บางส่วนของแนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ฟื้นตัวมากสุดในรอบ 36 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทยาศาสตร์พบ พื้นที่บางส่วนของแนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” มีพื้นที่ปะการังปกคลุมเพิ่มมากที่สุดในรอบ 36 ปี

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) กล่าวว่า พวกเขาพบการปกคลุมของปะการัง (Coral Cover) หรือพื้นที่ปะการัง สูงที่สุดในรอบ 36 ปีในพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลาง

รายงานการตรวจสอบประจำปีของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science) ระบุว่า ในพื้นที่ทางตอนเหนือของแนวปะการัง มีปะการังปกคลุมเฉลี่ย 36% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากระดับต่ำสุด 13% ที่บันทึกไว้ในปี 2017

“โลกร้อน” เปิดทางแมงกะพรุนยึดทะเลอิสราเอล

ญี่ปุ่นหวั่นโลกร้อน กระทบวัตถุดิบสำคัญ ปลาโอ-วาซาบิ อนาคตอาจหายไป

ไม่ใช่แค่โลกร้อน มนุษย์กำลังทำให้สภาพภูมิอากาศโลก “โกลาหล”

ขณะที่ในทางตอนกลางของแนวปะการัง มีปะการังปกคลุมเฉลี่ย 33% สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน จากปี 2019 ที่มีระดับต่ำสุดอยู่ที่ 14% เท่านั้น และในพื้นที่ตอนใต้ การปกคลุมของปะการังในพื้นที่ลดลงจาก 38% ในปี 2021 มาเหลือ 34%

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ปะการังมีความเสี่ยงจะเกิดความเสียกายมากที่สุดจากคลื่นความร้อนในทะเล พายุ และปลาดาวมงกุฎหนาม แต่ยอมรับว่า ความร้อนของโลกเป็นภัยคุกคามระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดต่อแนวปะการัง

เมื่อต้นปีนี้ อุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนผิดปกติทำให้เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ โดยเกรตแบร์ริเออร์รีฟเผชิญกับการฟอกขาวครั้งใหญ่ครั้งแรกในปี 1998 และนับแต่นั้นมาก็เจอปัญหาปะการังฟอกขาวมาโดยตลอดในปี 2002, 2016, 2017, 2020 และครั้งล่าสุดคือเมื่อต้นปีนี้

“การบรรเทาภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศเหล่านี้จำเป็นต้องมีการดำเนินการทั่วโลกในทันทีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รายงานระบุ

ดร.ไมค์ เอ็มสลี ซึ่งเป็นผู้นำโครงการเฝ้าสังเกตแนวปะการังของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย บอกว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่าเราเจอเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวถึง 4 ครั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง”

ในขณะที่เกิดการฟอกขาวแพร่กระจายไปทั่วแนวปะการังในเดือน ก.พ. และ มี.ค. ที่ผ่านมา เอ็มสลีกล่าวว่า ความเครียดจากความร้อนยังไม่ถึงระดับที่น่าจะทำให้ปะการังตาย

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่ามีหลักฐานว่า แม้ปะการังจะไม่ตายจากการฟอกขาว แต่ปรากฏการณ์นี้ก็สามารถลดความสามารถในการสืบพันธุ์ ชะลอการเจริญเติบโต และทำให้พวกมันอ่อนแอต่อโรคปะการังมากขึ้น โดยอาจต้องใช้เวลา 1 ปีหรือมากกว่านั้นกว่าที่ผลกระทบที่ร้ายแรงเหล่านั้นจะปรากฏให้เห็น

เอ็มสลีเสริมว่า เนื่องจากเหตุการณ์ปะการังการฟอกขาวเกิดบ่อยขึ้น ในอนาคตอันสั้น อาจทำให้การฟื้นตัวที่เราพบนี้ย้อนกลับไปสู่สภาวะที่มีปะการังปกคลุมแนวปะการังน้อย

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ รอดขึ้นบัญชีมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย

หาชมยาก! ภาพปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ออกไข่

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ