ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับตาภารกิจใหญ่ขององค์การนาซา “อาร์เทมิส (Artemis)” ที่ต้องการส่งมนุษย์กลับไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี ก่อนที่จะก้าวไปสู่หมุดหมายสำคัญถัดไปในการส่งคนไปเหยียบดาวอังคาร
เป็นที่ทราบกันดีว่า การศึกษาอวกาศไม่ใช่แค่เรื่องของการไขปริศนาหาคำตอบความลี้ลับของเอกภพ แต่เป็นการสำแดง “อำนาจ” อย่างหนึ่งของนานาประเทศ เพราะมันสะท้อนถึงความล้ำหน้าทางวิทยาการ และแสดง “ความเหนือ” กว่าประเทศคู่แข่งที่อาจมีความขัดแย้งทางการเมือง
"นาซา" เตรียมปล่อยยานสำรวจดวงจันทร์ 3 ก.ย.นี้
“นาซา” เลื่อนปล่อยจรวด SLS ไปดวงจันทร์ หลังพบปัญหาเครื่องยนต์
องค์การนาซากล่าวหาแรง “จีนอาจกำลังวางแผนยึดครองดวงจันทร์”
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็ย่อมไม่พ้นสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ที่ขับเคี่ยวกันในเรื่องการศึกษาอวกาศมานานกว่า 60 ปี โดยในปี 1957 โซเวียตเป็นฝ่ายทำแต้มนำไปก่อน ด้วยการส่งดาวเทียม “สปุตนิก I (Sputnik I)” ขึ้นไปบนวงโคจรของโลกได้สำเร็จก่อนใคร จากนั้นในปี 1959 โซเวียตยังทำแต้มต่อเนื่องด้วยการส่งยาน “ลูนา 2 (Luna 2)” ไปถึงดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ไม่ได้ลงจอด
ในยุคนั้น สหภาพโซเวียตนั้นเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศอย่างแท้จริง เพราะเป็นชาติแรกที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศสำเร็จในปี 1961 นั่นคือ “ยูริ กาการิน”
กว่าที่สหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จกับภารกิจดวงจันทร์คือโครงการ เรนเจอร์ (Ranger) โดยยานเรนเจอร์ 7 ในปี 1964 สามารถถ่ายภาพจากดวงจันทร์กลับมาได้เป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ
เมื่อถูกสหรัฐฯ วิ่งตามมา โซเวียตก็ตอกตะปูฝังด้วยการส่งยานลูนา 9 (Luna 9) ไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติในเดือน ม.ค. 1966 และสหรัฐฯ ก็ตามมาติด ๆ ในเดือน พ.ค. 1966 สามารถนำยานเซอร์เวเยอร์ 1 (Surveyor 1) ลงจอดบนดวงจันทร์ได้
หลังจากนั้นสองมหาอำนาจยุคสงครามเย็นต่างก็ผลัดกันส่งยานอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์อย่างต่อเนื่อง แต่จุดขึ้นแซงของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในปี 1968 เมื่อยาน “อะพอลโล 8 (Apollo 8)” เป็นยานลำแรกที่โคจรรอบดวงจันทร์โดยมีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วย ได้แก่ แฟรงก์ บอร์แมน, เจมส์ เลิฟเวลล์ และวิลเลียม แอนเดอร์ส ถือเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ได้เห็นด้านหลังของดวงจันทร์กับตาตัวเอง
จากนั้นในปี 1969 เพียง 1 ปีเท่านั้น สหรัฐฯ ก็แซงโซเวียตไปโค้งใหญ่ จากความสำเร็จของ “อะพอลโล 11 (Apollo 11)” กับเหตุการณ์ที่เรารู้จักกันดี คือการเหยียบดวงจันทร์ของ “นีล อาร์มสตรอง”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีอวกาศกลับกลายเป็นของสหรัฐฯ สังเกตได้จากความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีมนุษย์เพียง 12 คนเท่านั้นที่เคยไปเยือนดวงจันทร์ และทั้ง 12 คน เป็นตัวแทนจากสหรัฐฯ ทั้งสิ้น
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่เทคโนโลยีก้าวไกลไปมากจนเราสามารถใช้หุ่นยนต์หรือระบบคอมพิวเตอร์ในการเดินทางไปศึกษาดวงจันทร์ได้ ก็ไม่มีมนุษย์เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ด้วยเท้าตัวเองมาแล้วถึง 50 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่มีมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์คือ “อะพอลโล 17 (Apollo 17)” ในปี 1972
ดังนั้น ภารกิจอาร์เทมิสของนาซาที่กำลังจะมีขึ้น จึงถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ในรอบครึ่งศตวรรษ จะเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางอวกาศของสหรัฐฯ ให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง
ภารกิจอาร์เทมิสจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกคืออาร์เทมิส I จะทดสอบการทำงานของยานอวกาศ “โอไรออน (Orion)” ที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นมาใหม่ จะปฏิบัติการในวันที่ 3 ก.ย. นี้ โดยยังไม่ส่งใครขึ้นไป
เฟสต่อมา อาร์เทมิส 2 จะส่งนักบินอวกาศเดินทางไปดวงจันทร์กับโอไรออนในปี 2024 โดยไม่ลงจอด และเฟสสุดท้าย อาร์เทมิส 3 จะส่ง “นักบินอวกาศหญิงและชายอเมริกันที่ไม่ใช่คนผิวขาว” (เพื่อเป็นการแสดงถึงความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ) ไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2025
การแข่งขันเพื่อไปเหยียบดวงจันทร์เริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้ง เนื่องจากหลายประเทศและบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ประกาศภารกิจบนดวงจันทร์มากขึ้น และหลายประเทศก็มีเป้าหมายต้องการส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ให้สำเร็จ
หนึ่งในนั้นคือ “จีน” คู่แข่งคนสำคัญของสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานสำรวจไปลงจอดบนดวงจันทร์ ตั้งแต่ฉางเอ๋อ 3 ในปี 2013, ฉางเอ๋อ 4 ในปี 2019 และฉางเอ๋อ 5 ในปี 2020
ที่สำคัญคือ จีนสามารถสร้างชื่อในด้านการสำรวจดวงจันทร์ให้กับตัวเองได้ ด้วยการเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งยานไปลงจอดที่ด้านหลังของดวงจันทร์ได้ จากยานฉางเอ๋อ 4
ขณะที่ “รัสเซีย” เอง นอกจากการรุกรานยูเครน ก็เป็นไปได้ว่าจะต้องการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของ “จักรวรรดิรัสเซีย” อีกครั้งด้วยการเอาชนะคู่แข่งในงานการศึกษาอวกาศ โดยเดิมที รัสเซียมีแผนจะปลุกชีพโครงการลูนากลับคืนมา โดยจะส่งยาน ลูนา 25 ขึ้นไปดวงจันทร์ในปลายเดือน ก.ย. แต่คาดว่าด้วย “ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน” ที่กำลังดำเนินอยู่ก็เป็นไปได้ว่า แผนการอาจต้องถูกเลื่อนออกไป
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่กำหนดแผนภารกิจบนดวงจันทร์ของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ตุรกี เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยเองก็ด้วย
โดยประเทศที่ออกมาแสดงความจำนงชัดเจนว่า ต้องการส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ซึ่งวางแผนคร่าว ๆ ว่าจะทำให้สำเร็จในช่วงปี 2020s นี้ ยังมี จีน วางแผนว่าจะสำเร็จช่วงปี 2030s และรัสเซีย คาดว่าจะสำเร็จช่วงปี 2030s เช่นกัน
ด้านสหรัฐฯ เอง ได้ออกมาให้เหตุผลว่า ที่ต้องส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง ก็เพื่อ “เตรียมความพร้อม” ก่อนการไปเหยียบดาวอังคาร หมุดหมายที่สำคัญซึ่งหากสหรัฐฯ ทำได้ จะถือว่าก้าวหน้ากว่าเพื่อน ๆ ไปอีกหลายปีแสงทีเดียว
จิม ฟรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายภารกิจการพัฒนาระบบสำรวจของนาซา กล่าวว่า “เราต้องการอยู่บนผิวดวงจันทร์และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อที่เราจะเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และต่อยอดว่าเราจะไปเหยียบดาวอังคารได้อย่างไร”
ฟรีเสริมว่า “ทีมงานของนาซากำลังดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการสำรวจในวงกว้าง จากนั้นจึงจำกัดให้แคบลงจนเหลือแค่รากฐานที่จะนำเราไปสู่ดาวอังคาร”
สหรัฐฯ มีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปเหยียบบนดาวอังคารในปี 2033 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ตั้งไว้โดยฝ่ายบริหารของอดีตประธานาธิบกี บารัก โอบามา และผู้บริหารของนาซาก็ยังยึดกรอบเวลาการดำเนินงานนั้นไว้โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ภารกิจอาร์เทมิสนี้ ไม่ใช่แค่การเหยียบดวงจันทร์เท่านั้น แต่เป็นเพียงโครงการนำร่องเพื่อเตรียมการสร้าง “ฐานทัพถาวร” สร้างถิ่นฐานและขุดค้นทรัพยากรบนดวงจันทร์อย่างจริงจัง ซึ่งอาจเป็นการเปิดศักราชใหม่ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง
ภาพจาก AFP