทำงาน ช่วยตรวจสอบ ในฐานะเจ้ากระทรวงตนต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน และจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในกระทรวง พร้อมรับฟังและจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหากมีอะไรไม่ถูกต้อง ฝ่ายประกันสังคมก้าวหน้าอาจไม่ใช่ทั้ง 8 คน แต่เป็นตัวแทนแค่บางคน ซึ่งได้รับรายชื่อมาแล้ว มีทั้งคนที่เป็นแพทย์และคนที่ไม่ใช่แพทย์ ซึ่งรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รับปาก 100% ให้แน่ๆ “ ทั้งยังกล่าวเพิ่มว่า การเป็นรัฐมนตรีไม่ได้โชคดี แต่เป็นการนำตัวเองมาให้คนอื่นโจมตี" นายพิพัฒน์ กล่าว
น.ส.รักชนก กล่าวว่า แน่นอนว่าต้องมีการคุยเรื่องสัดส่วนกัน แต่ยุคก่อนหน้านี้ไม่มี เป็นยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีอีกท่านที่แต่งตั้งมา ถ้าจะด่าให้ด่ารัฐบาลที่แล้ว อย่าด่านายพิพัฒน์ ส่วนความคิดของรัฐมนตรีอาจไม่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นแรงงานทั่วประเทศคงกังวล เนื่องจากรัฐมนตรีไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปัญหา คือ ทำไมนายกรัฐมนตรีในประเทศนี้ ถึงไม่ใช้ระบบความรู้ความสามารถ นำคนที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ มาเป็นรัฐมนตรี
บอร์ดแพทย์เป็นเพียงบอร์ดเล็กเท่านั้น ยังมีบอร์ดใหญ่อีกทีโดยเป็นบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง 2 ฝ่ายและส่วนราชการ น.ส.รักชกนก กล่าวว่า บอร์ดแพทย์นั้นเป็นผู้ที่รับหน้าที่ตัดสินใจเงิน 7 หมื่นล้าน และดูแลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล จึงควรตั้งคำถามกับบอร์ดแพทย์ สิทธิประกันสังคมที่จ่าย 5% ของเงินเดือน คิดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจากความรู้สึกของตนนั้น สิทธิประกันสังคมแย่กว่าสิทธิบัตรทอง
พัฒนาตลอดเวลาหลังดูงานต่างประเทศ ห้ามพูดห่วยเหมือนเดิม
น.ส.รักชนก ตั้งคำถามประเด็นการศึกษาดูงานต่างประเทศ ว่าไปดูมาแล้วกี่ครั้ง ได้อะไรมาปรับใช้กับกองทุนบ้าง ที่กล่าวว่ามีทั้งหมด 5 เรื่องนั้น แต่ละเรื่องคืออะไร และเมื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมแล้วการผลักดันจะเกิดขึ้นในกี่เดือนก็ว่าไป ไม่ใช่ดูเสร็จแล้วกลับมาก็ห่วยเหมือนเดิม ก็ไม่รู้ว่าจะไปดูทำไม
นายพิพัฒน์ ตอบว่า คำว่าห่วยเหมือนเดิมนี่ห้ามพูด เพราะมีการพัฒนาตลอดเวลา คณะกรรมการทางการแพทย์มีการพัฒนามาเป็นช่วง ๆ ยืนยันว่ามีการพัฒนาปรับปรุงตลอดเวลา ตนไม่อยากนำการรักษาพยาบาลของประกันสังคมไปเปรียบเทียบกับ สปสช. เพราะกลายเป็นว่าเราไปบลัฟเขาในส่วนที่เราดีกว่า เช่น สิทธิ์การทำฟัน มีโมบายเข้าไปตามชุมชน ขณะนี้เราดูแลปีละ 900 บาท และกำลังพัฒนาเป็น 1,200 บาท สิ่งที่ยังไม่ประกาศตนก็ไม่สามารถพูดได้
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ดีเขาไปดูงานมาก็พัฒนาและกำลังรอการประการ แต่อะไรที่ยังไม่ประกาศก็ต้องรอสักนิดหนึ่ง ส่วนที่ดีเราก็มี ส่วนที่เราสู้ไม่ได้ก็ยอมรับ ในส่วนของประกันสังคมอ่อนเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นต้องประชาสัมพันธ์ให้ได้มากกว่านี้ จะไม่เสียดายเงินถ้าผู้ประกันตนเข้าถึงและรู้รายละเอียดกว่าเขามีสิทธิ์อะไรบ้าง ยุคผมงบประชาสัมพันธ์อาจต้องขอเพิ่ม
การทำงานของกองทุนประกันสังคม
วันที่ 31 พ.ค. นายพิพัฒน์ ยืนยัน ตนเป็นคนแรกที่เชิญทุกพรรคการเมืองมาช่วยกันคิด เสนอไอเดีย เรื่องกองทุนจะยั่งยืนต่อไปในอีก 30 ข้างหน้าอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญที่สุดเนื่องจากกองทุนกระกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
น.ส.รักชนก ศรีนอก กล่าวว่า เรื่องกองทุนยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ ซึ่งจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอีก 25 กิจการนี้เจ๊งแน่นอน หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเงิน เพราะเงินจะเข้าน้อยลง ออกมากขึ้น ซึ่งหากจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แค่จัดประชุมคงไม่เพียงพอ ต้องมีการคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างของประกันสังคม
สิทธิประกันสังคม แย่กว่า สิทธิบัตรทอง ?
น.ส.รักชนก กล่าวว่า สิทธิประกันสังคมนั้น ถือว่าเป็นประกันที่ได้เยอะเพราะได้ทั้งสิทธิการรักษา สิทธิชราภาพที่ได้บำเหน็จ สิทธิคนว่างงาน สิทธิสงเคราะห์บุตร แต่เรื่องที่เป็นปัญหาตอนนี้ คือ สิทธิการรักษา ท่านรัฐมนตรีสามารถออกนโยบายได้ เนื่องด้วยเป็นนโยบายของเจ้ากระทรวง เพื่อพัฒนาสิทธิประกันสังคมให้ดีขึ้น หากคนที่แต่งตั้งมานั้นไม่ทำตามนโยบาย ควรปลดคนเหล่านั้นออก ซึ่งสามารถถอดบอร์ดแพทย์ออกได้เพราะเป็นอำนาจเต็มของรัฐมนตรี
น.ส.รักชนก อธิบายว่า บอร์ดแพทย์ คือผู้ที่คอยตัดสินสิทธิการรักษาทุกอย่าง แต่มีสัดส่วนเดียว คือ อำนาจการแต่งตั้งของรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีสัดส่วนของผู้ใช้บริการ จึงไม่มีผู้รับฟังปัญหาของการใช้สิทธิ ส่วน สปสช. ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกัน แต่มีสัดส่วนหลายสัดส่วนจากประชาชน วิชาชีพ
น.ส.รักชนก กล่าวว่า สิทธิการรักษาฟันของผู้ประกันตนนั้นได้เพียง 900 บาท ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ค่ารักษาสามารถได้มากกว่านั้น โดยโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ไม่ต้องการให้เบิกเงินเยอะ เพราะจะได้ส่วนต่างที่น้อยลง จึงเลือกบอกผู้ประกันตนว่า ได้เพียงแค่ 900 ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่เป็นความจริง
ด้านนายพิพัฒน์ กล่าวว่า มีการปรึกษากับทางประกันสังคมมาโดยตลอด เรื่องการแก้ปัญหาที่ผู้ประกันตนร้องเรียนมา ซึ่งในส่วนการเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่พร้อม และทางบอร์ดแพทย์ก็นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้และกำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดความสะดวกที่สุด
"ไอซ์ รักชนก" แนะรัฐปรับโครงสร้าง
น.ส.รักชนก กล่าวว่า หากจะพัฒนาให้สิทธิประกันสังคมดีขึ้นเท่าสิทธิบัตรทอง ควรลองให้บอร์ด สปสช.มาทำประกันสังคมแทน แลกหน้าที่กัน ซึ่งทาง สปสช. นั้นมีสัดส่วนในการให้เสียงจากผู้บริการ และมีการแก้ไข พัฒนาโครงสร้าง จึงควรลองนำคนที่เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิการรักษาอย่าง สปสช.มาดูแลแทนบอร์ดประกันสังคม
เรื่องของกฎหมายเก่า ที่บอกว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการนั้นจะยกเลิกและเลือกจากการประกาศจากรัฐมนตรี สร้างความกังวลต่อผู้ประกันตน จึงอยากให้ยืนยันในนามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและในนามผู้เป็นส่วนหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ว่าท่านจะไม่ยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
น.ส.รักชนก กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกอย่างคือ บอร์ดที่มาจากการเลือกตั้งต้องแต่งตั้ง CEO แต่ทางประกันสังคมนั้นไม่มีการแต่งตั้ง CEO แต่เลขาเป็นข้าราชการที่บริการจัดการทุกอย่างภายในกองทุนประกันสังคม ซึ่งจำเป็นต้องเป็นมืออาชีพที่ควรเข้ามาทำหน้าที่นี้
ด้าน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การนำบุคคลากรจากทาง สปสช.มานั้น คงเป็นการล้ำเส้นกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสิทธิประกันสังคมควรได้รับสิทธิในการคัดเลือกกรรมการของตนเองและควรมีจากหลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การนำบอร์ดแพทย์ไปดูงานที่ต่างประเทศและพัฒนาบอร์ดประกันสังคมให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตาม พรบ. และบอร์ดประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะควรให้สิทธิผู้ประกันตนทั้ง 26 ล้านคนเลือกตัวแทนของเขาเข้ามา โดยจะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การจะนำมืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่นั้น ยังไม่สามารถทำได้ด้วยระบบโครงสร้างของราชการ จึงควรปรับแก้กฎหมายประเทศไทย ซึ่งหากจะยกประกันสังคมออกไปเป็นอีกโครงสร้างหนึ่ง ก็สามารถทำได้เพราะถือเป็น 1 กระทรวงได้ และหากจะปรับแก้ต้องรื้ออย่างยิ่งใหญ่
ปฏิทินประกันสังคม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่า การสร้างปฏิทินนั้นมีการทำมาหลายปีแล้ว โดยประมาณ 4 ล้านฉบับ ประมาณ 55 ล้านบาท เป็นการประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากผู้ประกันตนไม่เห็นด้วยจะมีการยกเลิกและไปประชาสัมพันธ์ด้านอื่นแทน ส่วนเรื่องบประมาณในการสร้าง รัฐให้สิทธิในการทำสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องการช่วยเหลือรัฐผ่านโรงพิมพ์ ซึ่งจะมีการไปตรวจสอบราคาอีกที
ด้าน น.ส.รักชนก กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ของทางประกันสังคมนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอยากให้มีการพิจารณาถึงงบประมาณในการสร้างสิ่งของในการประชาสัมพันธ์มากขึ้น ให้เลือกราคาให้ถูกที่สุด