ปัญหาการทุจริต หรือ คอร์รัปชัน ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมมาอย่างยาวนาน ทำให้ภาพลักษณ์และสถานการณ์ของบ้านเมืองตกต่ำ โดยเฉพาะ “การเรียกรับสินบน” ที่เรียกได้ว่าพบแทบทุกหย่อมหญ้า รวมถึงการวิ่งเต้นเพื่อสิ่งต่าง ๆ ไปตรงไหนจับตรงไหนก็เจอ ซึ่งสถานการณ์คอร์รัปชันนั้นจะมีทางออกหรือไม่ หรือกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีทางแก้ได้ไปเสียแล้ว
ตัวเลขร้องเรียนเรียกรับสินบน ไม่สะท้อนความเป็นจริง?
นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมวิเคราะห์กรณีดังกล่าวกับ PPTV HD36 ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk ระบุว่า เมื่อปี 2567 ป.ป.ช. รับเรื่องกว่า 11,600 กว่าเรื่องในทุกช่องทาง อาจมีเรื่องร้องเรียนที่ซ้ำบ้าง ไม่อยู่ในหน้าที่ ป.ป.ช. บ้าง เหลืออยู่ประมาณ 8-9 พันเรื่อง
โดยกฎหมายแล้ว หาก ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ต่ำกว่าระดับบริหารลงมา สามารถส่งเรื่องไปยังหน่วยงานนั้น ๆ ดำเนินการได้ หรือหาก ป.ป.ช. รับเรื่องไว้ ก็สามารถส่งไปยังพนักงานสอบสวนได้ และเมื่อส่งไปแล้ว หน่วยงานนั้น ๆ ก็จะต้องรายงานขั้นตอนและการดำเนินการกลับมายัง ป.ป.ช. ตามมาตรา 65 หรือหากพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานชัดเพียงพอ แต่ไม่มีการลงโทษ ป.ป.ช. ก็อาจหยิบเรื่องมาพิจารณาเอง
นายศรชัย เผยว่า ป.ป.ช. รับเรื่องร้ายแรงเฉลี่ยประมาณ 4,000 กว่าเรื่องต่อปี โดยในปี 2567 มี 3,800 เรื่องที่รับตรวจสอบ ชี้มูลไปทั้งหมด 848 เรื่อง และตั้งไต่สวนไปแล้ว 1,201 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูล ดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้สนับสนุน ไปจนถึงเอกชน ที่เข้ามาร่วมกระทำความผิดเป็นชบวนการ
ในภาพรวม คดีการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจะเยอะ รองลงมาเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการเรียกรับสินบนพบว่ามีน้อยลง ทว่าตนมองว่าตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง โดยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเรื่องสินบนเพียง 600-700 เรื่องเท่านั้น
นายศรชัย ตั้งข้อสังเกตว่า หากดูบริบทการเรียกรับสินบนแล้วมีข้อมูลเบาะแสค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นการสมประโยชน์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ พอสมประโยชน์ก็จะมีการร้องเรียนน้อย จึงมีการบูรณาการกับ บก.ปปป. ป.ป.ท. ป.ป.ง.
ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างถูก ผอ.กองช่าง จ.ปทุมธานี เรียกค่าหัวคิวในการถมดินประมาณ 6 หมื่นกว่าคิว คิวละ 50 บาท ทำให้ผู้ประกอบการร้องเรียน ป.ป.ช. จึงเข้ากระบวนการจับกุม โดย 3 ปีที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า 30 กว่าเรื่อง บางกรณีมีการเรียกเก็บในทุกขั้นตอน
การเรียกรับสินบน : ปีศาจร้ายฉุดค่า CPI ของชาติ
นายศรชัย กล่าวว่า สิ่งที่อยากโฟกัสคือ การพิจารณาอนุมัติอนุญาต เพราะเป็นสิ่งที่มีการสะท้อนหลายมุมมอง โดยเฉพาะนักธุรกิจนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เขามองว่าการขออนุมัติอนุญาตก่อสร้างอาคาร การดำเนินการโครงการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการนำเข้า-ส่งออกสินค้า จำเป็นต้องเสียเงินหลายขั้นตอนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ พิจารณาจากการทำรีเสิร์ชและการร้องเรียนหน่วยงานรัฐ
จึงทำให้นักลงทุนกลัว เบื่อหน่าย สะท้อนผ่านดัชนีชี้วัด CPI หรือ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย คะแนนของประเทศไทยค่อนข้างต่ำลง อยู่อันดับที่ 107 ได้ 34 คะแนน จาก 100 คะแนน เรียกได้ว่าเมื่อเทียบตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน หรือกว่า 29 ปี นับตั้งแต่ที่ไทยเข้าร่วมประเมิน CPI ไทยสอบตกมาโดยตลอด ขณะที่สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 อาเซียน อันดับ 3 ของโลก ที่ 84 คะแนนในปีนี้
นายศรชัย อธิบายว่า คะแนน CPI วัดมาจาก 9 แหล่งข้อมูลเพื่อความโปร่งใส โดยใน 6 แหล่งข้อมูลนั้นมีประเด็นคำถามในเรื่องของการเรียกรับสินบนในประเทศนั้น ๆ อาจสอบถามนักธุรกิจนักลงทุน จะเห็นได้ว่าคะแนนในส่วนคำถาม ‘ประเทศที่คุณลงทุนมีการเรียกรับสินบนหรือไม่’ จากทั้งหมด 4 แหล่งข้อมูล คะแนนตกลงไปถึง 7 คะแนน
ดังนั้น การเรียกรับสินบน เป็นปีศาจร้ายที่เราต้องหันมาดู หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการพิจารณาอนุมัติต้องหันกลับมาดู โดย ป.ป.ช. เสนอมาตรการการพิจารณาอนุมัติอนุญาตให้ลดการใช้ดุลยพินิจลง ลดการพบปะระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ขับเคลื่อนระบบ E-Service ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะสามารถยกระดับค่า CPI ได้
รณรงค์หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูล
นายศรชัย กล่าวว่า วันนี้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน นับเป็นตาสับปะรด ที่ร้องเรียนผ่านศูนย์ CDC ของป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช. ก็นำไปรวบรวมเป็น Big Data ซึ่งขณะนี้รอการทำระบบทั้งหมดที่จะสามารถต่อสายต่าง ๆ เชื่อมโยงมาที่ศูนย์ป้องปราม ซึ่งอาจยังไม่มีการทุจริตก็ได้ แต่เริ่มส่อ ก็จะมีการบูรณาการกันโดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์
อย่างที่ทางพรรคประชาชนระบุ ทุกวันนี้ข้อมูลต้องเปิด โดย ป.ป.ช. รณรงค์ให้มีการเปิดข้อมูลต่าง ๆ เช่น วันนี้ ป.ป.ช. มีระบบ ITA หรือระบบคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ ตัวหนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูล หรือ Open Data โดยทุกวันนี้ 8,325 หน่วยงานทั่วประเทศ มีการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่อาจเป็นบางส่วน ไม่ใช่ทุกรายการ แต่ก็พยายามรณรงค์ให้มีการเปิดข้อมูลทั้งหมด ทุกวันนี้เชื่อว่าประชาชนตื่นตัวกันเยอะขึ้น
นายศรชัย กล่าวต่อว่า การเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่ดี ต้องให้เห็นมิติในเรื่องนี้อย่างชัดเจน วันนี้มีการติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชนลงไปตรวจสอบแถวบ้านเขาว่าเป็นอย่างไร มีการทุจริตหรือส่อทุจริตหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่องคาพยพต้องทำให้ประชาชนมีความตื่นตัว
‘3 ไม่’ แนวทาง ป.ป.ช. ตัดตอนทุจริต
นายศรชัย กล่าวว่า ป.ป.ช. มีแนวทางดำเนินการฟื้นความเชื่อมั่นด้านทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางที่จะใช้ในปี 2568 - 2569 เป็นแนวทาง ‘3 ไม่’ ได้แก่
1. ไม่อยากทุจริต ทำอย่างไรให้คนมีความรู้สึกว่าไม่อยากทุจริต วันนี้ ป.ป.ช. มีหลักสูตร ‘ต้านทุจริตศึกษา’ โดยใส่ไปยังโรงเรียน สถานศึกษา สร้างคนพัฒนาคนในระดับเด็กและเยาวชนให้แยกผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมออกจากกันให้ได้ ให้ซื่อสัตย์สุจริต สร้างวัฒนธรรมให้ดี ปราศจากการเห็นแก่ตัว ไปจนถึงหน้าที่พลเมือง ซึ่งผ่านมติ ครม. เรียบร้อยแล้ว เป็นวิชาบังคับเรียน เป็นต้นกล้าสร้างความแข็งแรงในระยะยาว
2. ไม่สามารถทุจริตได้ ป.ป.ช. ปิดช่องทาง ปิดช่องโหว่ในการทุจริตลง เช่น จากการร้องเรียนกว่าหมื่นคดีที่เข้ามายัง ป.ป.ช. มีการวิเคราะห์ในแต่ละพื้นที่ หากพบว่าพื้นที่นั้น ๆ มีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางป้องปรามต่อไป โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับภาคประชาชน เช่น ชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต CDC ศูนย์ป้องปรามการทุจริต ไปจนถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนผ่านโครงการ เรียกรับ...เราร้อง
3. ไม่กล้าทุจริต ป.ป.ช. เมื่อรับเรื่องแล้ว ต้องทำเรื่องไต่สวนให้อยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด 2 ปี ขยายเวลาได้ไม่เกิน 1 ปี แต่เรื่องที่ดำเนินการเพียง 6 เดือนแล้วเสร็จก็มีเยอะ 1 ปีก็มีเยอะ แต่เรื่องที่ซับซ้อนก็สามารถขยายเวลาได้ ขณะเดียวกันต้องมีการลงโทษเฉียบขาด โดยมีหลายประเทศเป็นโมเดล เช่น ประเทศจีน ที่มีการกวาดล้างเป็นนโยบายของเขา ทำให้จีนเทาหนีหายไปยังต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางอย่างเข้มข้น ทำอย่างไรให้คนกลัว ลงโทษอย่างเด็ดขาดและจริงจัง ไม่กล้าทุจริต
“แนวทางพวกนี้จะต้องขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องของการทำอย่างไรให้คนไม่อยากทุจริต ต้องใส่หลักสูตรการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง วันนี้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ร่วมกันขับเคลื่อนค่า CPI แต่ไม่ใช่แค่ 2 หน่วยงานนี้เท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่อยู่เฉย ต้องดำเนินนโยบาย ‘No Gift Policy’ อย่างจริงจังชัดเจน” นายศรชัย กล่าว