นายกฯ แสดงทัศนะในเวทีโลก COP26 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 2065

โดย PPTV Online

เผยแพร่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแสดงทัศนะในเวทีโลก COP26 เน้นย้ำให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ และจะมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขึ้นกล่าวแสดงทัศนะต่อประชาคมโลกและผู้นำระดับโลก ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร

โดยนายกฯ ใช้เวลาประมาณ 4 นาทีในการแสดงทัศนะเป็นภาษาไทย ใจความแสดงจุดยืนที่จะร่วมแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ

"ประยุทธ์" ฉีดวัคซีนเข็ม 3 บูสเตอร์โดส ฉีดไฟเซอร์ เตรียมบินสกอตแลนด์

เผยภาพจำลองระดับน้ำในเมืองทั่วโลก หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส

วิกฤตสภาพอากาศอาจบีบให้ 216 ล้านคนทั่วโลกต้องย้ายถิ่นฐานภายในปี 2050

“ท่านประธานและท่านผู้นำทุกท่าน ผมมาร่วมประชุมวันนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมจะร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลก และอนาคตของลูกหลานพวกเราทุกคน

“ในปัจจุบัน ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีส เมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส”

COP26 เห็นชอบยุติการทำลายป่าในปี 2030

“คำมั่นสัญญาของไทยนั้น มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาชนโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่ง อย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี

“นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC (เป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ) ฉบับปรับปรุงปี 2020 และจัดทำรายงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ล่าสุด ไทยส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวนั้น การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำในกับ UNFCCC โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้”

“วันนี้ ผมมาพร้อมกับเจตนารมณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 หรือก่อนหน้านั้น ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงิน และเทคโนโลยี อย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถ จากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญา ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็น 0 ได้ภายในปี 2050”

“ขณะนี้ประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อให้นำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งไทยจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุม APEC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า”

“สุดท้ายนี้ ผมคิดว่า หมดเวลาแล้วสำหรับความล้มเหลวอีก และโลกกำลังบอกเราว่า การประทุษร้ายธรรมชาติต้องยุติเพียงเท่านี้ เพื่อการดำรงไว้ซึ่งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งอากาศ ที่ทุกคนต้องหายใจร่วมกัน ดังนั้น มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิด มีความอดทนสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา”

“ผมขอย้ำว่า เราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกใบที่สอง ซึ่งจะเป็นบ้านของพวกเราได้เหมือนโลกใบนี้อีกแล้ว ขอบคุณครับ”

ฟังถ้อยแถลงของนายกฯ ที่นี่ (นาทีที่ 3.19.00-3.23.00)

โดยก่อนเข้าร่วมพิธีเปิดและขึ้นเวทีกล่าวถ้อยแถลงแสดงทัศนะ เพจไทยคู่ฟ้า ได้เผยแพร่ภาพนายกฯ พบปะกับผู้นำระดับโลกคนอื่น ๆ

เพจไทยคู่ฟ้าระบุว่า “นายกรัฐมนตรีพบปะผู้นำประเทศต่าง ๆ เช่น เยอรมนี แคนาดา อิสราเอล คูเวต เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย อย่างเป็นกันเอง ระหว่างรอพิธีเปิดการประชุม COP 26 โดยพูดคุยในประเด็นที่สนใจร่วมกัน รวมถึงการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปกในปี 2565 ด้วย”

เตรียม! "คนละครึ่งเฟส 4" โฆษกรัฐบาล เผยลงทะเบียน คนละครึ่งเฟส 3 เต็มแล้ว มีแอปฯเดลิเวอรีใหม่

ทักทาย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

ทักทาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา

ทักทาย นาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

จับมือตัวแทนจากคูเวต

พูดคุยกับ มูน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

จับมือทักทาย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ถ่ายรูปร่วมกับ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

เมื่อถึงพิธีเปิด พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ทักทายและพูดคุยสั้น ๆ กับ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติด้วย

สำหรับการประชุม COP26 จะใช้เวลาทั้งสิ้น 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. – 12 พ.ย. นี้ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศในหลายประเด็น เช่น ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งล่าสุด ผู้นำโลกมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ จีน เห็นพ้องต้องกันในข้อตกลงที่จะหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกในทศวรรษหน้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

ภาพจาก AFP / เพจไทยคู่ฟ้า

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ