หลังการต่อรอง เจรจา ในที่สุดรัสเซียและยูเครนก็ยอมให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ "IAEA" เข้าตรวจสอบความเสียหายของโรงไฟฟ้าได้ คณะของ IAEA ที่นำโดย "ราฟาเอล กรอสซี" ผู้อำนวยการใหญ่เดินทางไปถึงที่เมืองซาโปริซเซียแล้ว และพร้อมที่จะเข้าตรวจสอบด้านในโรงงาน แต่ก็เผชิญกับอุปสรรคที่อันตราย จากการสู้รบที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ยูเอ็นถึงซาโปริซเซียแล้ว ส่อเจออุปสรรคขวางไม่ให้เข้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
IAEA ขอประกันความปลอดภัย ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาระหว่างเตรียมตัวเดินทางว่า IAEA ยืนยันจะเข้าพื้นที่โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ เพื่อปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ แม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม
และเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ทีม IAEA ได้เดินทางไปถึงจุดเช็คพอยท์ของทางยูเครนก่อนมุ่งหน้าไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียต่อเพื่อเข้าไปปฏิบัติภารกิจ
ผู้อำนวยการของ IAEA ระบุเมื่อวานนี้ว่า ภารกิจแรกที่ทีมจะทำคือ ประเมินความเสียหาย และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ทาง IAEA จะพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เพื่อประคองสภาพของโรงไฟฟ้าไว้ไม่ให้ไปถึงจุดที่จะเกิดภัยพิบัติทางนิวเคลียร์
ทั้งนี้การตรวจสอบและประเมินความเสียหายของโรงไฟฟ้าอาจจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วัน ถ้าทีมผู้เชี่ยวชาญสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ติดขัดจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนบริเวณรอบๆโรงไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีรายงานว่าเกิดการโจมตีเกิดขึ้นที่เมืองเอเนียร์กอดาร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย โดยภาพวิดีโอเผยให้เห็นกลุ่มควันหนาและพื้นที่ทะลุเป็นรูจากขีปนาวุธ
หลายฝ่ายคาดว่าอาจเป็นการโจมตีจากฝั่งรัสเซีย เนื่องจากในคลิปวิดีโอมีเสียงของประชาชนชาวยูเครนพูดสบถว่าเป็นฝีมือของรัสเซีย
ขณะที่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียกังวลว่ายูเครนจะไม่หยุดการโจมตียั่วยุ พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า ทางกองทัพรัสเซียไม่โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างแน่นอน และยินดีให้ความร่วมมือกับ IAEA อย่างเต็มที่
ซึ่งคำพูดของดมิทรี เปสคอฟ ก็สอดคล้องกับคำพูดของเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ที่แถลงว่ารัสเซียยินดีจะทำทุกทางเพื่อให้ IAEA มั่นใจได้ว่าจะสามารถลงพื้นที่ไปตรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อย่างปลอดภัย
การเข้ามาถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียของ IAEA ในวันนี้ เกิดขึ้นหลังมีพยายามเจรจาอย่างหนักจากทางยูเอ็นในฐานะตัวกลาง โดยเฉพาะกับรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ยึดครองโรงไฟฟ้าอยู่
โดยเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเรื่องนี้สำคัญมากถึงขั้นที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นตั้งจัดประชุมด่วน
ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ได้บอกว่าที่ประชุม UNSC ว่า สถานการณ์ที่โรงงานไฟฟ้าวิกฤตอย่างยิ่ง เพราะบางส่วนของโรงไฟฟ้าได้รับความเสียหาย และมีความเสี่ยงว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่อัดแน่นไปด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สดใหม่อาจเกิดระเบิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็ได้เรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนเปิดทางอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้ IAEA เข้าตรวจสภาพและเข้าซ่อมแซมความเสียหายก่อนที่จะสายเกินไป
หลังจากนั้น เลขาฯ ยูเอ็นก็เดินทางไปยูเครน เพื่อร่วมประชุมกับประธานาธิบดีเซเลนสกี และประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกี ก่อนที่รัสเซียและยูเครนจะรับประกันความปลอดภัยและยินยอมให้ IAEA เข้าตรวจสอบพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริชเซียตั้งอยู่ที่เมืองอยู่ในเมืองเอเนียร์กอร์ดาร์ (Enerhodar) ไม่ไกลนักจากเมืองซาริโปเซีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครน
ที่นี่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก กองทัพรัสเซียเข้ายึดไว้เมื่อหลายเดือนก่อน และยูเครนออกมากล่าวหาว่ารัสเซียใช้ที่นี่เป็นโล่กำบัง เพื่อโจมตีทางตอนใต้ของยูเครน
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการสู้รบต่อเนื่องในบริเวณนี้ โดยทั้งรัสเซียและยูเครนต่างกล่าวหากันไปมาว่า เป็นผู้ยิงขีปนาวุธเข้าใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้
ความเสียหายยากที่จะประเมินเพราะก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ได้ อะไรคือความเสียหายหรือความน่ากลัว หากเกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ขึ้น ความน่ากลัวที่สุดอยู่ที่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งบรรจุอยู่ในเตาปฏิกรณ์
แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่บรรจุยูเรเนียมมีความร้อนมหาศาล ซึ่งความร้อนนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดปฏิกริยาฟิชชั่นจนปลดปล่อยพลังงานออกมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จึงเปรียบเสมือนไข่ในหินที่ต้องได้รับการปกป้อง สิ่งที่ปกป้องแท่งเชื้อเพลิงคือ ระบบความปลอดทุกจุดที่สร้างไว้ โดยเฉพาะระบบหล่อเย็นถ้าเกิดเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่ทำให้ระบบหล่อเย็นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นี่จะหมายถึงหายนะ
ยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิของญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระแทกอาคารเตาปฏิกรณ์จนกระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นที่หล่อเลี้ยงแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไม่ทำงาน
เมื่อระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน อุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความร้อนระดับมหาศาลทำให้แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์เกิดการหลอมละลาย
ความร้อนมหาศาลส่งผลให้เกิดระเบิดไฮโดรเจนขึ้นการหลอมละลายรวมถึงการระเบิดของไฮโดรเจน ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา
“สารกัมมันตรังสี” ที่ว่าคือ ไอโอดีน-131 ซีเซียม-137 สตรอนเชียม-90 และพลูโทเนียม-239 สารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต
เช่น ซีเซียม-137 ที่สามารถปนเปื้อนได้ในน้ำและดิน โดยจะเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร สารนี้มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายโปรแทสเซียม ทำให้ร่างกายเข้าใจผิดว่าเป็นโพรแทสเซียมจึงดูดไปสะสมไว้ ทำให้เซลล์ผิดปกติจนอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็ง
ยูเครนเองก็เคยประสบกับหายนะนิวเคลียร์มาก่อน นั่นคือหายนะจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลทางตอนเหนือของประเทศ
หายนะนิวเคลียร์คราวนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 ในขณะนั้นยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แท่งเชื้อเพลิงที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลหลอมละลายที่ 2,000 องศาเซลเซียสและระเบิดขึ้น ชิ้นส่วนในเครื่องปฏิกรณ์กระจายไปทั่วอาคาร เศษแกนกราไฟต์ที่เหลือติดประกายไฟ
ไฟลุกไหม้ตัวอาคารโรงไฟฟ้าอยู่ถึง 10 วัน ฝุ่นกัมมันตรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ กระแสลมพัดพาเถ้ากัมมันตรังสีกินอาณาเขตกว้างใหญ่แถบตะวันตกของรัสเซีย ยูเครน เบลารุส ไปจนถึงยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ
มีคนเสียชีวิตทันที 31 คนหลังการระเบิด หลังจากนั้นอีก 4,000 คน เสียชีวิตด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งจากกัมมันตภาพรังสีชนิดอื่น ๆ อีกกว่า 600,000 คนป่วยและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล ถือเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และไม่ใครอยากเห็นมันเกิดขึ้นอีก
สำหรับกรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย คาดว่าอีก 2-3 วันน่าจะมีรายละเอียดออกมาจาก IAEA ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ตรงไหนบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร หรือแก้ไขได้หรือไม่
การเข้าตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียของ IAEA ได้รับหลักประกันความปลอดภัยจากทั้งยูเครนและรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณที่อยู่ถัดไปจากพื้นที่ของโรงไฟฟ้าอย่างแคว้นเคอร์ซอน เกิดการต่อสู้อย่างหนักหน่วง เพราะยูเครนกำลังปฏิบัติการโต้กลับ หรือ Counter Offensive เพื่อยึดพื้นที่คืนจากรัสเซีย
เคอร์ซอนเป็นเมืองท่าบนทะเลดำ อยู่เหนือขึ้นมาจากแหลมไครเมีย ด้านตะวันออกติดกับเมลิโตปอลและเชื่อมต่อกับเมืองมาริอูปอล
ส่วนทางด้านตะวันตกติดกับมิโคลายิฟ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าสู่เมืองท่าที่สำคัญที่สุดบนทะเลดำ นั่นก็คือโอเดสซา
เคอร์ซอนถูกยึดได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม รัสเซียมีการตั้งฝ่ายโปรรัสเซียเข้าบริหารเมืองและมีกองทัพรัสเซียประจำการที่นั่น เป็นเมืองที่มีรายงานว่ารัสเซียจะจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวออกจากยูเครน แต่ยูเครนประกาศอย่างชัดเจนว่ากำลังจะยึดแคว้นเคอร์ซอนคืน โดยเฉพาะบริเวณด้านซ้ายของแคว้นก่อนไปถึงแคว้นมิโคลายิฟ
ปฏิบัติการโต้กลับของยูเครนในรอบนี้ เริ่มจากการทำลายโครงสร้างพื้นฐานและสะพานอันโตนิฟกา เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของรัสเซีย และฝั่งยูเครนยืนยันเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า เป้าหมายในการโต้กลับครั้งนี้จะเริ่มจากการทำลายระบบขนส่งของรัสเซียที่เหลือในเคอร์ซอนก่อน
ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่า แคว้นเคอร์ซอนมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำดนีเปอร์ไหลผ่านตรงกลาง ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า พื้นที่อกแตก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรุกคืบของฝั่งรัสเซีย
ทำให้ฝั่งยูเครนสามารถค่อย ๆ ยึดพื้นที่บริเวณปีกตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์ได้ โดยใช้วิธียิงขีปนาวุธและปืนใหญ่ใส่กองทัพรัสเซียในพื้นที่ปีกตะวันตก
ผลจากการโจมตีทำให้กองทัพรัสเซียสูญเสียระบบการสื่อสารและเสบียง ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดกระบวนทัพและการเติมเสบียงต่าง ๆโดยเป้าหมายของยูเครนคือการผลักกองทัพรัสเซียให้ถอยกลับไปยังพื้นที่ปีกตะวันออกของแม่น้ำ
พล.อ.ท.เอ็ดเวิร์ด สตริงเจอร์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันป้องกันราชอาณาจักรของสหราชอาณาจักรอธิบายว่า การผลักกองทัพรัสเซียไปยังปีกตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์และที่ไครเมียในครั้งนี้ จะทำให้ยูเครนสามารถป้องกันแคว้นมิโคลายิฟได้
อย่างไรก็ดี แผนการนี้ยังไม่สามารถทำให้กองทัพยูเครนยึดพื้นที่ทางปีกตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ส่วนที่ติดกับคาบสมุทรไครเมียได้ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นรัสเซียมีการวางกำลังไว้เป็นอย่างดี
พล.อ.ท.สตริงเจอร์ อธิบายเสริมว่า ปฏิบัติการโต้กลับในครั้งนี้มีความสำคัญต่อยูเครน ไม่ใช่เพราะจะนำไปสู่การยึดพื้นที่แคว้นเคอร์ซอนทั้งหมดคืน แต่มีความสำคัญในแง่ของความน่าเชื่อของผู้นำยูเครน
หากกองทัพยูเครนสามารถผลักดันกองทัพรัสเซียกลับไปยังอีกด้านของแม่น้ำดนีเปอร์และคาบสมุทรไครเมียได้ จะทำให้ชาติตะวันตกเห็นว่ายูเครนสู้เต็มที่และจะชนะรัสเซียได้
นี่จะส่งผลให้บรรดาชาติตะวันตก ยังคงการสนับสนุนด้านอาวุธให้แก่ยูเครนเอาไว้ แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตพลังงานในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านี้หลังจากที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซในหลายประเทศ
นอกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงแล้ว ชาวบ้านที่อยู่แนวหน้า บริเวณที่มีการเปิดปฏิบัติการโต้กลับ (Counter Offensive) คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างนี่คือคำตอบของพวกเขา