อัยการเฮติ โดนไล่ออก หลังสั่งฟ้องนายกฯ เอี่ยวคดีลอบสังหาร ปธน.

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สองเดือนแล้วหลังเกิดเหตุลอบสังหาร โฌเวเนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ ภายในบ้านพัก เกิดขึ้นอย่างอุกอาจ และเต็มไปด้วยเงื่อนงำปริศนามากมาย เมื่อผู้ต้องหาจำนวนมากเป็นทหารรับจ้างจากโคลอมเบีย ล่าสุดมีความคืบหน้าใหม่ โดยอัยการได้ขอคำสั่งศาลในการตั้งข้อหา อาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ในข้อหาเชื่อมโยงกับแผนการลอบสังหาร ด้านฝั่งนายกฯ ตอบโต้ด้วยการสั่งปลดอัยการเป็นที่เรียบร้อย

เหตุสังหารปธน.เฮติ จับกุมหัวหน้าการ์ด อดีตส.ว.อาจมีเอี่ยว

ตำรวจเฮติจับ “หมอ” บงการลอบสังหารประธานาธิบดี

นี่คือโฉมหน้าของ อาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติคนปัจจุบัน ที่ล่าสุดเพิ่งจะถูก เบด-ฟอร์ด โคลด หัวหน้าอัยการเฮติ ยื่นคำร้องต่อศาลให้ตั้งข้อหาผู้นำประเทศคนนี้  โดยระบุว่า พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า นายกรัฐมนตรีเฮติเชื่อมโยงกับแผนลอบสังหาร โฌเวเนล โมอิส ประธานาธิบดีเมื่อ 2 เดือนก่อน รวมถึงขอให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองห้ามไม่ให้ผู้นำเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้

เอกสารที่เบด-ฟอร์ด โคลด หัวหน้าอัยการส่งให้ศาลมีความหนาเพียง 2 แผ่น ระบุว่า พบบันทึกการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่าง อาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ กับ โจเซฟ บาดิโอ ที่ขณะนี้เป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ทั้งคู่ติดต่อกันผ่านโทรศัพท์ถึง 2 ครั้งในคืนลอบสังหาร ช่วงเวลา 4.03 น. และเวลา 4.20 น. โดยการพูดคุยครั้งสุดท้ายนั้นยาวถึง 7 นาที สัญญาณจากโทรศัพท์บ่งชี้ว่าในเวลานั้น โจเซฟ บาดิโอ อยู่ใกล้กับบ้านพักของประธานาธิบดี สถานที่เกิดเหตุ ส่วน อาเรียล อองรี อยู่ที่โรงแรมมอนทานา ในกรุงปอร์โตรแปงซ์ เมืองหลวง

ทางรัฐบาลระบุว่า นายกรัฐมนตรีอาเรียล อองรี ไม่เคยพูดคุยกับ โจเซฟ บาดิโอ ส่วนเจ้าตัวเอง นายกรัฐมนตรีอาเรียล อองรี ระบุว่า การสั่งฟ้องเขาว่ามีส่วนในการลอบสังหารเกิดขึ้นจากเป้าหมายทางการเมือง

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไล่หัวหน้าอัยการคนดังกล่าวออกจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย พร้อมตั้งคนใหม่แทน โดยให้เหตุผลสั้น ๆ เพียงว่า เบด-ฟอร์ด โคลด ดำเนินการบริหารงานที่ผิดพลาดร้ายแรง ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม และยังไม่ชัดเจนว่าการไล่ออกอัยการแบบฟ้าผ่านี้จะส่งผลต่อรูปคดีอย่างไร เมื่อในขณะนี้นายกรัฐมนตรีกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยด้วย

 

ย้อนรอยความขัดแย้ง เหตุลอบสังหารปธน.เฮติ ดับคาบ้านพัก

เกิดอะไรขึ้นกับประธานาธิบดีเฮติผู้ล่วงลับ? ย้อนคดีลอบสังหารที่อุกอาจอย่างมาก เพราะเกิดขึ้นภายในบ้านพักของผู้นำประเทศ สถานที่ที่ควรจะปลอดภัยมากที่สุด

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา เวลาประมาณ ตี 1 ตามเวลาท้องถิ่น  ประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส และมาร์ติน โมอิส ผู้เป็นภรรยาเพิ่งจะเดินทางกลับมาถึงบ้านไม่นาน จากนั้นภาพจากกล้องวงจรก็ปิดเผยให้เห็นว่า จู่ ๆ ก็มีขบวนรถปริศนาพุ่งเข้ามาในบ้าน แล้วกลุ่มชายติดอาวุธก็ลงมา พวกเขาระบุตัวว่าเป็น เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสตพติดของสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า DEA ตะโกนให้ทุกคนในบ้านอยู่ในความสงบ ก่อนจะสาดกระสุนสังหารประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิสถูกกระสุนเจาะเข้าร่างถึง 12 นัด ด้านสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งตัวไปรักษาที่รัฐฟลอริดา ในสหรัฐฯ และรอดมาได้

มาร์ติน โมอิส กลายมาเป็นพยานสำคัญ เพราะเธอเป็นคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งเธอเล่าว่า คนร้ายลั่นกระสุนอย่างรวดเร็วจนสามีของเธอไม่ทันที่จะเอ่ยพูดอะไร และพวกเขาพูดทั้งภาษาอังกฤษและสเปน ในวันที่ 20 กันยายนนี้ เธอจะขึ้นศาล เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดี ก่อนหน้านั้นในการสัมภาษณ์ เธอระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำความยุติธรรมกลับคืนมาให้สามีผู้ล่วงลับ

 

ปัจจุบันคดีคืบหน้าไปแล้วมากน้อยแค่ไหน?

ขณะนี้มีผู้ต้องสงสัยและผู้ที่ถูกจับกุมแล้วราว 40 คน ในจำนวนนี้มีทั้งทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย แพทย์จากรัฐฟลอริดา ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ในรัฐบาล ในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ ตำรวจสามารถจับกุมตัวคนที่คาดว่าก่อเหตุได้จำนวนหนึ่งส่วนใหญ่ของผู้ต้องสงสัยเป็นทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย และมีชาวเฮติอยู่ในขบวนการด้วย 3 คน โดย 2 ใน 3 เป็นชาวอเมริกัน-เฮติ ตามมาด้วยการประกาศจับผู้ต้องหาที่ทำให้คดีขยายใหญ่มากขึ้น เมื่อมีคนนอกประเทศมาเกี่ยวข้อง นั่นคือ คริสเตียน เอมมานูเอล ซานอน นายแพทย์ชาวเฮติที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ

ตำรวจเฮติ คาดว่า คน ๆ นี้คือคนกลางในการประสานแผนลอบสังหาร หรืออาจเป็นคนต้นคิด เพราะตัวเขาเคยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเฮติว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและทำให้ผู้คนยากจนในปี 2011 รวมถึงเพื่อนของเขาก็เล่าว่า ชายคนนี้มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นประธานาธิบดีเฮติ

นอกจากนั้นตำรวจยังจับกุม ดิมิทรี เฮราด หัวหน้าบอดี้การ์ดของประธานาธิบดี ซึ่งคาดกันว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะขบวนรถของกลุ่มมือปืนบุกเข้าไปได้อย่างง่ายดาย และหลังเกิดเหตุไม่พบว่ามีบอดี้การ์ดคนใดได้รับบาดเจ็บ ตามมาด้วยการประกาศจับกุม จอห์น โจเอล โจเซฟ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเฮติที่เคยวิจารณ์การบริหารงานของประธานาธิบดีโมอิส

จะเห็นว่าในบรรดาผู้ต้องสงสัยมีเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลด้วยหลายคน เช่น โจเซฟ บาดิโอ ที่ถูกตรวจพบบันทึกการพูดคุยโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีนั้น คน ๆ นี้ก็เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา

 

ล่าสุดการที่ อาเรียล อองรี กลายมาเป็นผู้ต้องสงสัยนี้ยิ่งสร้างความประหลาดใจ เนื่องจากเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี จาก โฌเวเนล โมอิส ประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ

ย้อนไปวันที่ 6 กรกฎาคม ก่อนหน้าเหตุลอบสังหารเพียงวันเดียว ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฮติในตอนนั้นเป็นของ โคลด โจเซฟ แต่ในวันนั้น จู่ ๆ นายโจเซฟก็ถูกประธานาธิบดีโมอิสถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยเป็นไปตามอำนาจของประธานาธิบดีที่ให้สิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญจากนั้นก็แต่งตั้งอาเรียล อองรี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยและศัลยแพทย์ด้านประสาทขึ้นแทน

ปัญหาคือ ประธานาธิบดีถูกลอบสังหารก่อนที่ อาเรียล อองรี จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ขณะนี้การเมืองเฮนติจึงวุ่นวาย เพราะทั้งสองคน รวมถึงผู้สนับสนุนต่างอ้างสิทธิในการขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการแทนประธานาธิบดีที่ถูกลอบสังหาร แต่ในทางปฏิบัติ ปัจจุบัน อาเรียล อองรี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกฯ จากการแต่งตั้ง ยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการแทนประธานธิบดีที่ล่วงลับ

ซึ่งล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อาเรียล อองรีเพิ่งจะลงนามในข้อตกลงใหม่ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับฝ่ายค้านและตัวแทนจากภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ต้องติดตามกันต่อว่าคดีลอบสังหารนี้ ตลอดจนความวุ่นวายทางการเมืองในเฮติจะจบลงอย่างไร

 

ทั้งนี้ เฮติถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยที่สุดของภูมิภาคลาตินอเมริกา เพราะร้อยละ 60 ของประชากรในประเทศยังคงยากจน หนึ่งในสาเหตุมาจากความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะโฌเวเนล โมอิส ไม่ใช่ผู้นำคนแรกที่ถูกลอบสังหาร และที่ผ่านมายังเกิดรัฐประหารหลายครั้ง ซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติอย่างเฮอร์ริเคน และแผ่นดินไหว เนื่องจากเฮติตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นที่มักชนเคลื่อนชนกัน โดยเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.2 แมกนิจูด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,000 ราย

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ