ยังคงเป็นประเด็นที่ร้อนกรณีรัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ 40 คนกลับจีน ซึ่งยังคงถูกตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมรัฐบาลถึงรีบร้อนส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ทั้งที่รอมาตั้ง 10-11 ปี และยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอด
ล่าสุด สว.อังคณา นีละไพจิตร ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เปิดโต๊ะข่าว” โดยชี้เป้าว่าก่อนหน้านี้ ในการประชุมกมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ของ สส. ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าจะไม่ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน แต่คล้อยหลังประมาณ 1 เดือน ก็ส่งชาวอุยกูร์กลับแบบลับๆล่อๆ
ทั้งนี้สำหรับเอกสารหลักฐานที่ สว.อังคณา ชี้เป้า คือ รายงานสรุปการประชุมฉบับนี้ ลงวันที่ 29 ม.ค. 2568 เรื่องการพิจารณาศึกษานโยบายการจัดการและการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักตัวชาวอุยกูร์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนฯ
ซึ่งที่ประชุม สรุปการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้ สำนักงานสภาความั่นคง (สมช.) กระทรวงต่างประเทศ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งยืนยันต่อคณะกรรมาธิการในที่ประชุม ว่า "ยังไม่มีนโนบายการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ กลับประเทศต้นทางและได้ดูแลกลุ่มผู้ลี้ภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน"
จากเอกสารสรุปรายงานการประชุม ค่อนข้างชัดว่า ก่อนหน้านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวยืนยันมาแล้ว ว่า ไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับ ลงวันที่ 29 ม.ค. 2568 (ประชุมกันวันที่ 28 ม.ค.2568)
แต่กลับปรากฎว่า ในวันที่ 27 ก.พ. 2568 มีการส่งชาวอุยกูร์ 40 คน กลับประเทศจีน ซึ่งจุดนี้เองทำให้รัฐบาลถูกตั้งคำถามว่าทำไมรีบร้อน ซึ่งหากย้อนไปดูไทม์ไลน์ก่อนหน้าจะพบว่า
ความเคลื่อนไหวของจีน ต่อการขอชาวอุยกูร์กลับ ปรากฎชัดเมื่อ 7 ม.ค.2568 (ตามเอกสารที่หลุดออกมา) สถานทูตจีน ยก 6 ข้อ ให้คำมั่น 45 อุยกูร์ส่งกลับจีน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอาชญากรรมร้ายแรง สามารถอยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตปกติ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ไทยติดตามผลต่อเนื่อง
จากนั้นวันที่ 6 ก.พ.2568 นายกฯเยือนประเทศจีน พบกับ นาย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
วันที่ 19 ก.พ.2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม หารือ หลิว จงอี้ คงมาตรการ 3 ตัด-เตรียมถกไตรภาคี 3 ฝ่ายปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์
จากนั้นวันที่ 27 ก.พ. 2568 ไทยส่งชาวอุยกูร์ 40 คนกลับประเทศจีน ซึ่งช่วงเวลาทั้งหมดนับตั้งแต่ที่สถานฑูตจีน ทำหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศไทย ขบวนการส่งชาวอุยกูร์ กลับจีน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ