รัสเซีย-ยูเครน สัญญาณดีขึ้น หลังฝรั่งเศสเดินหน้าเจรจา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ท่ามกลางการขนกำลังและอาวุธเพื่อซ้อมรบใหญ่ของรัสเซียและเบลารุส ความพยายามทางการทูตในการคลี่คลายวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนก็ยังดำเนินต่อไป โดยประเทศที่เป็นตัวหลักในขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นฝรั่งเศส ที่ผู้นำประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เดินสายพบทั้งผู้นำรัสเซีย ยูเครน หลังจากไปยูเครน ผู้นำฝรั่งเศสก็บินต่อมาที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีเพื่อหารือกับผู้นำเยอรมัน ที่กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องการที่เยอรมนีไม่มีความชัดเจน ก่อนจะเปิดแถลงข่าวด้วยกัน

รัสเซีย-ยูเครน ยังตึงเครียด ทุกฝ่ายกำลังเจอจุดวัดใจ

ไบเดน ขู่ รัสเซียถ้าบุกยูเครน ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 จะไม่ได้เปิดใช้

นอกเหนือจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนีแล้ว ในวงหารือที่เบอร์ลินเมื่อคืนที่ผ่านมา ยังมีประธานาธิบดีอังเดรซ ดูดาของโปแลนด์เข้าร่วมด้วย

หลังการหารือ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ออกมาประกาศจุดยืนว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียที่ชายแดนยูเครนเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และหากรัสเซียทำอะไรที่เกินเลยหรือมากกว่านี้ก็จะถูกตอบโต้จากทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ   โดยขณะนี้เป้าหมายที่ทุกคนมีร่วมกันคือ หลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในยุโรป

ขณะที่ประธานาธิบดีของโปแลนด์ระบุว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดสำหรับยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นอย่างไรก็ตามทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม

ความพยายามทางการทูตในการหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในยุโรปตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นฝรั่งเศสที่เป็นตัวหลัก โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสได้เดินทางไปมอสโก เพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียยาวนานกว่า 5 ชั่วโมงก่อนออกมาแถลงข่าวร่วมกัน หลังจากนั้นประธานาธิบดีมาครงก็เดินทางต่อไปยังกรุงเคียฟของยูเครน เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี  ซึ่งที่นั่น ผู้นำฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ในการหารือกับประธานาธิบดีปูติน ประธานาธิบดีปูตินได้รับประกันกับตนเองว่าจะไม่ทำให้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนขยายวงบานปลาย

แต่หลังจากการให้สัมภาษณ์ไม่นาน ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำรัฐบาลเครมลินกลับระบุว่า ในเวลานี้ทั้งรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลฝรั่งเศสยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงใดๆ ร่วมกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตยูเครน

 

ยังไม่มีความชัดเจนว่า ตกลงแล้วใครพูดจริง อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งประเด็นที่ผู้นำฝรั่งเศสพูดแล้วไม่มีใครขัด ไม่ว่าจะเป็นยูเครนหรือรัสเซีย นั่นก็คือ ฝรั่งเศสจะผลักดันให้มีการคลี่คลายวิกฤต หาทางออกผ่านการเจรจาหรือพูดคุยในกรอบการเจรจานอร์มังดี หรือ (Normandy Format) ก่อนหน้านั้นมีความพยายามใช้วิธีการทางการทูตและการเจรจาในทุกระดับชั้นทุกเวทีในสามครั้งหลังระหว่างฝ่ายรัสเซียกับนาโต แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง

ประธานาธิบดีมาครง ผู้นำฝรั่งเศสจึงเสนอการเจรจารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า กรอบการเจรจานอร์มังดี หรือ Normandy Format ซึ่งจะเป็นการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งคือ ผู้แทนของรัสเซียและยูเครน โดยการสนับสนุนของฝรั่งเศสและเยอรมนี สองประเทศหลักในยุโรป หรือพูดง่าย ๆ คือ ให้ประเทศในยุโรปแก้ปัญหาของยุโรปด้วยกันเอง ซึ่งดูเหมือนได้รับการตอบรับจากคู่ขัดแย้ง เห็นได้จากการที่ทั้งผู้นำรัสเซียและผู้นำยูเครนนั่งหารือกับผู้นำฝรั่งเศส

เมื่อคืนที่ผ่านมา หลังผู้นำยูเครนหารือกับผู้นำฝรั่งเศสเสร็จ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากได้ฟังสิ่งผู้นำฝรั่งเศสที่หารือกับประธานาธิบดีปูตินแล้วก็พอมีความหวังว่าการเจรจานอร์มังดีจะเป็นโอกาสให้วิกฤตคลี่คลาย  อย่างไรก็ตามเขาเรียกร้องให้รัสเซียต้องเปิดใจคุยแบบตรงไปตรงมา และลดระดับการคุกคามยูเครน

 

ท่าทีของสหรัฐฯต่อการวิ่งล็อบบี้เจรจาของผู้นำฝรั่งเศสกับคู่ขัดแย้งอย่างรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ล่าสุดมีการตอบรับจากทำเนียบขาว

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ได้ติดต่อสื่อสารกับผู้นำฝรั่งเศสตลอด และกำลังจะมีการสื่อสารกันอีกครั้งเพื่อศึกษาข้อเสนอของฝรั่งเศสที่มีต่อทั้งรัสเซียและยูเครน แม้จะเป็นก้าวย่างทางบวก แต่สหรัฐฯ จะยังไม่วางใจจนกว่าจะเห็นด้วยตาของตัวเองว่ารัสเซียไม่ได้คุกคามยูเครน

 

รัสเซีย-เบลารุสพร้อมซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ในรอบหลาย

ในขณะที่ความพยายามทางการทูตดำเนินไป วันพรุ่งนี้จะรัสเซียและเบลารุส จะมีเริ่มซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดรอบหลายปีตามกำหนดการที่วางไว้ หลายสัปดาห์แล้วที่รัสเซียขนอาวุธเข้ามาเบลารุสต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถถัง อากาศยาน และเรือรบ

โดยเรือรบ 6 ลำของรัสเซียที่กำลังเดินทางจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านบอสฟอรัสในนครอิสตันบูลของตุรกีเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ทะเลดำ

สำนักข่าว Interfax ของรัสเซียรายงานอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมรัสเซียว่า เรือรบเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการซ้อมรบที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ เรือรบเหล่านี้เดินทางโดยผ่านน่านน้ำของประเทศตุรกี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญหากเกิดสงคราม

ก่อนหน้านั้น รัสเซียมีการระดมพลและอาวุธทางบก รวมถึงเครื่องบินรบจำนวนมากไปยังเบลารุสแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครื่องบินโจมตีรุ่น Su-25SM หรือ ซูคฮอย เอสยู-25 เอสเอ็ม เครื่องบินรุ่นนี้สามารถยิงขีปนาวุธอากาศรุ่นวึมเปียล R-73 ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ได้

นอกเหนือนี้ก็ยังมีเครื่องบินรบรุ่น Tu-22M3 ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลที่มีความเร็วเหนือเสียง โดย พิสัยทำการอยู่ที่ 6,800 กิโลเมตร มีเพดานบินสูง 13,000 เมตร สามารถบรรทุกอาวุธหนักได้ถึง 24 ตัน

เครื่องบินรบอีกตัวที่รัสเซียส่งมาคือ Su-30 เครื่องบินโจมตีของรัสเซียที่ถอดแบบมาจากเครื่องบิน F-15E ของสหรัฐฯ ขีดความสามารถของเครื่องบินรุ่นนี้ คือ สามารถปล่อยอาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่พื้นได้ โจมตีเรือและภาคพื้นดินได้ โดยมีพิสัยยิงไกลถึง 300 กิโลเมตร

ล่าสุดวันนี้ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียรุ่น S-400 ก็ได้เดินทางถึงเบลารุสแล้วเช่นกันเพื่อเตรียมเปิดการซ้อมรบพรุ่งนี้ โดย S-400 เป็นระบบยิงมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน โดยมันถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำลายอากาศยาน เรือรบ หรือขีปนาวุธได้  S-400 เคยถูกส่งไปประจำการในสงครามซีเรียช่วงปี 2015

สหรัฐฯส่งกองเรือร่วมซ้อมรบนาโต ทหารอีกชุดถึงโปแลนด์

ส่วนนาโตก็ไม่น้อยหน้า ตอนนี้เริ่มฝึกรบเช่นกันที่ทะเลเอเดรียติกในน่านน้ำของประเทศอิตาลี โดยมีกองเรือ หรือ Carrier Strike Group ของสหรัฐที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Harry S.Truman เข้าร่วม ถือเป็นครั้งแรกหลังสิ้นสุดสงครามเย็นที่กองเรือสหรัฐเข้าประจำการภายใต้การบัญชาการขององค์การนาโต

กองเรือสหรัฐหรือ Carier Strike Group ที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Harry S. Truman ประกอบไปด้วยเรือลาดตะเวน เรือพิฆาต เรือเสบียง และเรือดำน้ำ

ทั้งหมดนี้ฝึกร่วมกับเรือบรรทุกเครื่องบินของอิตาลีที่ชื่อ Cavour CSG พร้อมกองเรือภายใต้ปฏิบัติการซ้อมรบที่ชื่อ Neptune Strike 22 ของนาโต โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมกองเรือ และเครื่องบินรบอีก 90 ลำเข้าร่วม และล่าสุดทหารสหรัฐอีกชุดหนึ่งก็เดินทางถึงโปแลนด์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอน ประเทศในกลุ่มบอลติก คือ ลัตเวีย ลิทัวเนียและเอสโตเนีย ร้องขอให้ประเทศในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีช่วยเหลือมากขึ้นทั้งเรื่องกำลังทหารและอาวุธ

 

ชาติบอลติก ร้องขอความช่วยเหลือจากยุโรปเพิ่มในวิกฤตนี้

โดยรัฐมนตรีกลาโหมทั้งสามชาตินี้มีการประชุมกัน ก่อนจะออกมาระบุว่าที่ผ่านมามีเพียงสหรัฐเป็นหลักที่ส่งความช่วยเหลือทางการทหารมาให้ และอาจถึงเวลาที่ชาติอื่นๆจะมีส่วนร่วมมากขึ้น

อาทิส ปาร์บิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลัตเวียระบุว่า สิ่งที่ประเทศบอลติกต้องทำอยู่ในขณะนี้คือ ไม่ใช่แค่การปกป้องความมั่นคงของบอลติกแต่เป็นของทั้งยุโรป

นอกจากนี้อินกรีดา ซิโมนีเต นายกรัฐมนตรีลิทัวเนียได้ออกโรงเตือนรัสเซียเรื่องความคิดที่จะบุกยูเครนว่าเหตุการณ์นี้เหมือนวิกฤตการณ์โปแลนด์-ลิทัวเนียในปี 1938 ที่ตอนนั้นโปแลนด์และลิทัวเนียแย่งเมืองวิลนีอุสกัน

โดยการแย่งดังกล่าวทั้งสองฝ่ายไม่ยอมกันแม้จะมีการใช้วิธีทางการทูตก็ตาม หลังจากนั้นปัญหานี้ก็ได้ดึงผู้เล่นทั้งประเทศบอลติกและมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสมานั่งเจรจาหาทางออกร่วมกัน เหมือนสถานการณ์ในตอนนี้

ชซิโมนีเต ย้ำชัดว่าทุกชาติควรพูดออกมาตรงๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ และไม่ควรกลัวชาติเผด็จการอย่างจีนหรือรัสเซีย

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ