“เป็นมิตรต่อไป ตราบใดที่ไม่ถูกคว่ำบาตร” ท่าทีจีนหลังรัสเซียประกาศระดมกำลัง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิเคราะห์ท่าทีของจีน ส่อเปลี่ยนความสัมพันธ์รัสเซียหรือไม่ หลังปูตินสั่งระดมกำลังเตรียมยกระดับการรุกรานยูเครน

หลังจากที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศระดมกำลังพลสำรองเข้าไปเสริมทัพ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน” ทั่วโลกต่างจับตาไปที่ สี จิ้นผิง และประเทศจีน พันธมิตรคนสำคัญของรัสเซีย ว่าจะมีปฏิกิริยาใดต่อการตัดสินใจนี้

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากท่าทีที่ผ่านมาของจีนที่ไม่ได้ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุน หลายคนน่าจะเดาได้ว่า สิ่งที่จีนบอกคงไม่พ้น “การเรียกร้องให้หยุดยิงและดำเนินการเจรจา”

ข่าวกรองสหรัฐฯ อ้าง ภายในกองทัพรัสเซียกำลังเสียงแตก ไม่รู้ไปทางไหนดี

ปูตินสั่งระดมกำลังพลสำรอง 3 แสนนาย เหมือนเอาชีวิตคนไปทิ้ง?

“ปูติน” พบ “สี จิ้นผิง” ความสัมพันธ์หวานชื่นที่จีนกำลังเป็นฝ่ายคุมเกม

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า “เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการยิงและดำเนินการเจรจา ปรึกษาหารือและหาแนวทางแก้ไขที่รองรับข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องตามกฎหมายของทุกฝ่ายโดยเร็วที่สุด”

เขาเสริมว่า “เรายืนกรานเสมอว่า ควรเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ ควรปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ควรพิจารณาข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องตามกฎหมายของทุกประเทศอย่างจริงจัง และความพยายามทั้งหมดที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์อย่างสันติควรได้รับการสนับสนุน”

ปูตินประกาศการระดมพลเมื่อต้นวันพุธ และให้คำมั่นว่าจะใช้ “ทุกวิถีทางที่มีอยู่” เพื่อปกป้องดินแดนรัสเซีย หลังจากที่ภูมิภาคที่มอสโกยึดครองของยูเครนประกาศการลงประชามติผนวก

“จีนเรียกร้องให้มุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขความแตกต่างอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ และเรายินดีที่จะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ในการขจัดสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น” หวัง เหวินปิน กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ถึงอย่างไร สี จิ้นผิง ไม่น่าจะทิ้ง “เพื่อนเก่า” อย่างปูติน แม้ว่าการตัดสินใจของผู้นำรัสเซียในการส่งทหารอีกหลายแสนนายไปยังยูเครนและการขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์อาจบ่อนทำลายความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ

ปัญหาสำคัญของจีนคือ จะต้องพยายามรักษาจุดยืนของจีนที่ “ยังคงเป็นมิตรกับรัสเซีย แต่ไม่มากไปจนถูกตะวันตกคว่ำบาตร”

สี จิ้นผิง และปูติน ใกล้ชิดกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีทัศนคติที่ตรงกันในเรื่องการเฝ้าระวังชาติตะวันตก แต่จีนระมัดระวังที่จะไม่ให้การสนับสนุนโดยตรงใด ๆ แก่รัสเซียที่อาจก่อให้เกิดการคว่ำบาตรจากตะวันตก

เดิมทีจีนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการที่เข้มงวดอยู่แล้วจนประชาชนในประเทศไม่พอใจ ดังนั้นเมื่อมีศึกในจีนจึงไม่น่าจะต้องการเปิดศึกนอกอีก

เฮนรี หวัง ฮุยเหยา ผู้ก่อตั้ง Beijing Think Tank สถาบันคลังสมองในจีน กล่าวว่า “จีนไม่สนับสนุนสงคราม ไม่สนับสนุนความขัดแย้ง นั่นชัดเจนมากตั้งแต่เริ่มต้น”

เขาบอกว่า การสั่งระดมกำลังพลไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อจีนหรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อีกทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งคู่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปอีกขั้น เนื่องจากจีนได้ประโยชน์จากการนำเข้าทรัพยากรพลังงานของรัสเซียในราคาถูกได้ ในขณะที่รัสเซียชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการคว่ำบาตรของตะวันตก

สตีฟ ชาง ผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกแห่ง SOAS University of London กล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ สี จิ้นผิง คือการที่ปูตินไม่ล้มเหลวหรือการรุกรานสร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ... นโยบายต่างประเทศหลักของ สี จิ้นผิง คือผลประโยชน์จีนต้องมาก่อน”

หากพูดกันโดยง่าย สิ่งที่จีนต้องการ คือเพื่อนที่จะช่วยกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับจีนได้ ไม่ใช่จุดอ่อนที่จะมาฉุดรั้งการฟื้นตัวและพัฒนาของจีน

สือ หยินหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่า “จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะเว้นระยะห่างจากปูตินเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความแข็งกร้าว และแผนการผนวกดินแดนของเขา และภัยคุกคามเรื่องสงครามนิวเคลียร์ ... จีนไม่ต้องการให้เพื่อนที่ไม่เชื่อฟังคนนี้ต่อสู้ เพราะสนามรบนี้ไม่ใช่สิ่งที่จีนสามารถควบคุมได้เลย”

ไบรอัน ฮาร์ต จากศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าเราจะเห็นความแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างรัสเซียและจีน ผมมองว่านี่เป็นความต่อเนื่องของจีนที่พยายามจะผูกมิตรรัสเซีย โดยจีนจะสนับสนุนรัสเซียต่อไปเท่าที่สามารถทำได้ตราบเท่าที่มันไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของจีนเอง”

จนถึงตอนนี้ จีนได้พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะล้ำเส้นการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกอย่างระมัดระวัง เช่น ให้ความช่วยเหลือทางทหารโดยตรงแก่มอสโก เพียงแต่ช่วยพยุงเศรษฐกิจรัสเซียที่ย่ำแย่ด้วยการซื้อเชื้อเพลิงและพลังงานรัสเซียในราคาต่อรอง

การนำเข้าถ่านหินรัสเซียของจีนในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 57% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียก็เพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้าเช่นกัน

หากจะพูดอย่างใจจืดใจดำ ก็ต้องบอกว่า จีนต้องการรัสเซียในฐานะพันธมิตรต่อต้านตะวันตกและโดยเฉพาะสหรัฐฯ แต่หากวันใดที่รัสเซียเริ่มจะ “ลาก” จีนให้จมดิ่งด้วยกัน ก็เป็นไปได้ว่าจีนจะตัดสินใจ “สละ” เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ทิ้ง เพื่อผลประโยชน์ของจีน

เรื่องนี้ดู ๆ แล้วก็ไม่พ้นทำให้นึกถึงถ้อยความที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้นที่ถาวร”

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera / CNN / Reuters

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
วันหยุดเดือนตุลาคม 2565 เช็กปฎิทิน วันหยุดราชการ-วันหยุดธนาคาร-วันหยุดพิเศษ
วันหยุดเดือนตุลาคม 2565 เช็กปฎิทิน วันหยุดราชการ-วันหยุดธนาคาร-วันหยุดพิเศษ
ฟอร์ดร่อนจดหมายแจงสาเหตุลูกค้าทุบรถ 'ฟอร์ด เอเวอเรสต์'  ที่ นครราชสีมา
ฟอร์ดร่อนจดหมายแจงสาเหตุลูกค้าทุบรถ 'ฟอร์ด เอเวอเรสต์' ที่ นครราชสีมา
ลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 5 รอบเก็บตก ยังเหลือ 2 ล้านกว่าสิทธิ
ลงทะเบียนคนละครึ่ง เฟส 5 รอบเก็บตก ยังเหลือ 2 ล้านกว่าสิทธิ

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ