คลื่นความร้อนกับชีวิตไร้ร่มเงาของแรงงานรายวันอินเดีย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ท่ามกลางสภาพอากาศอันร้อนระอุ คนที่ลำบากที่สุดคือบรรดาแรงงานรายวันที่ต้องทนทำงานกลางแจ้ง อินเดียไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจากอากาศร้อน ที่นับวันยิ่งจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่คนจะทำงานกลางแดดได้

พระอาทิตย์ดวงกลมสีส้มค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้า สัญลักษณ์ของวันใหม่ แต่สำหรับฤดูร้อนเช่นนี้ การกลับมาอีกครั้งของดวงอาทิตย์คือสัญญาณของ กลางวันอันแผดเผา

โยเกนดรา ทุนดรี อาบน้ำแต่เช้าตรู่ ก่อนที่ความร้อนจะทำให้น้ำประปากลายเป็นน้ำอุ่น หวีผมเผ้า แต่งเนื้อตัวให้ดูดีที่สุดก่อนจะออกไปทำงาน ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ผมที่จัดทรงจะยุ่งเหยิง ผิวกายมันเยิ้ม เสื้อผ้าชุ่มโชกจากเหงื่อไคล ชีวิตของแรงงานไม่เคยง่าย และลำบากยิ่งกว่าเดิมในฤดูร้อน

64% ของพนักงานทั่วโลกอยากลาออก เมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา

ประชากรแมลงลดฮวบ แต่อาจส่งผลจำนวนแมลงน่ารังเกียจพุ่ง

เช่นเดียวกับลูกจ้างรับเหมาก่อสร้างจำนวนมาก โยเกนดรามีรายได้รายวัน นั่นหมายความว่าวันใดที่ไม่ทำงาน เขาจะไม่ได้เงิน

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว งานแบกหามติดกันหลายชั่วโมงทำให้ลูกจ้างล้มป่วยและต้องการเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า

ที่ซ้ำร้ายคือความร้อนดูเหมือนจะตามหลอกหลอนเขาตลอดเวลา เพราะต่อให้เลิกงานแล้ว แต่ที่พักมุงหลังคาก็ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมากนัก

นั่นหมายความว่า จะวันหยุดหรือวันทำงาน ไม่มีวันไหนที่เขาและครอบครัวหนีพ้นจากความร้อน

ความลำบากของโยเกนดราคือผลพวงจากปัญหาใหญ่ในอินเดียที่ขณะนี้กำลังกระทบทุกชีวิตไม่ว่าจนหรือรวย

คลื่นความร้อนที่พัดผ่านพื้นที่ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและบางส่วนของปากีสถานส่งผลให้บางพื้นที่เช่น กรุงนิวเดลีมีอุณหภูมิสูงถึง 49.2 องศาเซลเซียส ในขณะที่เมืองจาโคบาบัด เมืองที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดในประเทศ อุณหภูมิแตะ 51 องศาเซลเซียส

ร้อนมากแค่ไหน? รายงานจาก Met Office หน่วยงานสำรวจสภาพอากาศของสหราชอาณาจักรระบุว่า อุณหภูเฉลี่ยช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของอินเดียและปากีสถานล่าสุดถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1900

เรียกได้ว่า อากาศร้อนรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบร้อยปี และคำกล่าวนี้ยืนยันได้จากเสียงโอดครวญของบรรดาผู้สูงอายุที่บอกว่า ในชีวิตไม่เคยเจอสภาพอากาศแบบนี้มาก่อน

ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความแปรปรวนนี้คือ ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงร้านซ่อมแอร์ด้วย

หนึ่งในร้านซ่อมแอร์จากรัฐอุตตรประเทศเล่าว่า จำนวนลูกค้าที่นำมาแอร์มาซ่อมมากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากแอร์เก่าไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางอุณหภูมิภายนอกที่สูงขนาดนี้

อย่างไรก็ตามสำหรับบรรดาแรงงานรายวันที่คาดกันว่ามีมากถึง 500 ล้านคนทั่วประเทศ เครื่องปรับอากาศคือสินค้าที่มีราคาเกินจะเอื้อมถึง

ทุกวันนี้รายได้วันต่อวันหมดไปกับค่าอาหาร เงินที่พวกเขาหาได้น้อยเกินไปสำหรับความสะดวกสบาย หรือในกรณีที่เกิดล้มป่วยจากความร้อนในช่วงนี้ ค่ารักษาพยาบาลก็ยังไม่พอจ่าย

ในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางที่แรงงานเผชิญกับอากาศร้อนแบบเดียวกันอย่างน้อยยังมีทางเลี่ยงไม่ให้ตนต้องล้มป่วย

ที่ซาอุดิอาระเบีย มีกฎหมายกำหนดว่า ในฤดูร้อนช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกันยายน แรงงานถูกห้ามไม่ให้ทำงานช่วง 12.00 - 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงร้อนที่สุดของวัน บริษัทใดที่ฝ่าฝืนจะถูกปรับ

หรือที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ แต่รัฐก็กำหนดช่วงเวลาพักกลางวันแบบเดียวกับซาอุดิอาระเบีย และบังคับใช้มานานถึง 17 ปีแล้ว

เหตุผลคือเพื่อสุขภาพของแรงงาน เพราะการทำงานกลางแดดจ้าจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำร้อยละ 30 อย่างรวดเร็ว ก่อนที่เจ้าตัวจะรู้สึกกระหายน้ำเสียอีก ทั้งยังเพิ่มความดันในร่างกาย

ที่ตามมาคืออาการหน้ามืดหรือเป็นลมแดด ซึ่งเสี่ยงจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ทำงานกับปูน เหล็ก และกระจก

แต่อินเดียไม่มีกฎหมายปกป้องแรงงานเหล่านี้จากความร้อนและแสงแดด นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องทนทำงานสู้แดดกันต่อไป

เมื่ออากาศร้อนมากขึ้น ผู้คนก็ต้องการน้ำมากตาม และที่อินเดียช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมเช่นนี้อีกภาพที่ปราฏทุกปีคือ คนต่อแถวรอเติมน้ำ หรือขนเอาภาชนะให้ได้มากที่สุดเพื่อไปเติมน้ำจากแหล่งอื่น เนื่องจากแหล่งน้ำในเขตของตนแห้งขอด

ปัญหาขาดแคลนน้ำกระทบต่อการเกษตร อีกทั้งคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นในปีนี้ยังทำลายผลผลิตที่เก็บได้

รถบรรทุกเหล่านี้จอดรอที่ท่าเรือเมืองกันดลาอย่างไร้จุดหมาย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียประกาศงดส่งออกข้าวสาลี เนื่องจากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีน้อยลง

คำสั่งใหม่มาพร้อมกับราคาข้าวสาลีที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วยราคา 25,000 รูปีต่อตัน หรือราว 11,200 บาทต่อตัน

สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลต่อตลาดอาหารโลก เพราะอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีมากที่สุดอันดับสองรอลงจากยูเครน ประเทศที่ขณะนี้กำลังเผชิญสงคราม

ในอนาคตอันใกล้โลกอาจเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนข้าวสาลี เมื่อคลื่นความร้อนทำลายผลผลิต ส่งผลให้นานาชาติเลือกกักตุนสินค้าให้คนในชาติของตนก่อน

ท่ามกลางความร้อนแผดเผา ชีวิตมนุษย์ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่สุขภาพ อาหาร ไปจนถึงรายได้

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกระทบกับทุกคนในระดับที่ไม่เท่ากัน คนที่มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่เจ็บปวดที่สุด พวกเขาไม่มีทุนทรัพย์ในการปรับตัว ไม่มีเงินสำรองสำหรับดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่จะซื้อความสบายให้ร่างกายเย็นลงบ้าง

ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อร้อนก็ต้องหลบเข้าร่มเงา แต่ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของแรงงานรายวันบีบให้ต้องผจญกับแสงแดด มิฉะนั้นแล้วเมื่อตะวันตกดิน ตนและครอบครัวอาจไม่มีอะไรตกถึงท้อง

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ