อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย แถลงวานนี้ (1 ต.ค. 65 ) ว่า ได้ถอนกำลังทหารออกจากเมืองลิมัน (Lyman) แล้ว เนื่องจากความเสี่ยงที่จะถูกโอบล้อม ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่า ยูเครนมีกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เหนือกว่ามาก
คำแถลงของกระทรวงกลาโหมรัสเซียมีขึ้น หลังจากที่โฆษกกองบัญชาการทางตะวันออกของกองทัพยูเครนระบุว่า ยูเครนได้โอบล้อมทหารรัสเซียหลายพันนายในเมืองลิมันในภูมิภาคโดเนตสก์แล้ว โดยทางการยูเครนได้โพสต์คลิปวิดีโอหลายคลิป ที่แสดงให้เห็นว่ากองกำลังยูเครนได้เข้าควบคุมเมืองลิมันแล้ว
เซเลนสกีประกาศสมัครเข้านาโตเร่งด่วน หลังรัสเซียผนวก 4 ภูมิภาคยูเครน
"ปูติน" ประกาศผนวก 4 แคว้นยูเครนเป็นของรัสเซีย
"ไบเดน" ลั่นไม่มีวันยอมรับรัสเซียผนวกดินแดน
เมืองลิมัน เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางภาคตะวันออกของยูเครน โดยตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ทหารรัสเซียได้เปลี่ยนเมืองนี้ให้เป็นศูนย์กลางขนส่งกำลังพลและเครื่องกระสุนสำหรับปฏิบัติการในตอนเหนือของภูมิภาคโดเนตสก์ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางรถไฟสำคัญที่เชื่อมระหว่างภูมิภาคโดเนตสก์ ลูฮันสก์ และคาร์คิฟ
เมืองลิมันมีทหารรัสเซียประจำอยู่ราว 5,000 นาย ซึ่งหากยูเครนยึดเมืองนี้คืนได้ทั้งหมด ก็จะถือเป็นหนึ่งในความพ่ายแพ้ทางทหารที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของรัสเซีย นับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานยูเครน และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนที่จะยึดภูมิภาคดอนบาสทั้งหมด ขณะที่ทหารยูเครนก็จะสามารถยึดทางตอนเหนือของโดเนตสก์ได้โดยสมบูรณ์ และเคลื่อนเข้าไปในภูมิภาคลูฮันสก์ที่อยู่ติดกันได้
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวระหว่างแถลงประจำวันเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า แม้ว่าธงชาติยูเครนจะโบกสะบัดในเมืองลิมันแล้ว แต่การสู้รบยังคงดำเนินอยู่
ยุโรปอ้าง พบเรือรัสเซียป้วนเปี้ยนใกล้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่รั่วไหล
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศผนวกโดเนตสก์ และอีกสามภูมิภาคเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งยังคงเผชิญเสียงประณามจากนานาชาติ แม้ว่าในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ รัสเซียจะใช้สิทธิวีโต้ร่างมติประณามการกระทำของรัสเซีย
ปูตินพูดอะไรบ้าง? ในการประกาศ “รวมแผ่นดิน” ผนวก 4 ภูมิภาคยูเครน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (30 ก.ย. 65) ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เป็นผู้เสนอร่างมติเรียกร้องให้รัฐสมาชิกไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงสถานะใด ๆ ของดินแดนยูเครน และบังคับให้รัสเซียถอนกองทัพของตนออกจากยูเครน โดยรัสเซียได้ใช้วีโต้มติคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่ประณามการผนวกรวมดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อวันที่ 30 กันยายน ขณะที่ประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดอย่างจีนและอินเดีย ได้งดออกเสียงแทนที่จะใช้สิทธิคัดค้าน ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้และตุรกีต่างฝ่ายต่างออกแถลงการณ์ประณามและไม่ยอมรับการประกาศผนวกดินแดนยูเครนของรัสเซีย
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวที่ทำเนียบขาว เตือนว่า สหรัฐจะไม่กลัวคำขู่ที่ไม่ยั้งคิดของรัสเซีย ก่อนจะชี้ไปที่กล้องและพูดถึงผู้นำรัสเซียโดยตรงว่า อเมริกาและพันธมิตรนาโตพร้อมเต็มที่ที่จะปกป้องอาณาเขตของนาโตทุกตารางนิ้ว
ยูเครนจ่อเอาผิดชาวยูเครนที่ช่วยรัสเซียจัดลงประชามติผนวกดินแดน
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ มีรายงานขบวนรถพลเรือนถูกขีปนาวุธโจมตีในภูมิภาคคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตที่รัสเซียยึดครองของรัสเซียและเขตที่ยูเครนยึดครอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 13 คน และผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อีก 1 คน
หน่วยข่าวกรองยูเครน ได้เผยภาพถ่ายซากรถยนต์ของพลเรือนหลายคันที่ถูกทำลายอยู่ข้างทางรถไฟ และร่างของผู้เสียชีวิตที่ถูกเผาจนเกรียม โดยระบุว่าขบวนรถพลเรือนถูกโจมตีเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ข่าวนี้ออกมาหลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (30 ก.ย. 65) เพิ่งจะเกิดเหตุโจมตีขบวนรถมนุษยธรรมที่ชานเมืองซาโปริซเซียทางตอนใต้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน และได้รับบาดเจ็บเกือบ 100 คน
ส่วนความเคลื่อนไหวด้านพลังงานในยุโรป เมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 65) กรีซและบัลแกเรียได้ทำพิธีเปิดท่อส่งก๊าซระยะทาง 182 กิโลเมตร จากเมืองโคโมตินีทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซ เชื่อมกับท่อส่งทรานส์อะเดรียติก กับเมืองสตาราซาโกรา ทางตอนกลางของบัลแกเรีย บัลแกเรียกำลังประสบปัญหาในการซื้อก๊าซในราคาสมเหตุสมผลตั้งปลายเดือนเมษายน หลังจากบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียระงับการส่งก๊าซให้บัลแกเรียที่ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าก๊าซเป็นสกุลเงินรูเบิล
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ท่อก๊าซนี้เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานของบัลแกเรียและยุโรป และหมายถึงอิสระจากการพึ่งพาก๊าซของรัสเซีย โดยรัสเซียได้ลดการส่งก๊าซให้กับยุโรป หลังจากชาติตะวันตกบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจากกรณีรุกรานยูเครน ทำให้ประเทศในสหภาพยุโรปหลายประเทศต้องวิ่งหาแหล่งก๊าซทางเลือกท่ามกลางราคาที่พุ่งสูงขึ้น