ไบเดน ขู่ รัสเซียถ้าบุกยูเครน ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 จะไม่ได้เปิดใช้
สหรัฐฯชี้รัสเซียกำลังปลอมหลักฐานใช้เป็นข้ออ้างบุกยูเครน
เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นท่ามกลางการเพิ่มกำลังและการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของรัสเซีย ก่อนจะเปิดฉากการซ้อมรบกับประเทศเบลารุสในอีกสองวันข้างหน้า
นักการทูตระดับสูงของยุโรปคนหนึ่งระบุว่า ยุโรปกำลังอยู่ในสภาวะความอันตรายด้านความมั่นคงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
การจะต่อรองหรือกดดันรัสเซียไม่ให้บุกยูเครน ไม่ว่าจะเป็นด้วยทางการทหารหรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ พันธมิตรต้องมีความเห็นตรงกัน แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น
ผู้เล่นสำคัญที่เป็นพันธมิตรของยูเครนนอกจากสหรัฐฯ แล้วก็คือ สหภาพยุโรป ซึ่งมีพี่ใหญ่คือ เยอรมนี
ในทางการทหาร เยอรมนียังไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการส่งกำลังเข้าไปช่วยสนับสนุนนาโตในประเทศยุโรปตะวันออกเหมือนกับสมาชิกชาติอื่นอย่างสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร นอกจากนี้เยอรมนียังไม่ส่งอาวุธในยูเครนตามที่ยูเครนร้องขอ ขณะที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร หรือแม้แต่แคนาดาส่งไปให้ยูเครนหลายล็อตแล้ว
ส่วนถ้าสหรัฐฯ และชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย เยอรมนีจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ก็ยังเป็นคำถามที่ใหญ่มากเช่นกัน
ท่าทีของเยอรมนีถูกหลายฝ่ายจับตาหลายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อคืนที่ผ่านมาที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนี เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยในเรื่องนี้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน
หลังการหารือหลายชั่วโมง ผู้นำทั้งสองเปิดแถลงข่าว โดยมีเนื้อหาหลัก ๆ คือ สหรัฐฯ และเยอรมนียืนยันการเป็นพันธมิตรและจะทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อคลี่คลายวิกฤตนี้ โดยจะพยายามแก้ปัญหาผ่านวิธีทางการทูตเพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อลงในรายละเอียดใต้คำพูดสวยหรูทางการทูตก็จะเจอปัญหาใหญ่
เพราะสหรัฐฯ กับเยอรมนีมีผลประโยชน์ในรัสเซียไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน นั่นทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเห็นตรงกันได้
ผลประโยชน์ที่สำคัญของเยอรมนีในรัสเซีย คือ พลังงาน ถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงคือ โครงการท่อส่งก๊าซที่ชื่อนอร์ดสตรีม 2
ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 เป็นท่อส่งก๊าซที่มีความยาวกว่า 1,200 กิโลเมตร โดยโครงการนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2018 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดใช้
นอร์ดสตรีม 2 เป็นท่อก๊าซที่เริ่มจากตะวันตกของรัสเซีย ข้ามใต้ทะเลบอลติก และไปสิ้นสุดไปที่ตอนเหนือเยอรมนี เป็นโครงการส่งพลังงานจากรัสเซียไปที่ยุโรปโดยไม่ผ่านยูเครนเหมือนกับโครงการก่อนหน้านี้ เจ้าของโครงการคือ บริษัทก๊าซพรม ซึ่งมีรัฐบาลรัสเซียถือหุ้นใหญ่ งบประมาณโครงการมากถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.66 แสนล้านบาท หากเปิดใช้นอร์ดสตรีม 2 สามารถส่งก๊าซให้เยอรมันได้ถึง 5.5 หมื่นล้านลูกบาก์เมตรต่อปี เพียงพอให้ชาวเยอรมัน 26 ล้านคนอยู่รอดในช่วงฤดูหนาว และสำหรับรัสเซีย นี่คือรายได้มหาศาลที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป
โครงการนอร์ดสตรีมถูกพูดถึงบ่อยมากในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรอบนี้ เพราะสหรัฐฯ พูดหลายครั้งว่า จะใช้นอร์ดสตรีมเป็นตัวกดดันไม่ให้รัสเซียแข็งกร้าว
ขณะนี้เยอรมนีอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะตัวเองต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ปรากฏภาพที่ผู้นำเยอรมนีเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ในระหว่างการแถลงข่าว ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้ารัสเซียบุกยูเครน โครงการนอร์ดสตรีม 2 จะถูกยุติทันที นักข่าวถามต่อว่า โครงการจะยุติยังไง แล้วเยอรมนีจะยอมหรือไม่? คำตอบจากไบเดนคือ เขาสามารถยุติโครงการนี้ได้แน่นอน
โอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำเยอรมนียืนอยู่ข้าง ๆ ไบเดนระหว่างแถลงข่าว ต้องบอกว่า บรรยากาศค่อนข้างกระอักกระอ่วนเมื่อนักข่าวถามผู้นำเยอรมนีว่า ตกลงจะระงับโครงการนอร์ดสตรีม 2 อย่างที่ผู้นำสหรัฐฯ ว่าไว้หรือไม่ ถ้ารัสเซียบุกยูเครน ไม่มีคำตอบจากผู้นำฝั่งเยอรมนี เขาหลีกเลี่ยงที่จะตอบหรือแม้แต่เอ่ยชื่อโครงการนอร์ดสตรีม 2 แม้นักข่าวจะถามย้ำ แต่ผู้นำเยอรมนีก็ไม่ยอมตอบ
ความไม่ชัดเจนของเยอรมนีว่าจะยอมให้สหรัฐฯ ใช้โครงการนอร์ดสตรีม 2 มาเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัสเซีย อาจทำให้เครื่องมืออย่างการคว่ำบาตรที่โลกตะวันตกจะนำมาใช้กับรัสเซียมีอานุภาพน้อยลง
อีกหนึ่งความพยายามทางการทูตในการคลายวิกฤตคือ การเดิงทางไปมอสโควของผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่ปิดห้องหารือกับผู้นำรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินถึง 5 ชั่วโมง ก่อนที่ทั้งคู่จะออกมาแถลงข่าว
แน่นอนว่ามีภาษาทางการทูตออกมาตามคาด นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายจะพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยผู้นำฝรั่งเศสระบุว่า ทางประธานาธิบดีปูตินพร้อมที่จะประนีประนอมและจะศึกษาข้อเสนอคลี่คลายวิกฤตที่ฝรั่งเศสร่างและส่งมาอย่างจริงจัง
ผู้นำเศสเศสพยายามโน้มน้าวให้คนเชื่อว่าวิกฤตนี้ยังมีทางออกทางการทูต แต่ก็ยอมรับว่า ทางออกของเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย
ผู้นำรัสเซียซึ่งอยู่ในที่แถลงข่าวกับประธานาธิบดีมาครง เริ่มต้นด้วยการพูดขอบคุณความพยายามของผู้นำฝรั่งเศส ในการคลี่คลายวิกฤต ความพยายามสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งของการแถลงข่าวที่อาจจะเป็นสัญญานที่บอกว่า รัสเซียจะไม่ถอยหรือประนีประนอมในสิ่งที่ตัวเองเรียกร้อง
ก่อนอื่นไปดูก่อนว่า ที่รัสเซียเรียกร้อง คือ มี 3 ข้อ
1.ยุติหรือป้องกันการขยายอิทธิพลของนาโต
2.สัญญาว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก
3.ยกเลิกการประจำการอาวุธในประเทศยุโรปตะวันออก และให้กลับไปยึดข้อตกลงที่รัสเซียทำกับนาโตไว้เมื่อปี 1997
แน่นอนว่าทั้ง 3 ข้อคือประเด็นการพูดคุยที่ยาวนาน 5 ชั่วโมงระหว่างปูตินกับมาครง
ในทางการทูต วิกฤตจะคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายยอมประนีประนอม สำหรับประธานาธิบดีปูติน ดูเหมือนว่าเขาจะยืนในจุดเดิม ไม่ประนีประนอม โดยเฉพาะประเด็นการรับยูเครนเป็นสมาชิกนาโต
สิ่งที่ปูตินพูดคือ รัสเซียยอมไม่ได้ถ้านาโตรับยูเครนเป็นสมาชิก เพราะนั่นหมายความว่า สิ่งที่ยูเครนและนาโตจะทำต่อจากนั้นคือ การเอาไครเมียกลับคืน นี่คือการเข้าสู่การเผชิญหน้าทางการทหารอย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีใครรู้ว่า ข้อเสนอที่ฝรั่งเศสร่างและส่งให้รัสเซียเพื่อเป็นหาทางคลี่คลายความขัดแย้งพูดถึงประเด็นนี้ไว้หรือไม่ และรายละเอียดเป็นอย่างไร และในที่สุดความพยายามของฝรั่งเศสจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ล่าสุดเมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมาปรากฏภาพของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พบปะกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่พระราชวังมารียินสกี หรือที่ทำการประธานาธิบดีของยูเครน และทั้งคู่ได้นั่งโต๊ะเจรจาร่วมกันเรียบร้อย
ด้านโวโลดิมีร์ เฟเซนโก นักวิเคราะห์ด้านรัฐศาสตร์มองว่า การเจรจาระหวางรัสเซียกับฝรั่งเศสยังไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล เพราะแม้ว่าสงครามหรือการโจมตีจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ความขัดแย้งกำลังกระทบต่อเศรษฐกิจของยูเครน ที่ย่ำแย่อยู่แล้วเป็นทุนเดิม
หลังมีภาพประธานาธิบดีมาครงเยือนยูเครนออกมา ทางรัฐบาลเครมลินก็ออกมาชี้แจงสยบข่าวลือว่า ทางประธานาธิบดีปูติน ไม่ได้ให้สัญญากับมาครงแต่อย่างใด ว่าจะไม่ดำเนินการซ้อมรบใกล้ชายแดนยูเครน พร้อมกันนั้นล่าสุดยังได้เผยภาพของเรือรบจำนวน 6 ลำ ของรัสเซีย ที่เพิ่งเดินทางมาถึงทะเลดำ เพื่อเตรียมซ้อมรบ โดยก่อนหน้านี้ทางกลาโหมรัสเซียเคยประกาศว่าจะดำเนินการซ้อมรบทางน้ำตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงแปซิฟิกในช่วงเดือนนี้ ทั้งนี้ทะเลดำอยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ไม่ไกลจากแหลมไครเมีย และการซ้อมรบนี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้สถานการณ์
เรื่องใหญ่ ๆ ที่ไม่ยอมกันคือ นาโตและสหรัฐฯ ต้องสัญญาว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก และอีกเรื่องคือ นาโตต้องถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออก แต่ปัญหาก็คือ ไม่เฉพาะนาโตจะไม่ยกเลิกประจำการอาวุธและทหารในยุโรปตะวันออก แต่จะมีการเพิ่มกำลังขึ้นและอยู่ยาวด้วย
เลขาธิการองค์การนาโตเปิดแถลงข่าว โดยระบุว่านาโตกำลังพิจารณาเพิ่มกำลังในจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างประเทศแถบบอลติกและโปแลนด์ให้มากขึ้นอีก ย้ำว่าภัยจากรัสเซียมีสูงมาก หากพิจารณาจากจำนวนทหารัสเซียที่ประชิดชายแดนยูเครนอยู่ตอนนี้ และไม่เฉพาะการเพิ่มกำลังทหารเท่านั้น แต่นาโตอาจคงกำลังแบบนี้ไว้ในระยะยาว
โดยเลขาธิการนาโตประกาศว่า ถ้าความประสงค์ของรัสเซียคือการเห็นทหารนาโตน้อยลงในยุโรปตะวันออก รับรองว่ารัสเซียจะไม่ได้อย่างที่หวังไว้แน่นอน
ทั้งนี้กำลังส่วนใหญ่ของนาโตขณะนี้อยู่ที่ประเทศในบอลติกคือ ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย และโปแลนด์ ซึ่งเป็นการวางกำลังไว้นับตั้งแต่รัสเซียผนวกไครเมียเมื่อปี 2014 โดยการส่งทหารเพิ่มเติมของนาโตขึ้นอยู่กับว่ารัสเซียจะมีการถอนกำลังออกจากเบลารุสหลังการฝึกซ้อมรบเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่
นี่คือส่วนหนึ่งของกองกำลังนาโตในประเทศเอสโตเนียที่ประจำการห่างจากชายแดนรัสเซียประมาณ 100 กิโลเมตร โดยทหารเหล่านี้กำลังฝึกซ้อมรบท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นจัดจนติดลบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเพราะนี่คือสภาพของภูมิประเทศและสภาพอากาศที่พวกเขาจะเจอหากมีการต่อสู้เกิดขึ้น
นอกจากนี้สหรัฐฯและนาโตก็มีการกระจายกำลังพลที่สหรัฐเพิ่มมาให้ 3,000 นายอย่างต่อเนื่องใน 2 ประเทศยุโรปตะวันออกอีก โดยเฉพาะในโรมาเนียและโปแลนด์
ล่าสุด สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสมาชิกนาโตประกาศเพิ่มกำลังให้อีก 350 นาย เพื่อประจำการในประเทศโปแลนด์
โดยคนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ เบน วอลเลซ ซึ่งได้เข้าพบเพื่อหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมของโปแลนด์เมื่อคืนที่ผ่านมาในกรุงลอนดอนของอังกฤษ
โปแลนด์เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกนาโตเพิ่มกำลังไปที่นั่นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยโปแลน์ถือว่าเป็นด่านสำคัญในความขัดแย้งครั้งนี้เพราะมีพรมแดนติดกับเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย และขณะนี้รัสเซียได้ขนกำลังไปที่เบลารุสเป็นจำนวนมากโดยอ้างว่าเพื่อซ้อมรบ
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองคือ ความเคลื่อนไหวของกองกำลังรัสเซียในเบลารุส เนื่องจากอีก 2 วันจะมีการซ้อมรบใหญ่ของทั้งสองชาติ โดยคาดว่าจะเป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
รัสเซียมีการะดมอาวุธทางบกและกองกำลังไปยังเบลารุส
ส่วนทางอากาศก็ไม่น้อยหน้า เพราะปรากฏอากาศยานศักยภาพสูงจำนวนมา เช่น เครื่องบินโจมตีรุ่น Su-25SM หรือ ซูคฮอย เอสยู-25 เอสเอ็ม
เครื่องบินรุ่นนี้สามารถยิงขีปนาวุธอากาศรุ่นวึมเปียล R-73 ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้และจรวดชนิด S-13T ซึ่งเป็นจรวดขนาดเล็กที่สามารถเจาะเกราะและกระจายระเบิดได้
นอกเหนือจาก Su-25SM แล้วยังมีเครื่องบิน Tu-22M3 ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล พิสัยทำการอยู่ที่ 6,800 กิโลเมตร มีเพดานบินสูง 13,000 เมตร สามารถบรรทุกอาวุธหนักได้ถึง 24 ตัน ที่สำคัญคือTu-22M3 ทำความเร็วได้สูงสุดที่ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วเหนือเสียง
เครื่องบินรบรุ่นนี้ถูกใช้เมื่อปี 2015 เมื่อรัสเซียปฏิบัติการทางอากาศถล่มฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดในซีเรีย มีรายงานว่าเครื่องบิน Tu-22M3 ของรัสเซียสองลำได้บินอยู่เหนือน่านฟ้าของเบาลารุสตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา
เครื่องบินรบอีกตัวที่รัสเซียส่งมาคือ Su-30
กระทรวงกลาโหมรัสเซียปล่อยภาพ Su-30 ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีของรัสเซียที่ถอดแบบมาจากเครื่องบิน F-15E ของสหรัฐฯ ขีดความสามารถของเครื่องบินรุ่นนี้ คือ สามารถปล่อยอาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่พื้นได้ โจมตีเรือและภาคพื้นดินได้ โดยมีพิสัยยิงไกลถึง 300 กิโลเมตร
ภาพเครื่องบิน Su-30 บินอยู่เหนือน่านฟ้าเบลารุส ถูกปล่อยออกมาในขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสประธานาธิบดีมาครงพบกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียที่มอสโกเมื่อคืนที่ผ่านมา
การระดมกำลัง รวมถึงจุดยืนของคู่ขัดแย้ง และหนทางทางการทูตที่ท้าทาย ทำให้หลายคนมองว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและพันธมิตรในคราวนี้ยังสุ่มเสี่ยงเปราะบางมากจนอาจนำไปสู่ภาวะสงครามได้
ณ ตอนนี้ ในแวดวงทางการทูตของยุโรปเต็มไปด้วยความกังวล หนึ่งในคนที่ออกมาพูด คือ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงสหภาพยุโรป โจเซฟ บอร์เรล
บอร์เรลแถลงข่าวหลังพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนว่า ขณะนี้ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงอันตรายด้านความมั่นคงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น
ในขณะนี้ต่างฝ่ายต่างอยู่ในจุดที่ต้องตัดสินใจและวัดใจกัน การวัดใจดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการเปิดฉากการซ้อมรบใหญ่ในรอบหลายปีของรัสเซียและรัสเซียและเบลารุสเพียง 2 วัน
ต่างฝ่ายต่างต้องเดินเกมอย่างระมัดระวัง เพราะหากพลาดเพียงนิดเดียวผลลัพธ์อาจหมายถึงสงคราม เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป