การศึกษาวิจัยชิ้นใหม่จากภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยปอร์โตในโปรตุเกส ได้พยายามทำนายผลกระทบวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศโลก และพบว่า มนุษย์เราไม่ได้แค่ทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่กำลังทำให้สภาพภูมิอากาศโลกก้าวไปสู่ภาวะ “โกลาหล” ด้วย
แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่ได้นำเสนอแบบจำลองผลกระทบสภาพภูมิอากาศโลกที่สมบูรณ์ แต่ก็วาดภาพร่างกว้าง ๆ ว่า โลกเรากำลังมุ่งหน้าไปทิศทางใดหากเราไม่ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
คลื่นความร้อนกับชีวิตไร้ร่มเงาของแรงงานรายวันอินเดีย
“เพนกวินจักรพรรดิ” ขั้วโลกใต้ เสี่ยงสูญพันธุ์ เมื่อธารน้ำแข็งกำลังละลาย
“โอกาสสุดท้ายในการลดโลกร้อน” ต้องลดระดับการปล่อยคาร์บอนให้ได้ใน 3 ปี
ออร์เฟว์ เบร์โตลามี หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะภัยแล้ง คลื่นความร้อน ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรง แต่ถ้าระบบของโลกเข้าสู่ขอบเขตของ ‘ความโกลาหลวุ่นวาย’ เราจะหมดความหวังในการแก้ไขปัญหาอย่างสิ้นเชิง”
โดยปกติ โลกจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “เปลี่ยนเฟส” เป็นระยะอยู่แล้ว ซึ่งเดิมทีมักเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลก การระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่
แต่การวิจัยในอดีตชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้โลกเรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยกิจกรรมของมนุษย์ การที่มนุษย์สร้างคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น เรากำลังสร้างยุคใหม่ที่เรียกว่า “แอนโทรโพซีน (Anthropocene)” ซึ่งเป็นยุคที่ระบบสภาพภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจากมนุษย์ เป็นสิ่งที่โลกของเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน
โดยปกติ สภาพภูมิอากาศประเทศไทยในปัจจุบันที่เรารับรู้กันคือ ช่วงต้นปีถึงกลางปีเป็นฤดูร้อน กลางปีถึงปลายปีเป็นฤดูฝน และปลายปีถึงต้นปีใหม่เป็นฤดูหนาว หรือหากเป็นประเทศตะวันตกครึ่งซีกโลกบน ก็จะเป็น ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว
แต่การเปลี่ยนเฟสของโลกไปสู่ยุคแอนโทรโพซีนจะนำโลกไปสู่การมีรูปแบบฤดูกาลและสภาพอากาศรูปแบบใหม่
หากกิจกรรมของมนุษย์ขับเคลื่อนการเปลี่ยนเฟสของสภาพภูมิอากาศของโลก นั่นหมายความว่า เรากำลังทำให้โลกพัฒนารูปแบบสภาพภูมิอากาศชุดใหม่ แต่รูปแบบเหล่านี้จะมีลักษณะอย่างไรถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดปัญหาหนึ่งของนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ
ส่องกฎหมายอาวุธปืนแต่ละประเทศ หลังมีกระแสแก้กฎหมายปืนในสหรัฐฯ อีกครั้ง
วิจัยพบ ปรสิตเกาะ “ขยะพลาสติก” แพร่กระจายเชื้อโรคทั่วทะเลได้
ดังนั้นหากถามว่า สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหน? เราไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนแม่นยำ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมและกิจกรรมของมนุษย์เราจะเป็นอย่างไร
นักวิจัยในการศึกษานี้ระบุว่า การลดการปล่อยคาร์บอนลงที่มากพอจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใด ๆ เลย
เพื่อพิจารณาเส้นทางและทางเลือกต่าง ๆ ที่มนุษย์สามารถทำได้ในการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ นักวิจัยใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า “แผนที่โลจิสติกส์ (Logistic Map)”
แผนที่โลจิสติกส์นั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอธิบายสถานการณ์ที่ตัวแปรบางอย่างสามารถเพิ่มขึ้นได้จนถึงขีดจำกัด เช่น ปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศ หรือประชากรสัตว์ในถิ่นที่อยู่ เป็นต้น
กับเรื่องของสภาพภูมิอากาศ จะพบว่า อิทธิพลของพฤติกรรมมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเติบโตขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน แต่มันจะถึงขีดจำกัดโดยธรรมชาติ
ตัวอย่างเช่น ประชากรมนุษย์สามารถเติบโตได้มากขึ้นอีก และมีกิจกรรมการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้นอีก และมลภาวะจะทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนถึงขีดจำกัดที่ไม่สามารถเสื่อมโทรมไปมากกว่านี้แล้วในที่สุด ในอนาคต การผลิตและปล่อยคาร์บอนจะถึงขีดจำกัดสูงสุด เมื่อตั้งสมมติญานดังนี้ นักวิจัยจึงพบว่า แผนที่โลจิสติกส์นั้น สามารถใช้ทำนายภาพอนาคตการปล่อยคาร์บอนได้เป็นอย่างดี
นักวิจัยได้สำรวจและจำลองวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิจารณาจากจำนวนประชากร แผนการลดคาร์บอนของแต่ละประเทศ เทคโนโลยีที่จะดีขึ้นในอนาคต จากนั้นดูว่า การผลิตและปล่อยคาร์บอนของมนุษย์จะพัฒนาไปตามกาลเวลาอย่างไร และตรวจสอบว่า สภาพภูมิอากาศของโลกจะมีวิวัฒนาการอย่างไรในสถานการณ์ (Scenario) แบบต่าง ๆ
ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด เมื่อมนุษยชาติปล่อยคาร์บอนถึงขีดจำกัด สภาพภูมิอากาศของโลกจะคงที่ แต่มีอุณหภูมิเฉลี่ยใหม่ที่สูงกว่าปัจจุบัน อุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลเสียต่อมนุษย์โดยรวม เพราะจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น แต่ก็จะมีเสถียรภาพ คือวงจรสภาพภูมิอากาศเหมือนกับก่อนหน้านี้ เพียงแต่จะร้อนขึ้น
แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด นักวิจัยพบว่า สภาพภูมิอากาศของโลกจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย ไม่มีความสมดุล ไม่มีรูปแบบที่วนซ้ำได้ สภาพภูมิอากาศทุก 1 ปีหรือ 10 ปีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น ปีนี้อากาศร้อนสลับเย็นทุกเดือน ปีต่อไปอาจจะเกิดฝนตกตลอดปี หรือบางปีอาจเกิดสภาพอากาศรุนแรงทั้งปี เช่น ร้อนจัดสลับฝนตกหนักทั้งปี แล้วปีต่อไปไม่มีสภาพอากาศรุนแรงเลย ก็อาจเกิดขึ้นได้
เบร์โตลามีกล่าวว่า “สภาพภูมิอากาศที่โกลาหลวุ่นวายหมายความว่า เราจะไม่สามารถทำนายสภาพอากาศโลกในอนาคตได้เลย และมันจะหมายความว่า เราจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมและขับเคลื่อนระบบโลกไปสู่สภาวะสมดุลที่สนับสนุนความเป็นอยู่ของชีวมณฑล (พื้นที่ที่มีสิ่งมีชีวิตทั้งหมดของโลก)”
สิ่งนักวิจัยกังวลมากที่สุดคือ มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่า มนุษย์เราอาจจะเลยจุดที่จะกอบกู้โลกไปแล้ว แต่กระนั้น มันก็ยังไม่สายเกินไปที่เราจะป้องกันภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ
เรียบเรียงจาก Live Science
ภาพจาก Shutterstock
อนามัยโลกชี้ “ฝีดาษลิง” เป็น “ภัยเสี่ยงระดับปานกลาง” ต่อสาธารณสุขโลก