ตาลีบัน จัดพาเหรดฉลองใหญ่ ขนอาวุธสหรัฐฯโชว์แสนยานุภาพ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ปิดฉากสงครามที่ยาวนานกว่า 20 ปี อย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการเผยโฉมรัฐบาลชุดใหม่ ตาลีบัน มีการเฉลิมฉลองชัยชนะที่ จ.กันดาฮาร์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดและฐานที่มั่นหลักของตาลีบัน ที่เชื่อกันว่าขณะนี้บรรดาแกนนำตาลีบันคนสำคัญอยู่ที่นั่น เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่โชว์อาวุธที่ยึดได้จากทหารสหรัฐฯ แต่เมื่อการฉลองชัยชนะจบลง ความท้าทายที่กลุ่มตาลีบันจะต้องเผชิญ คือ จะปกครองฟื้นฟูอัฟกานิสถานที่เสียหายยับเยินจากสงครามอย่างไร

ตาลีบัน เข้าคุมสนามบินคาบูล หลังสหรัฐฯ ถอนทัพ ทิ้งเครื่องบิน-รถหุ้มเกราะบางส่วน

ลาภปากตาลีบัน? ยุทโธปกรณ์สหรัฐฯ ถูกทิ้งไว้ในอัฟกานิสถาน

ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในสงครามอัฟกานิสถาน 20 ปี

โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าคือปัญหาเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย อีกด้านหนึ่งยังมีการต่อต้านจากกองกำลังสุดท้ายที่ยังไม่ยอมแพ้ คือ กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มปะทะกับกองกำลังตาลีบันแล้ว

การเฉลิมฉลองชัยชนะของกลุ่มตาลีบันอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นในจังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ที่นี่คือจุดก่อกำเนิดของกลุ่มตาลีบัน และยังฐานที่มั่นสำคัญด้วย ขบวนรถฮัมวี่ ที่บรรทุกสมาชิกตาลีบันติดอาวุธครบมือทยอยขับออกมาอวดโฉมให้ประชาชนดู

รถทุกคันในขบวนธงสีขาวที่มีตัวอักษรอาหรับเขียนว่า Islamis Emirates of Afghanistan  หรือ ดินแดนของเหล่าผู้ครองรัฐในอัฟกานิสถาน ที่คาดกันว่าจะเป็นแนวทางการปกครองที่ตาลีบันจะนำมาใช้ นั่นคือ รูปแบบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจไปยังเจ้าเมืองต่างๆ  

ภาพขบวนพาเหรดจากอีกมุมหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าขบวนยาวสุดสายตา มีคนเยอะจนรถต้องเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ ที่เห็นจากภาพจะมีรถเกราะป้องกันทุ่นระเบิด หรือ MRAP ที่ตาลีบันยึดมาได้จากกองกำลังรัฐบาลอัฟกานิสถาน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ จัดหาให้กับกองทัพรัฐบาลอัฟกานิสถานเพื่อหวังจะใช้เป็นสิ่งที่ช่วยในการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบัน วันนี้เมื่อกองทัพอัฟกานืสถานยอมแพ้ บรรดารถหุ้มเกราะจึงอยู่ในความครอบครองของตาลีบันโดยสมบูรณ์

ในงานฉลองยังปรากฏภาพของเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์ค ที่ตาลีบันเอามาบินวนร่วมฉลองด้วย พวกเขาติดธงอัฟกานิสถานใหม่ที่เฮลิคอปเตอร์ และโปรยกระดาษสีลงมายังเบื้องล่าง ส่วนคนดูบนอัฒจรรย์เหล่านี้ คือชาวบ้านที่มาร่วมงานและมาเพื่อดูขบวนพาเหรดของตาลีบันโดยเฉพาะ ในงานมีนักร้องที่เป็นสมาชิกของตาลีบันออกมาขับเสียงเพลงกล่อม ตามด้วยถ้อยแถลงถึงชัยชนะ และอิสรภาพที่ชาวอัฟกันทุกคนโหยมานาน

การฉลองยังเกิดขึ้นที่เมืองอื่นในอัฟกานิสถานด้วย บรรยากาศของเมืองโคลส ในจังหวัดโคลสทางตะวันออกของประเทศ ที่นี่ผู้สนับสนุนตาลีบันเลือกวิธีการฉลองด้วยการจัดงานศพจำลองขึ้นมา โดยระบุว่า เป็นงานศพของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรในนาโต้ ภายในงานมีการสวดมนต์จริงแบบเดียวกับพิธีศพ ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนช่วยกันแห่โลงที่มีธงชาติของชาติตะวันตกห่อไว้

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งการเฉลิมฉลองชัยชนะเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นวันแรกที่อัฟกานิสถานไม่มีกองกำลังชาติตะวันตกประจำการครั้งแรกในรอบ 20 ปี  แต่เมื่อการฉลองชัยชนะจบลง ความท้าทายที่กลุ่มตาลีบันจะต้องเผชิญมีอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน

อย่างแรกคือ จะปกครองฟื้นฟูอัฟกานิสถานที่เสียหายยับเยินจากสงครามอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย

อย่างที่สองคือ การต่อต้านจากกองกำลังสุดท้ายที่ยังไม่ยอมแพ้ตาลีบัน นั่นคือ กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ หรือ Northen Alliance ซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มปะทะกับกองกำลังตาลีบันแล้ว

 

ตาลีบัน ปะทะกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือในปัญจชีร์

ก่อนอื่นมาดูก่อนว่า พันธมิตรฝ่ายเหนือคือใคร และทำไมจึงเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่ยอมตาลีบัน พันธมิตรฝ่ายเหนือเป็นหนึ่งผู้เล่นคนสำคัญในการเมืองและความขัดแย้งในอัฟกานิสถานมานานพอ ๆ กับกลุ่มตาลีบัน

ผู้ก่อตั้งกลุ่มคือ อาหมัด ชาฮ์ มัสซูด หนึ่งในนักรบมูจาฮิดีนคนสำคัญที่ต่อสู้กับกองทัพของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1980 ความเก่งกาจในการรบของอาหมัด ทำให้หุบเขาปัญจ์ชีร์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือเป็นเพียงไม่กี่พื้นที่ของอัฟกานิสถานที่สหภาพโซเวียตยึดไม่ได้

อาหมัด ชาฮ์ มัสซุดถูกขนานนามว่า “นโปเลียนแห่งอัฟกัน” และ “ราชสีห์แห่งปัญจ์ชีร์” หลังสหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน อาหมัด ชาฮ์ มัสซุด คือ หนึ่งในตัวละครสำคัญของสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถาน หลังจากที่เขานำกำลังต่อสู้กับกลุ่มมูจาฮิดีนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อแย่งชิงอำนาจ หลังจากนั้นตาลีบันก็เข้ามา สงครามกลางเมืองยุติลง

ในช่วงที่สหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 พันธมิตรฝ่ายเหนือ คือ กำลังสำคัญในการช่วยสหรัฐฯ โค่นล้มตาลีบัน ในขณะที่สหรัฐฯโจมตีทางอากาศ พันธมิตรฝ่ายเหนือ คือ กำลังที่ต่อสู้ภาคพื้นดิน การร่วมมือกันทำให้ในที่สุดตาลีบันถูกขับหลุดจากอำนาจไป

ความเป็นพันธมิตรของอาหมัด ซาฮ์ มัสซูด ดำเนินต่อไป เขาคือคนที่เตือนสหรัฐฯ ถึงค่ายลับที่ใช้ฝึกกำลังของกลุ่มอัลไกดาในอัฟกานิสถาน เขาคือเขาเตือนสหรัฐฯ ว่าให้ระวังภัยก่อการร้ายจากกลุ่มอัลไกดา

อาหมัด ซาฮ์ มัสซุด หรือราชสีห์แห่งปัญจ์ชีร์ ถูกกลุ่มอัลไกดาสังหารด้วยระเบิดฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2001 หรือ 2 วันก่อนเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หลังการตายของอาหมัด ซาฮ์ มัสซุด ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือต่อคือ ลูกชายของเขา อาหมัด มัสซูด

อาหมัด มาซูด อายุ 32 ปี จบการศึกษาจาก King Collage มหาวิทยาลัยลอนดอน เขาเดินทางกลับจากอังกฤษมาที่หุบเขาปันจชีร์เพื่อสานต่อภารกิจของพ่อ ในวันที่ตาลีบันผงาด หุบเขาปันจชีร์เป็นเพียงที่เดียวที่ตาลีบันยังยึดไม่ได้

พันธมิตรฝ่ายเหนือที่นำโดยมัสซูดจับมือกับอัมรุลเลาะห์ ซาเลฮ์ รองประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในรัฐบาลของประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ที่หนีไปหุบเขาปันจชีร์พร้อมกับทหารอัฟกันอีกจำนวนหนึ่งเพื่อต่อต้านกลุ่มตาลีบัน

หุบเขาปัญจ์ชีร์อยู่ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน มีประชากรประมาณ 170,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวทาจิก มีการเผยแพร่ภาพการฝึกซ้อมกำลังพลในหุบเขาปันจชีร์ออกมาเป็นระยะๆ

แน่นอน ตาลีบันไม่ปล่อยไว้ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว กองกำลังตาลีบันเคลื่อนพลไปที่นั่นแล้ว  อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าการสู้รบอาจไม่เกิดขึ้นหากทั้งสองฝ่ายเจรจาสันติภาพกันได้ แต่เมื่อวานนี้มีภาพนี้ปรากฏขึ้น เป็นภาพของกองกำลังตาลีบันที่ถูกส่งเข้าไปบริเวณหุบเขาปัญชีร์เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก ตามมาด้วยภาพนี้ ประชาชนจำนวนหนึ่งในหุบเขาปัญจชีร์ออกมาหยิบจับอาวุธ พร้อมประกาศสู้ตาย

ล่าสุดทวิตเตอร์ของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือเผยแพร่ภาพการปะทะกับกลุ่มตาลีบันบริเวณหุบเขาปัญจชีร์  ตามมาด้วยภาพของกองกำลังตาลีบันจำนวน 120 คน ที่ถูกสมาชิกของกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือจับกุมตัวไว้ได้

รายงานข่าว ระบุว่า ขณะนี้กองกำลังตาลีบันยังคงวางทหารโอบล้อมหุบเขาอยู่ และมีรายงานตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตบนหุบเขาเป็นระยะ ๆ  

พันธมิตรฝ่ายเหนือยังคงเป็นความท้าทายของตาลีบันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างทาจิกิสถานซึ่งเป็นชาติพันธ์เดียวกันกับประชาชนในหุบเขาปัญจชีย์ แต่ความท้าทายอีกสิ่งที่อาจสำคัญกว่าในขณะนี้คือ ตาลีบันจะบริการจัดการวิกฤตเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานอย่างไร นั่นคือ ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง

 

ค่าเงินอัฟกานีตกต่ำ ราคาสินค้าพุ่งอย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานที่ผ่านมาอยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ แต่ตอนนี้เงินช่วยเหลือทั้งหมดถูกระงับ หน่วยงานของราชการจำนวนมากต้องปิด หยุดทำการเพราะไม่มีเงิน

สำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่า ราคาอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ส่วนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75

นี่คืองานใหญ่เมื่อตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว อีกปัญหาเฉพาะหน้าคือ การซ่อมแซมสาธารณูปโภค รวมถึงสนามบินซึ่งเป็นจุดสำคัญในขนส่งปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการฟิ้นฟูประเทศ คนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคือ ประเทศกาตาร์ ทีมช่างเทคนิคพิเศษจากกาตาร์ได้เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติฮามิด คาไซ เพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูสนามบินที่ได้รับความเสียหาย โดยทางตาลีบัน ระบุว่า เป้าหมายสำคัญในขณะนี้คือการทำให้สนามบินกลับมาใช้งานได้ เพื่อเปิดรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และอพยพคนต่างชาติที่ยังคงตกค้าง

นับเป็นอีกความช่วยเหลือจากกาตาร์ หลังจากที่ประเทศนี้เคยเป็นคนกลางในการเจรจาข้อตกลงสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ และตาลีบัน รวมถึงที่ผ่านมาประเทศนี้ยังเปิดรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เป็นสมาชิกตาลีบันจำนวนหนึ่ง

 

เด็กจากแคลิฟอร์เนียราว 30 คน ยังติดอยู่ในอัฟกานิสถาน

สหรัฐฯ รายงานว่า ภารกิจอพยพคนออกจากอัฟกานิสถานที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น พวกเขาอพยพคนออกจากกรุงคาบูลได้ 122,000 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นชาวอเมริกันประมาณ 6,000 ราย ส่วนจำนวนคนอเมริกันที่ยังคงตกค้างคาดว่ามีไม่เกิน 200 ราย ซึ่งล่าสุดมีรายงานใหม่เพิ่มเข้ามาว่า ในจำนวนคนอเมริกันที่ตกค้างในอัฟกานิสถานนั้น มีเด็ก ๆ จากรัฐแคลิฟอร์เนียราว 30 คน รวมอยู่ด้วย

เด็กเหล่านี้เป็นใคร ไปทำอะไรที่อัฟกานิสถาน? สำนักข่าว AP ระบุว่า เด็ก ๆ มาจากโรงเรียน 3 แห่งในเขตซานดิเอโก และเขตซาคราเมนโตของรัฐแคลิฟอร์เนีย พวกเขาเดินทางไปอัฟกานิสถานพร้อมกับพ่อหรือแม่ เพื่อไปเยี่ยมญาติ ๆ ที่อาศัยอยู่ที่นั่น โดยเข้าไปในอัฟกานิสถานก่อนที่ตาลีบันจะยึดกรุงคาบูล โดยในจำนวนนี้มีทั้งเด็ก ๆ ที่ถือวีซ่าผู้ลี้ภัย และเด็กๆ ที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ เพราะเกิดที่สหรัฐฯ

นี่คือรายละเอียดล่าสุดของชาวอเมริกันที่ขณะนี้ยังคงติดค้างอยู่ในอัฟกานิสถาน ซึ่งเมื่อวานนี้ วิคตอเรีย นูแลนด์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงว่า ทางกระทรวงกำลังพยายามอย่างเต็มที่ และมองหาความเป็นไปได้ทุกทางในการช่วยเหลือชาวอเมริกันออกมา รวมถึงช่วยเหลือชาวอัฟกันที่เคยร่วมงานกับสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และชาวอัฟกันอื่นๆ ที่ต้องการอพยพมายังสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ที่แม้ว่าตาลีบันจะยืนยันว่า พวกเขาเปิดกว้างและให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้หญิงเต็มที่ รวมถึงอาจให้ตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ด้วย แต่หลายคนยังไม่เชื่อใจ หนึ่งในคนที่อพยพออกมาคือ เบเฮชตา อาร์กานด์ ผู้สื่อข่าวหญิงที่ก่อนหน้านี้กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก เพราะเธอได้สัมภาษณ์สมาชิกตาลีบันออกอากาศสด ๆทางโทรทัศน์  แต่ล่าสุดเจ้าตัวอพยพออกนอกประเทศแล้ว เพื่อความปลอดภัย

 

 

ผู้สื่อข่าวหญิงที่สัมภาษณ์ตาลีบัน ลี้ภัยไปกาตาร์แล้ว

นี่คือภาพดังกล่าว ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอีกภาพประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่สมาชิกระดับสูงของตาลีบันมาออกรายการสดที่ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้หญิง

ผู้ประกาศข่าวในภาพคือ เบเฮชตา อาร์กานด์ ผู้ประกาศหญิงวัย 24 ปี จากสำนักข่าว Tolo News ซึ่งเทปสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 2 วัน หลังตาลีบันยึดกรุงคาบูล  เธอเล่าว่า วันที่สัมภาษณ์ตาลีบันนั้น เธอเพิ่งทำงานที่สถานีนี้ได้เพียงเดือนกว่าๆ เท่านั้น และเป็นโชคดีของเธอที่มักคลุมฮิญาบและสวมเสื้อแขนยาว กระโปรงยาวไว้ตลอดในตอนที่ทำหน้าที่รายงานข่าว

ส่วนนี่คือภาพล่าสุดของเธอ หลังจากที่ลี้ภัยมายังกรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์เป็นที่เรียบร้อย โดยเธอยอมรับว่า ที่ต้องจากประเทศมาก็เพราะหวาดกลัวตาลีบัน แต่ก็พร้อมที่จะกลับบ้านไปทำงานสื่อสารมวลชนที่ตนเองรักอีกครั้ง หากตาลีบันทำตามสัญญา นั่นคือ การอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำงาน และเรียนหนังสือได้ตามปกติ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ