โดยผู้เดินทางร่วมกับ คณะ นายภูมิธรรม ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะสื่อมวลชน
โดยกำหนดการวันที่ 18 มี.ค.เวลา 23.30 น.คณะจะออกเดินทางจากกองบิน 6 ท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานเมืองคาซือ มณฑลซินเจียง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชม. ถึงเมืองคาซือ ในวันที่ 19 มี.ค. เวลาประมาณ 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าเวลาประเทศไทย 1 ชม.
จากนั้น วันที่ 20 มี.ค. คณะจะเดินทางไปมณฑลซินเจียงที่อยู่ห่างไกล และจะเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์บังคับใช้กฎหมาย และการจัดการคดีของสำนักงานความมั่นคงสาธารณะ ที่เมืองคาซือ มณฑลซินเจียง และจะเดินทางไปที่มัสยิดอิดกะฮ์ (Id Kah) พูดคุยสนทนากับผู้นำศาสนา และร่วมรับประทานอาหารค่ำ กับตัวแทนผู้นำศาสนาในท้องถิ่น
ก่อนที่รองนายกฯ และคณะจะออกเดินทางจากท่าอากาศยานเมืองคาซือ มณฑลซินเจียง เวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และจะเดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 21 มี.ค. เวลาประมาณ 01.00 น. ณ กองบิน 6 ท่าอากาศยานดอนเมือง
ทั้งนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า การเดินทางครั้งนี้ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏในข้อกังวลของนานาอารยประเทศ และให้เข้าใจประเทศไทยถึงการแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลไทยดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และมีข้อตกลงสำคัญต่อรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ที่ต้องคืนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในยุคโลกปัจจุบัน และมีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งถือว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบรายละเอียดนานหลายเดือน ก่อนจะส่งชาวจีนอุยกูร์กลับสู่มาตุภูมิ เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งชาวจีนกลับสู่บ้านเกิดจะต้องได้รับความปลอดภัย และเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน
การเดินทางครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรก โดยรัฐบาลไทยจะกำหนดการเดินทางเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศต่อนานาอารยประเทศต่อไป
ขณะที่ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน ไทยตัดสินใจส่งตัวชาวจีนอุยกูร์ 40 คนกลับจีนว่า เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของมนุษยธรรม และความถูกต้อง บนทางเลือกที่มีไม่มาก ที่แน่นอนว่า ไม่ว่าเลือกทางไหน ก็ต้องมีผลกระทบมหาศาลตามมา ที่เป็นราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อสิ่งนั้น นอกจากเสียจากจะเลือกวิธีขังเขาต่อจนตายคาคุกไป อย่างที่หลายคนเลือก
โดยนายรัศน์ ตั้งคำถามว่า กำลังมีการเล่นเกม ในความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) ของบางประเทศหรือไม่ เนื่องจาก ทุกวันนี้ มีหลายประเทศที่เคยชูเรื่องสิทธิมนุษยชน เผชิญปัญหาผู้อพยบ ก็เริ่มเนรเทศคนเหล่านี้กลับประเทศต้นทาง หลายพื้นที่ยังมีการสู้รบ และอันตรายถึงแก่ชีวิต
การอพยพประเทศที่ 3 ยังไม่ใช่เรื่องสวย มันมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่แตกต่าง ที่ก็ไม่ได้อยากต้อนรับจริง มีการดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติ ฯลฯ
มีประเทศหนึ่งบอกว่าขออย่าให้ไทยส่งตัวชาวจีนอุยกูร์กลับไปให้จีน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะรับคนเหล่านั้นไปอยู่ด้วยเอง โดยเสนอว่า จะให้เอาไปอยู่ในประเทศหนึ่งในแอฟริกา (ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏ ประเทศที่ว่า ยังมีความขัดแย้ง การสู้รบและก่อการร้ายอยู่)
สำหรับการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คน กลับจีน ของไทย ยืนยันว่า ประการแรกเรื่องการบีบบังคับให้กลับ จากข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลคนเหล่านี้ระหว่างถูกคุมขัง พวกเขามีการ ติดต่อกับญาติพี่น้อง และรับทราบถึงพัฒนาการความเจริญก้าวหน้ากินอยู่ดีของผู้คนในซินเจียงแผ่นดินเกิดของเขา และเมื่อทราบว่า ทางการจีนมีหนังสือรับรองสวัสดิภาพของพวกเขาเป็นทางการ พวกเขาก็เลือกที่จะกลับ อาจดีกว่ารอในห้องขังต่อไปโดยไม่รู้จุดหมาย และต้องไปอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ยินดีต้อนรับจริง
ประการที่สอง พวกเขาจะมีภัยอันตรายต่อชีวิตไหมเมื่อกลับไปแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์โดยมีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุดประเทศต้นทางได้ให้คำรับรองเป็นทางการที่เขาย่อมมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม