เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปขององค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในทวีปยุโรปและเอเชียกลางอานมีมากถึง 500,000 คน
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะขณะนี้ ทวีปยุโรปกลับมาเป็นศูนย์กลางการระบาดอีกครั้ง จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ในจำนวนประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงมีทั้งประเทศที่ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออก และยุโรปกลาง
อนามัยโลก เตือน ยุโรป ศูนย์กลางระบาดโควิดรอบใหม่
“อนามัยโลก” ประกาศทุกคนจะได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 วอนอย่าตื่นตระหนก
เช่น เยอรมนี ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง หรือเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาสูงถึง 35,662 ราย สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมากำลังสร้างความกังวล เจนส์ สปาห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า เยอรมนีต้องการมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดกว่านี้ โดยเฉพาะมาตรการสำหรับประชาชนที่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน
อีกประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจคือ ประเทศรัสเซีย ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดของวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบเพิ่ม 40,217 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลของวันเดียวกันพบผู้เสียชีวิต 1,195 ราย สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา
กลุ่มประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญยังรวมถึงประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น ยูเครน โครเอเชีย สโลวีเนีย และสโลวาเกีย ในยูเครน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พบเพิ่ม 27,377 ราย สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมาเช่นกัน
ในโครเอเชีย พบเพิ่ม 6,310 ราย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบราว 4,500 ราย
ส่วนในสโลวีเนีย พบเพิ่ม 4,511 ราย และที่สโลวาเกียพบเพิ่ม 6,713 ราย ซึ่งสำหรับทั้งสองประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ขณะนี้สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา
นี่คือบรรยากาศของโรงพยาบาลในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ที่ขณะนี้กำลังเต็มไปด้วยผู้ป่วยใหม่
รายงานจากแพทย์และพยาบาลระบุว่า ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยใหม่ล้วนเป็นคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงยังมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกันการที่เริ่มเข้าสู่หน้าหนาวก็เป็นปัจจัยที่ทำเสริมให้ไวรัสแพร่กระจายได้ดีขึ้น นี่คือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ขณะนี้เป็นปัญหามากที่สุดคือ อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังน้อยในหลายประเทศ ทั้งที่ยุโรปเป็นทวีปที่เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายกว่าทวีปอื่น
เปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศที่กำลังเผชิญกับการระบาดในขณะนี้ รัสเซียมีสัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร้อยละ 39 ส่วนเข็มสองอยู่ที่ร้อยละ 33 ยูเครนมีสัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร้อยละ 24 ในขณะที่เข็มสองอยู่ที่ร้อยละ 17 เท่านั้น
โครเอเชียมีมากกว่าหน่อย โดยสัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ร้อยละ 47 ส่วนเข็มสองอยู่ที่ร้อยละ 44 ส่วนสโลวีเนียมีสัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วร้อยละ 56 เข็มสองที่ร้อยละ 53 และสโลวาเกียมีสัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ร้อยละ 46 ส่วนเข็มสองอยู่ที่ร้อยละ 42
เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าและจำนวนคนรับวัคซีนที่ยังน้อย เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ที่สัดส่วนคนได้รับวัคซีนครบสองเข็มอยู่ที่ราวร้อยละ 70 แล้ว และเป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ของประเทศยุโรปที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มในสัดส่วนประชากรมากกว่าร้อยละ 70 มักเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
เหตุผลมาจากความลังเลประกอบกับความไม่เชื่อใจในระบบสาธารณสุขของกลุ่มประเทศเหล่านี้
รวมเข้ากับความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการฉีด ส่งผลให้อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ โดยข้อมูลจากคณะกรรมมาธิการยุโรปชี้ว่า แต่เดิมก่อนที่จะมีโควิด-19 กลุ่มประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนความไม่ไว้ใจต่อระบบสาธารณสุขสูงอยู่แล้ว คือราว 1 ใน 3
เทียบกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อัตราการไม่ไว้ใจมีเพียงร้อยละ 18 หรือเกือบ 1 ใน 4 ซึ่งน้อยกว่า
ทั้งยังมีปัญหามิจฉาชีพขายเอกสารยืนยันว่าฉีดวัคซีนแล้วในตลาดมืด ส่งผลให้ผู้คนไม่รู้สึกกระตือรือร้นว่าต้องเข้ารับวัคซีน
นอกจากปัญหาผู้คนเข้ารับวัคซีนน้อยแล้ว รายงานล่าสุดจากอนามัยโลกยังเสริมว่า การที่หลายประเทศผ่อนปรนมาตรการในช่วงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน