เมืองฮาร์เล็ม (Haarlem) ของเนเธอร์แลนด์จะกลายเป็นเมืองแรกในโลกที่ห้ามไม่ให้มีการ “โฆษณาเนื้อสัตว์” ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ฮาร์เลมตั้งอยู่ทางตะวันตกของอัมสเตอร์ดัม มีประชากรประมาณ 160,000 คน จะออกกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป หลังจากที่เนื้อสัตว์ถูกเพิ่มเข้าไปในรายการของ “ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
ภาวะโลกร้อน ทำให้ลูกเต่าทะเลในฟลอริดาฟักออกมาเป็นตัวเมียทุกตัว 4 ปีติด
น้ำแข็งกรีนแลนด์ ละลายในอัตรา “6 พันล้านตันต่อวัน”
“ใช้อาหารสู้โลกร้อน” เมื่อสิ่งที่เรารับประทานทุกวัน มีผลกับโลกทั้งใบ
ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ จะไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเนื้อสัตว์โฆษณาบนรถโดยสาร ชายคาที่พักพิงต่าง ๆ และหน้าจอสาธารณะ
การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น โดยการผลิตเนื้อสัตว์ก่อมลพิษมากกว่าการผลิตอาหารที่เป็นพืชถึง 2 เท่า
ที่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ส่งผลเสียต่อโลกนั้น เนื่องจากในการจะทำปศุสัตว์มักจะต้องมีการโดค่นป่าไม้ ซึ่งเดิมทีจะคอยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก ในขณะที่ปุ๋ยที่ใช้สำหรับปลูกพืชนั้นอุดมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งอาจสร้างมลพิษทางอากาศและทางน้ำและทำลายโอโซน นอกจากนี้ การทำปศุสัตว์ยังผลิตก๊าซมีเทนในปริมาณมาก ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลร้ายต่อโลกอย่างมาก
ซิกกี คลาเซส สมาชิกสภาเนเธอร์แลนด์จากพรรค GroenLinks ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎกมายการห้ามโฆษณาเนื้อสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ บอกว่า “เราไม่ได้จะห้ามไม่ให้ประชาชนอบและย่างเนื้อในครัวของพวกเขาเอง ถ้าผู้คนต้องการกินเนื้อสัตว์ต่อไป ก็ไม่เป็นไร … เราแค่ไม่สามารถบอกผู้คนได้ว่า มีวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนให้พวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุ”
เธอเสริมว่า “แน่นอนว่า มีหลายคนที่พบว่าการตัดสินใจนั้นอุกอาจ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่คิดว่ามันโอเค ... มันเป็นสัญญาณเริ่มต้น ถ้ามีการปรับใช้ในระดับประเทศ นั่นคงจะดีมาก”
กฎหมายห้ามโฆษณานี้ยังครอบคลุมไปถึงการโฆษณาเชิญชวนให้ท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินในวันหยุด โฆษณาเชื้อเพลิงฟอสซิล และโฆษณารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
กฎหมายฉบับนี้ถูกเลื่อนไปปี 2024 เนื่องจากสัญญาที่มีอยู่กับบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าข้างต้นทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม มีเสียงคัดค้านจากภายในสภาเมืองฮาร์เล็ม โดยมีการโต้แย้งว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
การวิจัยของกรีนพีซชี้ให้เห็นว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรปในการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 การบริโภคเนื้อสัตว์จะต้องลดลงเหลือ 24 กก. ต่อคนต่อปี จากค่าเฉลี่ยปัจจุบันของสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ที่ 82 กก. หรือจากค่าเฉลี่ยในเนเธอร์แลนด์ 75.8 กก.
ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นก้าวสำคัญไม่น้อยสำหรับเนเธอร์แลนด์ เพราะเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP