สหภาพยุโรปเสนอแผนระงับนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เครื่องมือหนึ่งที่สหภาพยุโรปใช้เพื่อตอบโต้รัสเซียที่บุกยูเครนคือ การคว่ำบาตรและหนึ่งในการคว่ำบาตรที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ คว่ำบาตรพลังงาน ไม่ซื้อก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อตัดช่องทางการหาเงินในการทำสงครามของรัสเซียแต่ก็ไม่ง่ายเพราะยุโรปพึ่งพาพลังงานของรัสเซียสูงมาก ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ข้อเสนอล่าสุดที่ออกมาจากคณะกรรมมาธิการยุโรปที่ให้ยุติการซื้อน้ำมันจากรัสเซียภายในปลายปีนี้จึงอาจต้องสะดุด

คืนที่ผ่านมา ( 4 พ.ค.) เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรปให้ประเทศสมาชิกอียูระงับการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน

โดยการนำเข้าน้ำมันดิบให้ระงับภายใน 6 เดือน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันกลั่นให้ระงับการนำเข้าภายในสิ้นปีนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย รัสเซียสามารถผลิตน้ำมันได้ราว 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

รัสเซียกลายเป็นชาติที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด

รัสเซียจ่อบังคับ "ชาวเมืองเคอร์ซอน" ใช้เงินรูเบิล

ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากและในจำนวนนี้ 5 ล้านบาร์เรล หรือเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำมันที่รัสเซียผลิตได้ต่อวัน ถูกส่งออกไปให้กับชาติต่าง ๆ ในยุโรป

เป็นที่น่าสังเกตว่า การประกาศคว่ำบาตรพลังงานของอียูคราวนี้มีเพียงน้ำมัน ไม่มีก๊าซธรรมชาติ ซึ่งยุโรปต้องพึ่งพารัสเซียสูงมากเช่นเดียวกัน แต่เพียงแค่คว่ำบาตรน้ำมันก็มีปัญหาแล้ว เพราะดูเหมือนสมาชิกบางชาติไม่เห็นด้วย

มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิกอียูทั้ง 27 ชาติก่อนจึงจะออกมาและมีผลบังคับใช้ ได้ แต่ขณะนี้มีอย่างน้อย 2 ชาติแล้วที่บอกไม่สามารถทำได้ คือ ฮังการี และ เช็ก

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการีออกมาบอกว่า ฮังการีจะโหวตสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรชุดนี้ ก็ต่อเมื่อไม่มีเรื่องการขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียเข้ามาอยู่ในมาตรการ ที่ทำเช่นนี้เพราะต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานของฮังการี

รัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการี ย้ำว่า ที่ฮังการีต้องขัดมติของสหภาพยุโรปนั้นไม่ได้มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ในทางการเมือง หรือละทิ้งความรับผิดชอบในฐานะส่วนหนึ่งของอียู

แต่เป็นเพราะฮังการียังมีความท้าทายในเรื่องลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ต้องเผชิญ เช่น อากาศที่หนาวเย็นเกือบทั้งปี ทำให้ต้องใช้พลังงานจากรัสเซียเพื่อสร้างความอบอุ่นตามบ้านเรือน

นี่คือสาเหตุที่ฮังการียังไม่สามารถตัดขาดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันจากรัสเซียได้ตอนนี้ ฮังการีอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีในการยุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

อีกหนึ่งประเทศที่ยังไม่เห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันคือ สาธารณรัฐเช็ก ปีเตอร์ เฟียลา นายกรัฐมนตรีสาธารณเช็กกล่าวว่า เช็กยินดีที่จะสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรนี้ แต่อาจขอสหภาพยุโรปทำข้อยกเว้นเรื่องน้ำมัน เนื่องจากต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งน้ำมัน ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี

แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะหาน้ำมันจากแหล่งอื่นมาทดแทน?ถึงแม้การหาแหล่งน้ำมันทดแทนอาจง่ายกว่าการจัดหาก๊าซ เพราะมีประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ง่ายมากเพราะน้ำมันคือเรื่องการเมือง

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขอให้ซาอุฯ เพิ่มการผลิตเพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ซาอุฯ ปฏิเสธคำขอก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC)

ซึ่งน้ำมันจากกลุ่ม OPEC คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในตลาดระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ OPEC จึงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก และตั้งแต่เกิดสงคราม ท่าทีของซาอุดิอาระเบียยังไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน เพราะในวันที่มีการลงมติประณามรัสเซียจากการรุกรานยูเครน ซาอุดิอาระเบียเป็น 1 ใน 141 ชาติที่โหวตเห็นชอบมติดังกล่าว

แต่ในการโหวตเพื่อระงับสถานะรัสเซียในคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน ซาอุดิอาระเบียกลับโหวตงดออกเสียง

ท่าทีเช่นนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าซาอุดิอาระเบียไม่ต้องการเลือกข้าง และไม่ต้องการเข้าร่วมกับสงครามครั้งนี้ เพราะซาอุดิอาระเบียเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การวางนโยบายความมั่นคงหรือนโยบายต่างประเทศเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ตั้งแต่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ด้านการทหาร รวมถึงเรื่องส่วนตัว

สหภาพยุโรปเสนอแผนระงับนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย

ซาอุดิอาระเบียเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน โดยทั้งสองร่วมมือกันเพื่อต้านอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียเกิดเรื่องหมางกัน

เมื่อปี 2018 จามาล คาช็อคกี นักข่าวชาวซาอุ ถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในนครอิสตันบูลของตุรกี

สหรัฐฯ ออกมากล่าวเป็นทำนองว่า ผู้บงการอาจจะเป็น เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ของซาอุดิอาระเบีย เพราะคาช็อคกีคือคนวิพากษ์วิจารณ์พระองค์อย่างเปิดเผย

หลังจากนั้น ตอนที่ผู้นำโลกรวมตัวกันที่กรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินาเพื่อร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ จี 20 ช่วงปลายปี 2018

ผู้นำชาติตะวันตกส่วนใหญ่ได้แสดงความเย็นชาต่อพระองค์ แต่ประธานาธิบดีปูตินได้ทักทายพระองค์อย่างเป็นกันเอง

หลายคนจึงพูดว่า สิ่งนี้อาจทำให้มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน มีความรู้สึกทางบวกต่อประธานาธิบดีปูตินและไม่เคยลืมเรื่องนี้

นอกเหนือจากเหตุผลนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียปฏิเสธไม่เพิ่มการผลิตตามที่สหรัฐฯร้องขอ เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ เพราะซาอุได้ประโยชน์เต็มๆ จากสงครามในยูเครน

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ความเฟื่องฟูของภาคน้ำมันกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวถึง 9.6% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021

สำนักงานสถิติแห่งชาติซาอุดิอาระเบียระบุในการประมาณการเบื้องต้นที่เผยแพร่ทางออนไลน์ว่า ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ที่แท้จริงของซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีอาจเติบโตมากที่สุดในรอบ 10 ปี

ทั้งนี้ทำให้ซาอุฯ ที่ถึงแม้จะสนับสนุนมติประณามรัสเซียในยูเอ็น แต่ก็ไม่เคยออกมาแสดงท่าทีใด ๆ ที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย และปูตินอีกหลังจากนั้น

มากไปกว่านั้น ซาอุดิอาระเบียยังปฏิเสธคำขอร้องของสหรัฐฯ ที่ให้ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อพยุงราคาตลาดโลกด้วย

นอกจากซาอุดิอาระเบีย อีกทางเลือกหนึ่งที่ชาติตะวันตกจะพึ่งพาน้ำมันได้คือ เวเนซุเอลา

ประเทศนี้เคยเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐ ฯ แต่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรไปตั้งแต่ช่วงปี 2017

ขณะนี้ สหรัฐฯ อาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดังกล่าว เพื่อผูกมิตรกับเวเนซุเอลาและเจรจาเรื่องการซื้อ-ขายน้ำมันกันอีกครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจคือ วันนี้ สมาชิกประเทศโอเปกจะมีการประชุมเพื่อหารือเรื่องปริมาณน้ำมันประจำเดือนมิถุนายนที่จะส่งออกมาขายในตลาดโลก

อาจจะต้องดูผลการประชุมในวันนี้ ( 5พ.ค.)ว่า กลุ่มประเทศโอเปกจะตัดสินใจเพิ่มปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจในวันนี้จะส่งผลต่อราคาน้ำมันทั่วโลก และอาจส่งผลต่อมาตรการการคว่ำบาตรที่สหภาพยุโรปกำลังหารือกันอยู่ในเวลานี้ด้วย

โควิดวันนี้ (6พ.ค.) ยอดติดเชื้อรายใหม่ 7,705 ราย เสียชีวิต 62 ราย

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ