“ใช้อาหารสู้โลกร้อน” เมื่อสิ่งที่เรารับประทานทุกวัน มีผลกับโลกทั้งใบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจาะลึกความสำคัญของ “โปรตีนจากพืช” ในฐานะ “อาหารแห่งอนาคต” หนึ่งในแนวทางสำคัญแก้ไขปัญหาโลกร้อน

“ภาวะโลกร้อน” เป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ โดยต่างประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นควบคุมระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ทราบหรือไม่ว่า ปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งนำไปสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน กลับเป็นสิ่งใกล้ตัวเราอย่าง “อาหาร” ที่เรารับประทานอยู่ทุกวัน

โลกร้อนจริงหรือไม่? ดูชัด ๆ หลังมีกระแสไม่เชื่อในหลายประเทศทั่วโลก

นายกฯ แสดงทัศนะในเวทีโลก COP26 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 2065

พูดคุยกับนักวิจัยไทยผู้ “เปลี่ยนขนไก่เป็นอาหาร” อนาคตอาหารโลก

ทำไม “อาหาร” จึงกลายเป็นเรื่อง “โลกร้อน” ?

รายการ “กาแฟดำ” โดย สุทธิชัย หยุ่น ได้สัมภาษณ์พิเศษ คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) หนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาและจำหน่าย “โปรตีนทางเลือก” ของประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหมื่นล้าน และเพิ่งเข้าไอพีโอ (IPO; เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไป) ไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

คุณแดนเล่าว่า ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่อยู่ 3 เรื่อง “เรื่องแรก อีกประมาณ 30 ปี เราจะมีประชากรโลก 1 หมื่นล้านคน เพิ่มขึ้นมาอีกเกือบ 2 พันล้านคน ซึ่งเชื่อมโยงกับอุปสรรคที่สอง นั่นคือพื้นที่ที่จะปลูกหรือสนับสนุนการผลิตอาหารให้คน 1 หมื่นล้านคนก็จำกัด”

ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการผลิตอาหารจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ หากพื้นที่ไม่เพียงพอ การจะผลิตอาหารพอให้เลี้ยงปากท้องคนทั้งโลกกลายเป็นเรื่องยาก จึงต้องหาทางออกใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตอาหารได้

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังการผลิตอาหารแบบเดิมมีความเกี่ยวพันกับอุปสรรคเรื่องที่สาม นั่นคือ “ปัญหาเรื่องโลกร้อน” ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีตัวร้ายหลัก ๆ คือคาร์บอนและมีเทน

อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนแต่ละปีถึง 30% หรือ 1 ใน 3 ของการปล่อยทั้งหมด และยิ่งกว่านั้น มีส่วนในการปล่อยมีเทนเกือบครึ่งหนึ่ง ฉะนั้น สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจึงมองว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มีหลายอย่าง แต่ทางที่ดีที่สุด คือการให้คนมาบริโภคอาหารที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อย่างเช่น อาหารหรือโปรตีนจากพืช (Plant Based Food)” คุณแดนกล่าว

โปรตีนจากพืช (Plant Based Protein/Food) คือทางออก?

เขาขยายความว่า ปัญหาของโลกร้อนจากอาหารและการเกษตรนั้น หนึ่งคือเรื่องเนื้อสัตว์ อย่างเช่นเนื้อวัว เมื่อวัวเรอและตดจะเกิดการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณมหาศาล “สมมติเราทานแฮมเบอร์เกอร์ที่เป็น Plant Based เทียบกับแฮมเบอร์เกอร์ที่มาจากเนื้อวัว อัตราการปล่อยคาร์บอนจะลดลงประมาณ 10-15 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้นคุณแดนจึงต้องการ “ใช้อาหารสู้โลกร้อน” เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในทางออกที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ และมีความยั่งยืน

“ยกตัวอย่าง การบริโภคแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น มีการปล่อยคาร์บอนถึง 3.3 กิโลกรัม แล้วถ้ากินทุกสัปดาห์ ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ก็เท่ากับในแต่ละปีคนหนึ่งคนสร้างคาร์บอนกว่า 170 กิโลกรัมแล้ว มันสูงมาก วิธีการต่อสู้กับโลกร้อนคือหันมาทาน Plant Based Food อาจจะไม่ต้อง 100% ครึ่งหนึ่งก็ได้ ก็ช่วยได้อย่างมหาศาลแล้ว” คุณแดนบอก

มีข้อมูลว่า หากคนทั่วโลกหันมาทานอาหาร Plant Based Food ตั้งแต่วันนี้ โลกจะร้อนขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยไม่ต้องทำอะไรอื่นเลย แต่แน่นอนว่าในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้ทั้งโลก

เรามองว่าการต่อสู้กับโลกร้อนโดยใช้อาหารมันอยู่ในความสามารถของทุกคน ก็คือให้หันมาทาน Plant Based Food เลย ถ้าคุณหันมาทานคุณจะรู้สึกภูมิใจ ว่ามีส่วนในการต่อสู้กับโลกร้อน” ประธานฯ NRF กล่าว

เกษตรกรไทยอาจต้องปรับตัว

เมื่อพูดถึงอาหารไทย เรามักนึกถึงแกง กับข้าว หรือเครื่องเคียงต่าง ๆ ที่ต้องกินคู่กับ “ข้าว” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของมื้อาหารของคนไทย แต่การปลูกข้าวกลับเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล โดยทั่วโลกมีก๊าซมีเทนเกิดขึ้นจากการปลูกข้าวสูงถึง 12% ของการปล่อยมีเทนทั้งหมด

“วิธีปลูกนาข้าวมีการใช้น้ำเพื่อไม่ให้หญ้าขึ้น การใช้น้ำปัญหาที่เกิดคือ มันเกิดการบ่มขึ้นมา แบคทีเรียไปกินน้ำตาลที่อยู่ตามรากของข้าว ถ้ามาผสมกับปุ๋ยขึ้นมา เกิดมีเทนมหาศาลเลย เพราะฉะนั้นเกษตรกรพี่น้องของเรามีปัญหาแน่นอน อีกประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า ... ถ้าไม่ปรับ สิ่งที่จะเกิดก็คือ เกรตา ธันเบิร์ก จะออกมาบอกว่า ห้ามกินข้าวนะ” คุณแดนบอก

ในจุดนี้คุณแดนเสนอทางออกให้ 2 ทาง หนึ่งคือการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยมีเทนในภาคการเกษตร เช่น ทาง NRF เอง ขณะนี้กำลังพัฒนาสารดูดซับสารเคมี มีลักษณะคล้ายปุ๋ย ถ้าใส่ไปในดินจะลดมีเทนในนาข้าวได้ แต่ไม่ได้บำรุงข้าวเหมือนปุ๋ยจริง ๆ โดยแปรรูปจากของเหลือของภาคการเกษตรหรือชีวมวล

อีกหนึ่งทางคือเกษตรกรปรับตัวมาปลูกพืชอย่างอื่นแทน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร Plant Based Food อาจเป็นการปลูกถั่วสลับข้าวก็ได้ เพราะถั่วเขียวก็มีความสามารถในการบำรุงดินด้วย

ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวหรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ นั้น คุณแดนมองว่า เนื้อวัวจะยังคงมีอยู่ วัวยังมีประโยชน์ และวิธีลดมีเทนในวัวก็มีอยู่ “ล่าสุด 2-3 เดือนที่แล้ว เราประกาศร่วมมือกับ East Water ในการศึกษาการปลูกสาหร่าย เพื่อมาเป็นอาหารให้วัว เพราะพบว่าสามารถลดมีเทนในกระเพาะวัวได้ ทำให้เวลาเรอหรือตดมีการปล่อยมีเทนน้อยลง”

เขาเสริมว่า “ผมคิดว่าอุตสาหกรรมเนื้อจากวันนี้ที่มันเป็นอาหารสำหรับผู้บริโภคทั่วไป หรือ Mass Consumer มันจะกลายเป็น Niche Market หรือตลาดเฉพาะกลุ่มในอนาคต กลุ่ม Mass Consumer จะมีการปรับเปลี่ยนแน่นอน ไปทานอาหาร Plant Based มากขึ้น”

โดยสรุปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอาหารและการเกษตรจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เป็นทั้งโลก และเราต้องตามให้ทัน

อนาคตอาหารโลก

นอกจากอาหารที่เป็นโปรตีนทางเลือกจากพืชแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาหารแห่งอนาคตที่เคยเป็นที่พูดถึง นั่นคือ เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ หรือ Cell Based Meat เป็นเนื้อที่เพาะเลี้ยงได้ในแล็บ ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ไม่ต้องเลี้ยงหรือให้อาหารซึ่งจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน

“สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ อย. อนุมัติ สมมติเอาเซลล์จากวัว ก็ไม่ต้องฆ่าวัว ... ที่จริงมีประมาณเกือบ 100 บริษัททั่วโลกที่วิจัยเรื่องนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ อย. อนุมัติเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่ 2 ที่จะอนุมัติการผลิตและบริโภค Cell Based Meat โดย NRF เองก็มีการร่วมทุนกับบริษัทอื่น ๆ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสิ่งที่เราเองก็กำลังศึกษาอยู่”

ที่แรกในโลก สิงคโปร์ประกาศเตรียมวางขาย “เนื้อไก่จากแล็บ”

นอกจากนี้ เชื่อว่า อาหารแห่งอนาคตอย่างโปรตีนจากพืชหรือโปรตีนจากเซลล์ จะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นเรื่องปกติในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อประชากรรุ่นใหม่จะมี ค่านิยมเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงกว่าปัจจุบัน ถ้าไม่เป็นอาหารที่ลดโลกร้อนก็จะไม่ซื้อ เมื่อเป็นอย่างนั้นผู้ผลิตอย่างไรก็ต้องปรับตัวตาม

“กลุ่มเหล่านี้จะถือกุญแจ เนื่องจากเขาเป็นผู้บริโภค เขาจะบังคับผู้ผลิตด้วยพลังการซื้อของเขา ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” คุณแดนบอก

เขาเสริมว่า ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจะดูบนฉลากว่า สินค้าตัวนี้ปล่อยคาร์บอนปล่อยมีเทนเท่าไร “อย่างตอนนี้มันมีข้อมูลเรื่องแคลลอรีบนฉลากผลิตภัณฑ์ อันนั้นคือการเผาพลังงานของเรา อีกหน่อยต้องมีฉลากคาร์บอน (Carbon Labeling) แล้วมาแข่งขันกันตรงนั้น ไม่ใช่เรื่องว่า ‘เราจะลดน้ำหนักได้เท่าไร’ อีกแล้ว แต่จะกลายเป็น ‘กินแล้วจะดีต่อโลกยังไง’

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า แนวโน้มราคาอาหารในอนาคตจะสูงขึ้นทั่วโลก ทั้งจากข้อจำกัดในการผลิตอาหารทั่วไป ที่ทรัพยากรน้อย แต่มีปากท้องต้องเลี้ยงจำนวนมาก และอาหารจากโปรตีนทางเลือกเอง ก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องยอมรับ

“ผมคิดว่าสำหรับคนไทยเอง วันนี้ อำนาจในการเปลี่ยนแปลงโลกอยู่ที่คุณ ถ้าคุณหันมาทาน Plant Based Food คุณสามารถมีบทบาทในการต่อสู้กับโลกร้อนได้ แล้วเรื่องโลกร้อนอย่าคิดว่าไกลตัว มันใกล้ตัวมาก แล้วมันจะเจ็บตัวมาถึงเรา แต่แน่นอนว่า ลูกเรา หลานเรา จะต้องต่อสู้กับปัญหาที่เราสร้างไว้ ดังนั้นเราจะต้องทำตั้งแต่วันนี้ให้กับพวกเขา” คุณแดนกล่าว

ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษ “คุณแดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) โดย สุทธิชัย หยุ่น ในรายการ “กาแฟดำ” วันพฤหัสบดีที่ 23 ธ.ค. 64 เวลา 22.45 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ