เมื่อพูดถึงเรื่องของ “พลังงานนิวเคลียร์” ประเทศหนึ่งซึ่งมีความทรงจำฝังลึกกับนิวเคลียร์คงหนีไม่พ้น “ญี่ปุ่น” ซึ่งผ่านมาทั้งเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา-นางาซากิ และเหตุสารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิหลังเกิดสึนามิ
ในโลกปัจจุบันที่เรื่องของการลดโลกร้อนเป็นวาระสำคัญระดับโลก ซึ่งมีการเสนอให้หลายประเทศใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาล ญี่ปุ่นจึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกครั้งใหญ่
“พลังงานนิวเคลียร์” จำเป็นต่อการลดภาวะโลกร้อนของเอเชีย?
ไม่ใช่แค่โลกร้อน มนุษย์กำลังทำให้สภาพภูมิอากาศโลก “โกลาหล”
“เพนกวินจักรพรรดิ” ขั้วโลกใต้ เสี่ยงสูญพันธุ์ เมื่อธารน้ำแข็งกำลังละลาย
เรื่องของพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นนั้น เป็นมากกว่าเรื่องของประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนสูงซึ่งเป็นที่สนใจและถูกขับเคลื่อนโดยความคิดเห็นของประชาชน
ก่อนสงครามในยูเครน หลายประเทศในเอเชียและยุโรปถือว่าก๊าซรัสเซียเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ปลอดภัยกว่านิวเคลียร์ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นผลพวงจากภัยพิบัติฟุกุชิมะของญี่ปุ่นในปี 2011 แต่เมื่อรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซียด้วยการงดนำเข้าทรัพยากรจากรัสเซีย จนหลายประเทศรวมถึงญี่ปุ่นต้องพิจารณาทบทวนการใช้พลังงานนิวเคลียร์
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คิชิดะ ฟุมิโอะ กล่าวว่า เขาตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตพลังงานอย่างเต็มกำลังแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายหลังการห้ามนำเข้าถ่านหินของรัสเซีย
ยามาโมโตะ ริวโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงด้านพลังงาน กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการสร้างพลังงานด้วยตัวเอง”
ยามาโมโตะกล่าวว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานมาพอสมควร แต่ก็สามารถผ่านมาได้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นต้องจ่ายพลังงานมากขึ้นเพราะมีลักษณะเป็นเกาะ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าฝั่งตะวันออกและตะวันตกใช้ไฟต่างกระแสกัน
ในช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โครงข่ายไฟฟ้าซีกตะวันออกของญี่ปุ่นซึ่งส่งไฟไปยังโตเกียวไม่สามารถรับมือกับความต้องการที่พุ่งสูงได้ จนต้องออกมารณรงค์ให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนใช้พลังงานในระดับปานกลาง
“มันเป็นเทรนด์ระดับโลกในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ การซื้อเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียอย่างต่อเนื่องหมายความว่าเรากำลังมอบเงินทุนเพื่อทำสงคราม” ยามาโมโตะกล่าว
โพลสำรวจความเห็นของนิกเคอิในเดือน มี.ค. พบเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (53%) เห็นด้วยกับการกลับมาดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติฟุกุชิมะ โดยมีเหตุผลว่า คิดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับประชากรญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ความทรงจำของเหตุการณ์ปี 2011 นั้นยังสดใหม่เกินกว่าจะสนับสนุนการกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยมีถึง 38% ที่ตอบว่า ญี่ปุ่น “ต้องไม่ดำเนินการ” ด้านพลังงานนิวเคลียร์
ตามรายงานของสำนักงานฟื้นฟูฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว ระบุว่า ผู้คนราว 39,000 คนยังคงพลัดถิ่นจากที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งหลายเป็นเขตภัยพิบัติ และอีกกว่า 2,500 คนยังคงสูญหาย
แม้ว่าโครงการกำจัดสิ่งปนเปื้อนของรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ผลสำรวจเมื่อเดือน ม.ค. เปิดเผยว่าผู้คนมากกว่า 52% ที่อพยพออกจากนามิเอะ เมืองทางเหนือของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ บอกว่า ไม่มีแผนที่จะกลับไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมอีก
ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนในแถบฟุกุชิมะยังเพิ่มมากขึ้นในปีที่แล้ว เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกว่า 1 ล้านตันจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่ทะเลใกล้เคียง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลก และขณะนี้แผนการอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยคณะทำงานด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ
การเกิดขึ้นของสงครามในยูเครนแม้จะกระตุ้นความต้องการพลังงานทางเลือกและพลังงานนิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อนิวเคลียร์เช่นกัน
โดยหลังจากการบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. กองกำลังรัสเซียได้เข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลใกล้ชายแดนเบลารุส ซึ่งในปี 1986 เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อาคารบางหลังรอบ ๆ โรงไฟฟ้าถูกเผาทำลายเสียหายหนัก
นอกจากนี้ ข่าวการเกิดเพลิงไหม้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้กระตุ้นให้เกิดความไม่ไว้วางใจในพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
นากาโนะ โคอิจิ ศาสตราจารย์ด้านการเมือง มหาวิทยาลัยโซเฟีย กล่าวว่า “สิ่งที่เราเรียนรู้จากสงครามในยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ก็คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อาจเป็นเป้าหมายในยามสงคราม และส่วนนี้ดูเหมือนจะถูกมองข้ามไป ... ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นสนใจในสงครามครั้งนี้เป็นพิเศษ เพราะมันมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา นั่นคือเรื่องของนิวเคลียร์”
ด้าน ซาชา คาเวรินา ผู้ร่วมก่อตั้ง Stand with Ukraine Japan กล่าวว่า “เราได้รับเงินบริจาคมากมายสำหรับช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และผู้บริจาคหลายคนบอกว่า ข่าวการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้พวกเขาต้องการช่วยเหลือชาวยูเครน”
ขณะนี้ ผู้ที่เคลือบแคลงต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นกำลังกลัวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจใช้เรื่องรัสเซียโจมตียูเครนเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์
ทามากิ ยูอิจิโร หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน กล่าวเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่า “หากเราต้องการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย พรรคของเราเชื่อว่า เราควรดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อไป”
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า สำหรับญี่ปุ่นที่นิวเคลียร์เป็นเหมือนฝันร้ายที่ยากจะลบเลือนนี้ จะมีการตัดสินใจเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างไรต่อไป จะก้าวข้ามความหวาดกลัว เพื่อแลกกับพลังงานที่ปลอดภัยต่อโลก หรือจะฝังนิวเคลียร์ไว้ในส่วนลึก แล้วหาทางออกในการปกป้องโลกทางอื่นแทน
เรียบเรียงจาก Nikkei Asia
ภาพจาก AFP