หมีขาวปลุกพญาอินทรีดำ เยอรมนีส่งออกอาวุธอีกครั้ง หลังรัสเซียบุกยูเครน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ก้าวที่รัสเซียคาดไม่ถึง เจ้าพ่อผู้ผลิตอาวุธอย่างเยอรมนีประกาศส่งอาวุธให้ยูเครน ยอมเสียคำสัญญาที่ให้ไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 เป็นต้นมา ประเทศเยอรมนี หรือที่เคยถูกเรียกว่า “นาซีเยอรมัน” ผู้จุดชนวน ก็ให้คำมั่นต่อประชาคมโลกว่า จะดำเนินนโยบายลดงบประมาณด้านการทหารและกลาโหม และงดการส่งออกอาวุธสงครามไปยังพื้นที่ข้อพิพาทใด ๆ ซึ่งเยอรมนีก็รักษาคำพูดที่ให้ไว้ตลอดมา

แต่สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ลุกลามปานปลายกลายเป็นสงคราม ก็ทำให้เยอรมนียอมกลืนน้ำลายตัวเอง

ผู้แทนเจรจายูเครน-รัสเซีย ถึงเบลารุสแล้ว

สหรัฐฯ เผย เบลารุสเตรียมส่งกำลังทหารช่วยรัสเซียบุกยูเครน

อียู ตอบโต้รัสเซีย จัดซื้อและส่งอาวุธให้กับยูเครน ยกระดับมาตรการคว่ำบาตร

เมื่อวันเสาร์ (26 ก.พ.) ที่ผ่านมา โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ประกาศการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ต่อรัฐสภา โดยกล่าวว่า จะมีการจัดตั้งงบประมาณมูลค่า 1 แสนล้านยูโร (ราว 3.65 ล้านล้านบาท) ในทันที เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกองกำลังติดอาวุธของประเทศ และจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้

ชอลซ์ยอมรับว่า วิกฤตการณ์ในยูเครนได้บีบให้เยอรมนีต้องตัดสินใจกลับมาลงทุนในด้านกลาโหม “เป็นที่ชัดเจนว่า เราต้องลงทุนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในความมั่นคงของประเทศของเรา เพื่อปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของเรา”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากรัฐบาลเยอรมนีประกาศเซอร์ไพรส์ว่า จะส่งอาวุธและเสบียงอื่น ๆ ไปยังยูเครน รวมถึงอาวุธต่อต้านรถถัง 1,000 ชิ้น ขีปนาวุธสติงเกอร์ 500 ลูก และน้ำมันอีกหลายพันแกลลอน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เยอรมนีประกาศตัวชัดว่า จะให้ความสนับสนุนยูเครนด้านการแพทย์เท่านั้น

ผู้นำยูเครน เผย รัสเซียส่งทหารรับจ้างเข้ามาลอบสังหาร

งบประมาณด้านการป้องกันประเทศในระยะยาวของเยอรมนีจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2% ของ GDP เมื่อเทียบปีต่อปี เมื่อเทียบกับขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.5% ของ GDP โดยเยอรมนีอยู่ภายใต้แรงกดดันจากพันธมิตรนาโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ให้เพิ่มงบประมาณในส่วนนี้มาเป็นเวลาหลายปี

เยอรมนีถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาติพันธมิตรมานานแล้วว่า ไม่ยอมเพิ่มการใช้จ่ายด้านอาวุธหรือการป้องกันประเทศ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกในหมู่ประชาชนที่ยังฝังใจกับ “นาซี” หน้าประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายของเยอรมนี

และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เยอรมนีถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ไม่ได้ให้การสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิเสธที่จะส่งอาวุธเพื่อช่วยยูเครนในการป้องกันตัวเองจากรัสเซีย

นอกจากการประกาศส่งอาวุธในประเทศไปยังยูเครนและการลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านกลาโหมแล้ว เยอรมนียังได้ยกเลิกข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับการส่งอาวุธที่ผลิตในเยอรมนีที่อยู่ในประเทศอื่นไปยังพื้นที่ขัดแย้ง โดยล่าสุดได้ร้องขอให้เอสโตเนียและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอาวุธที่เยอรมนีเป็นคนผลิต ส่งอาวุธเหล่านั้นไปยังยูเครน

การตัดสินใจของเยอรมนีครั้งนี้ เปรียบได้กับการ “ตื่นจากการจำศีล” เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์และกระสุนต่าง ๆ ทั่วยุโรป “ส่วนใหญ่ผลิตโดยเยอรมนี” ซึ่งเดิมทีเยอรมนีใช้กฎหมายควบคุมการโอนย้ายอาวุธของพวกเขาอย่างเข้มงวด ทำให้ชาติต่าง ๆ ที่ซื้ออาวุธที่ผลิตโดยเยอรมนี ไม่สามารถเคลื่อนย้ายอาวุธเหล่านั้นได้ตามใจชอบ

นั่นหมายความว่า หากเยอรมนีตัดสินใจสนับสนุนอาวุธให้กับยูเครนอย่างเต็มกำลัง ให้ประเทศต่าง ๆ ส่งอาวุธที่เยอรมนีผลิตไปให้ยูเครนได้ ก็เรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของรัสเซียเลยทีเดียว

แต่ทั้งนี้ จุดยืนที่เปลี่ยนแปลงของเยอรมนีก็ไม่ได้แปลว่า คำขอส่งอาวุธให้ยูเครนทั้งหมดจะได้รับการอนุมัติเสมอไป เนื่องจากเยอรมนีจะยังคงพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณีไป

โดยคำขอที่ได้รับอนุมัติแล้วคือ เนเธอร์แลนด์จะส่งเครื่องยิงลูกระเบิด 400 เครื่อง และเอสโตเนียจะจัดส่งปืนครก 9 กระบอก ให้กับยูเครน

“การรุกรานยูเครนของรัสเซียถือเป็นจุดเปลี่ยน มันคุกคามคำมั่นหลังสงครามทั้งหมดของเรา ในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนยูเครนในการป้องกันตนเองจากกองทัพของวลาดิเมียร์ ปูติน เยอรมนีจะยืนหยัดเคียงข้างยูเครนอย่างใกล้ชิด” ชอลซ์กล่าว

การประกาศต่อรัฐสภาของชอลซ์ได้รับเสียงต้อนรับที่ดี โดยชอลซ์ถึงกับได้รับเสียงปรบมือต้อนรับในการประชุมเช้าวันอาทิตย์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนแสดงความไม่เห็นด้วย

ชอลซ์กล่าวว่า การตัดสินใจของปูตินในการเปิดสงครามรุกรานยูเครน “เป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของทวีปยุโรป”

“ความขัดแย้งทางทหารจะยืดเยื้อ ... นี่เป็น “สงครามของปูติน” ไม่ใช่สงครามของชาวรัสเซีย ... ความขัดแย้งนี้จะเปลี่ยนโลก และจะกลายเป็นภัยพิบัติสำหรับยูเครนและหายนะสำหรับรัสเซีย” ชอลซ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ชอลซ์กล่าวว่า เขายังไม่ทิ้งการใช้นโยบายทางการทูตกับรัสเซีย “เราต้องการการเจรจาต่อรองให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่อย่างคนไร้เดียงสา ... เราไม่ปฏิเสธที่จะจัดการเจรจากับรัสเซีย แม้ในสถานการณ์สุดโต่งเช่นนี้ งานของการทูตก็คือขยายช่องทางการสื่อสารให้เปิดกว้าง”

เบลารุสผ่านประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เพิกถอนสถานะ "รัฐไร้นิวเคลียร์"

เรียบเรียงจาก Politico / The Guardian

ภาพจาก AFP

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ