จากกรณีที่มีนักวิจัยไทยรายหนึ่ง ทำวิจัยใช้ขนไก่ ซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมอาหารและปศุสัตว์ มาแปรรูปทำอาหารอุดมโปรตีนได้สำเร็จ จนมีสื่อต่างชาติให้ความสนใจเป็นวงกว้างนั้น
ล่าสุด นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้สัมภาษณ์พิเศษ คุณศรวุฒิ กิตติบัณฑร Material Designer ผู้ทำงานวิจัย “เปลี่ยนขนไก่เป็นอาหาร” ได้สำเร็จ และเพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้าน Material Futures ที่สถาบัน Central Saint Martins กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
นักวิจัยไทยเจ๋ง! พัฒนา “เนื้อสัตว์จากขนไก่” อาหารแห่งอนาคต
นักวิจัยสวีเดนสกัดขนไก่เป็นอาหาร
“ขนไก่” ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
คุณศรวุฒิเล่าให้ฟังว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากปัญหาที่พบเห็น คือการบริโภคไก่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จนมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 คนจะบริโภคเนื้อไก่มากที่สุดในโลก มากกว่าเนื้อชนิดอื่น ๆ ซึ่งในการทำอุตสาหกรรมไก่นั้น เมื่อได้เนื้อไก่ให้ผู้บริโภคแล้ว จะเหลือ “ขนไก่” เป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม
เขาเสริมว่า ที่ยุโรปในแต่ละปีมีขยะขนไก่ถูกทิ้งหรือกำจัดโดยเปล่าประโยชน์ประมาณ 2.3 ล้านตัน
“ไก่เนี่ย การบริโภคมันไม่เหมือนหมูหรือวัวที่แทบทุกส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ว่าขนไก่ที่เกิดจากการฆ่าไก่ จะถูกนำไปทิ้ง เอาไปเผาทิ้ง เอาไปฝังกลบ ซึ่งมันสร้างปัญหา เป็นมลพิษ” นักวิจัยไทยกล่าว
สำหรับขนไก่นั้น หากนำไปเผาจะเกิดมลพิษ สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเยอะกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียอีก หรือหากฝังกลบ ก็จะเกิดแก๊สเน่าเสีย เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมถึงอาจทำให้น้ำที่อยู่ในดินปนเปื้อนไปด้วย
คุณศรวุฒิยังเสริมว่า การนำขนไก่มาเป็นวัสดุทำอะไรสักอย่างเพื่อที่จะไม่ต้องกำจัดทิ้งนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้นักวิจัยท่านอื่น ๆ เคยศึกษานำขนไก่ไปทำวัสดุก่อสร้างแล้ว ซึ่งเป็นการใช้คุณสมบัติทางกายภาพของขนไก่ แต่ตนเองสนใจคุณสมบัติทางเคมีของขนไก่มากกว่า
“ประมาณ 91% ของขนไก่เป็นโปรตีน เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายเราต้องการในชีวิตประจำวันแต่ร่างกายสร้างไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์”
สำหรับวิธีการเปลี่ยนขนไก่มาเป็นอาหารนั้น เริ่มจากการนำขนไก่มาทำความสะอาด ให้ปราศจากเลือด หรือน้ำมันปนเปื้อนอื่น ๆ จากนั้นสกัดด้วยเอนไซม์ หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาพันธะเคมีในขนไก่แตกตัวออก ใช้ระยะเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง ก็จะได้สารกัดโปรตีนที่เป็นของเหลว
หลังจากสกัดเสร็จ ก็นำไปดูดของเหลวออกจนกลายเป็นผง ซึ่งผงนี้เองที่สามารถเอามาขึ้นรูปเป็นอาหาร นักเก็ต หรือสเต๊กได้ “เป็นโปรตีนทางเลือก”
“โปรตีนทางเลือก” อาหารแห่งอนาคต
คุณศรวุฒิมองว่า โปรตีนทางเลือกในโลกขณะนี้สำคัญมาก องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือองค์การอาหารโลก (WFO) ออกมาเตือนว่า อาหารกำลังจะหมดไปจากโลก ทรัพยากรจะไม่พอ มนุษย์ต้องหาโปรตีนอื่น ๆ มาทดแทน
ปัจจุบัน อาหารทางเลือก เช่น เนื้อทดแทนที่ทำจากพืช กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมารับประทานอาหารวีแกนและมังสวิรัติมากขึ้น จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับประทานเนื้อสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์
ล่าสุด ที่ประเทศสิงคโปร์เพิ่งมีการวางขายเนื้อไก่เพาะเลี้ยงเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา และนับเป็นที่แรกในโลกที่เริ่มมีการขายเนื้อสัตว์ทางเลือกในร้านค้าจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม คุณศรวุฒิบอกว่า การรับรู้ของสังคมในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการยอมรับโปรตีนทางเลือกมากนัก เกิดจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย และเรื่องของราคาที่สูง
“เราต้องค่อย ๆ แนะนำให้สังคมรู้จัก ว่ามันทานได้ แนะนำไปเรื่อย ๆ โดยอาจไม่ได้ทำเป็นเนื้อ แต่ทำเป็นเครื่องดื่มก่อน หรือเอาไปทดแทนคุณค่าทางอาหาร เช่น เวย์โปรตีน ฟาสต์ฟู้ด ให้เขารู้จักก่อน” คุณศรวุฒิบอก
แนวทางการต่อยอดในอนาคต
คุณศรวุฒิบอกว่า เขามีแผนดำเนินการวิจัยต่อที่ประเทศไทย โดยเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการบริโภคไก่สูงขึ้น และอาจมีขยะที่เป็นขนไก่เพิ่มขึ้น 30% จึงเป็นโอกาสสำคัญในการกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารบ้านเรา และช่วยนำขยะมาใช้ประโยชน์ในอีกทางหนึ่ง
นักวิจัยไทยบอกว่า งานวิจัยนี้ยังมีส่วนที่ขาดอีกมาก ทั้งการวิจัยและพัฒนา การทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้จริง โดยแต่ถ้าต้องทำเป็นธุรกิจจริง ๆ จะต้องพัฒนาเทคโนโลยี และขยายสเกลการผลิต รวมถึงต้องผ่านมาตรฐานการรับรองต่าง ๆ จึงมองว่ายังเป็นเรื่องที่น่าจะอีกไกล
นอกจากนี้ คุณศรวุฒิยังมีความสนใจในวัสดุอื่น ๆ เช่น กากกาแฟ เนื่องจากปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟแพร่หลาย บางร้านนำกากกากแฟมาทำเป็นแก้ว
“ด้วยความที่เรียนสถาปนิก ผมก็สนใจว่า กากกาแฟมันน่าจะเอามาใช้ในงานก่อสร้างได้มั้ย ก็เริ่มศึกษาว่า กากกาแฟถ้าไปแทนบางส่วนของซีเมนต์ สมมติใช้แทนทรายบางส่วน”
เขาเสริมว่า “สิ่งที่ผมสนใจจะเป็นของเสียทั้งหมด จะเปลี่ยนของเสียเป็นของมีค่าได้ยังไง ทำสิ่งที่ดูไม่มีคุณค่าในวันนี้ ให้มีคุณค่าในอนาคตได้ยังไง ซึ่งมันก็เป็นการสร้างโอกาสในอนาคตได้”