ถอดรหัสพันธุกรรม “แมงกะพรุนอมตะ” กรุยทางสู่การยืดอายุขัยมนุษย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทย์จัดทำแผนที่ลำดับพันธุกรรมของ “แมงกะพรุนอมตะ” เพื่อต่อยอดหาทาง “ยืดอายุขัยมนุษย์”

“ความตาย” ถือเป็นหนึ่งใน “สัจธรรม” ที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ใครหรือสิ่งมีชีวิตไหนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของ “ความเป็นอมตะ (Immortality)” หรือแม้แต่แค่การยืดอายุขัยให้ยืนยาว ก็ยังเป็นเหมือนสมบัติล้ำค่าที่หลายคนมุ่งแสวงหา (อาจจะโดยเฉพาะบรรดาผู้มีเงินหรืออำนาจที่ต้องการให้ชีวิตแสนหวานของตัวเองดำเนินไปตราบนานเท่านาน)

“เหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี” ศึกชิงความเป็นมหาอำนาจครั้งใหม่

สารในเปลือกกุ้ง-กระดองปู ใช้ผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

สุดแปลก! “หอยทากสวมเกราะเหล็ก” เอาชีวิตรอดในอุณหภูมิ 300 องศาฯ

แต่ธรรมชาติก็ได้สร้างสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่กุมความลับสุดยิ่งใหญ่ขึ้นมา ท้าทายสัจธรรมแห่งความตายนั้น นั่นคือ “แมงกะพรุนอมตะ (Immortal Jellyfish; Turritopsis dohrnii)” สิ่งมีชีวิตที่สามารถย้อนตัวเองกลับไปสมัยยัง “ละอ่อน” ได้ ราวกับนกฟีนิกซ์คืนชีพจากเถ้าถ่านในเทพปกรณัม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วงจรชีวิตของแมงกะพรุนทั่ว ๆ ไปนั้น จะเริ่มจากขั้นตอนของการเป็น “ไข่ (Fertilized Egg)” หลังเซลล์สืบพันธุ์ของแมงกะพรุนตัวผู้และตัวเมียผสมกันในน้ำ

จากนั้นไข่จะเติบโตเป็น “ตัวอ่อน (Planula Larvae)” คล้ายกับดักแด้ของหนอนผีเสื้อ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก เป็นเหมือนกับแพลงก์ตอนที่ลอยไปตามกระแสน้ำ จากนั้นตัวอ่อนนี้จะหาที่ยึดเกาะแล้วแตกหน่อออกมา กลายเป็นเหมือนดอกไม้ทะเล เรียกขั้นนี้ว่า “โพลิป (Polyp)”

จากนั้นมันจะเติบโตและกลายเป็น “เมดูซา (Medusa)” หรือแมงกะพรุนตัวเต็มวัยที่เราคุ้นชินว่าเหมือนหมวกที่มีหนวด ลอยล่องไปในท้องทะเลหรือมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ จากนั้นมันก็จะขยายพันธุ์ต่อไป วนกลับไปยังขั้นตอนแรกของวงจรชีวิต ส่วนแมงกะพรุนที่กลายเป็นพ่อแม่ไปแล้วก็ตายไปเมื่อถึงเวลา

แต่ความมหัศจรรย์ของแมงกะพรุนอมตะคือ เมื่อมันเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นเมดูซา มันสามารถ “ย้อนกลับ” ตัวเองมาอยู่ในขั้นโพลิปได้! และกลับไปเป็นเมดูซาอีกครั้ง และกลับมาเป็นโพลิปอีกครั้ง วนเวียนเป็นวัฏจักรของชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด

แมงกะพรุนอมตะมีขนาดที่เล็กมาก เฉลี่ยราว 4 มม. เท่านั้น หรือเล็กกว่าเล็บนิ้วก้อยของเราเสียอีก พบเห็นได้ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก บทบาทหลักในระบบนิเวศจึงมีสถานะเป็นอาหารให้กับสัตว์อื่นมากกว่า ซึ่งแม้เราจะบอกว่ามันเป็นอมตะ แต่กระนั้นพวกมันก็ยังสามารถตายได้จากการถูกกิน หรือติดเชื้อโรคอยู่ดี

แต่แค่การที่ไม่สามารถตายได้จากอายุขัยก็ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มากแล้วสำหรับมนุษย์ และล่าสุด มีก้าวสำคัญในการศึกษาแมงกะพรุนอมตะ โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถ “จัดทำแผนที่ลำดับพันธุกรรม” ของแมงกะพรุนอมตะได้แล้ว

มาเรีย ปาสควาล-ตอร์เนร์ และวิกตอร์ เคซาดา และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอวิเอโดของสเปน ได้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์ดังกล่าว ว่ามีความแตกต่างจากแมงกะพรุนชนิดอื่น ๆ ที่ตรงไหน และจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

โดยทีมวิจัยได้เปรียบเทียบลำดับพันธุกรรมของแมงกะพรุนอมตะกับลำดับพันธุกรรมของ “แมงกะพรุนแดงชาด (Crimson Jellyfish; Turritopsis rubra)” ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับแมงกะพรุนอมตะ เรียกได้ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ไม่มีความสามารถในการย้อนวัย

สิ่งที่พวกเขาพบคือ แมงกะพรุนอมตะมีความหลากหลายในจีโนมของมัน ซึ่งอาจช่วยให้คัดลอกและซ่อมแซม DNA ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาส่วนปลายโครโมโซมที่เรียกว่า “เทโลเมียร์ (Telomere)” ได้ดีกว่า

เพื่อให้ทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ มีข้อมูลว่า มียีนหรือรหัสพันธุกรรมหลายตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับการที่เซลล์ร่างกายหยุดทำงานหรือแก่ตัวลง นั่นคือเทโลเมียร์ นั่นเอง

เทโลเมียร์จะช่วยปกป้องสาย DNA ไม่ให้ถูกทำลายมากไปก่อนเวลาอันควร แต่โดยทั่วไป ในมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่น ๆ ความยาวของเทโลเมียร์นั้นจะสั้นลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุ ดังนั้นการที่จีโนมของแมงกะพรุนอมตะสามารถรักษาเทโลเมียร์ได้ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งกุญแจไขความลับการเป็นอมตะของมัน

อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังไม่ถึงขั้นพลิกดินคว่ำฟ้าทำให้มนุษย์เป็นอมตะหรือยืดอายุไขได้เลย เป็นเพียงประตูสำคัญที่กรุยทางไปสู่

มอนตี เกรแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงกะพรุนและผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์ฟลอริดา ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการวิจัยนี้ กล่าวว่า “มันไม่ใช่ว่าเราจะสามารถไปจับแมงกะพรุนอมตะเหล่านี้และเปลี่ยนมันเป็นครีมทาผิวได้ทันที”

เขาบอกว่า การศึกษานี้ช่วยในการทำความเข้าใจกระบวนการและการทำงานของโปรตีนที่ช่วยให้แมงกะพรุนเหล่านี้โกงความตายได้มากขึ้น “นี่เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ผมคิดว่าจะเปิดประตูสู่การศึกษาใหม่ ๆ ที่น่าติดตามในอนาคต”

 

เรียบเรียงจาก CNN

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ