หากพูดถึงประเทศในโลกนี้ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แน่นอนว่าประเทศทางแถบแอฟริกาก็นับว่าเป็นบ้านของสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย แต่ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า "เคนยา" หนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันออกกำลังเผชิญภัยแล้งครั้งรุนแรงที่ถือว่าหนักสุดในรอบกว่า 40 ปี มิหนำซ้ำ ภัยแล้งนี้ยังทำให้ม้าลายสายพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลกตายไปกว่าร้อยละ 2 ในเวลาเพียงแค่ 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีช้างตายไปอีกกว่า 50 ตัวซึ่งมากกว่าจำนวนปกติในช่วงเวลาเดียวกัน
ตุรกีจี้แก้ปัญหาสุนัขเร่ร่อน หรือถึงคราวสมควรถูกกำจัด
ภายใน 80 ปี ตะวันออกกลางจะร้อนจนอาศัยอยู่ไม่ได้
ฆาตกรรมสยองเขย่าอินเดีย 2 มุสลิมฆ่าตัดหัวชาวฮินดู อ้างเพื่อล้างแค้น
เคนยา ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ที่สัตว์ป่าทั้งหลายสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดกว้าง ออกหากินได้ในพื้นที่ที่กว้างขวาง แต่นักอนุรักษวิทยารระบุว่าช่วงหลังมานี้ สัตว์ป่าเหล่านี้เริ่มเข้ามายังแถวหมู่บ้านและชุมชนของคนมากขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถ้าหากไม่มีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลจัดการ หรือแม้แต่แทรกแซงเพื่อที่จะปกป้องชีวิตสัตว์ป่าเหล่านี้ และถ้าหากฝนไม่ตกตามฤดูกาลอีก ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันออกจะต้องเผชิญกับวิกฤตสัตว์ป่าสูญพันธุ์แน่นอน ด้านประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต (William Ruto) ได้ประกาศให้ภัยแล้งนี้เป็นภัยพิบัติแห่งชาติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ขณะที่ แอนดรูว์ เลทูรา นักนิเวศวิทยา ซึ่งหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์สัตว์ให้กับ Grevy’s Zebra Trust หรือศูนย์พิทักษ์ม้าลายเกรวี กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือภัยคุกคามที่น่ากังวล เพราะตั้งแต่ที่ทีมเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาดูแลจำนวนประชากรม้าลายเกรวี ก็ได้พบว่าเพียงช่วงเวลา 3 เดือน มีม้าลายตายไปแล้วกว่า 40 ตัว ซึ่ง พวกเขาก็กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับม้าลายที่เหลือ ดังนั้น ทีมเจ้าหน้าที่จึงทำงานกันอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนเพื่อดูแลและปกป้อง ม้าลายที่เหลืออยู่ให้รอดปลอดภัยและผ่านพ้นห้วงเวลาของภัยแล้งนี้ไปให้ได้
ทั้งนี้ ม้าลายสายพันธุ์เกรวี เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะตัวใหญ่กว่าพันธุ์ธรรมดา และมีลายที่แคบกว่า รวมทั้งหูที่กว้างกว่า โดยม้าลายเกรวีจัดอยู่ในสปีชี่ส์ม้าลายพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลก ซึ่งในโลกนี้มีม้าลายพันธุ์นี้อยู่ทั้งหมด 3,000 ตัว โดย 2,500 ตัวอยู่ในเคนยา เลทูรา ยังบอกอีกด้วยว่า ณ เวลานี้มีลูกม้าลายหลายตัวที่น่าเป็นห่วงจากภาวะภัยแล้ง มีเพียงหญ้าแห้งที่พวกแม่ม้าลายกินประทังชีวิต ซึ่งถ้าวันหนึ่งที่พวกมันไม่มีอะไรหลงเหลือให้กิน วันนั้นก็จะมีลูกม้าลายที่ต้องตายเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ Grevy’s Zebra Trust ได้เข้ามาให้อาหารม้าลายเกรวีด้วยฟาง ผสมน้ำเชื่อม เกลือ และแคลเซียม เพื่อช่วยลดจำนวนม้าลายที่ตาย แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการตายได้ทั้งหมด
ขณะที่สถานการณ์ทางภาคใต้ของเคนยาก็สิ้นหวังเช่นเดียวกัน เบนสัน เลเยียน ผู้บริหารมูลนิธิ Big Life Foundation บอกว่า เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ Amboseli (แอมโบเซลี) พบว่ามีสัตว์ตาย หรือป่วยหนักเพิ่มขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดยเลเยียนระบุว่า ศูนย์พิทักษ์ช้างของอุทยานฯ รายงานอ้างจากผลสำรวจประชากรช้าง พบว่ามีช้างตายไปกว่า 50 ตัว ทั้งนี้ มูลนิธิ Big Life ได้ร่วมมือกับกับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ในท้องถิ่น ช่วยกันปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ที่เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าเหล่านี้ รวมทั้งขยายพื้นที่ของป่าไม้ในระบบนิเวศวิทยาของอุทยานแห่งชาติ Amboseli ด้วย
ภัยแล้งในเคนยากลายเป็นสิ่งที่กระทบระบบนิเวศวิทยามากขึ้น แต่กระนั้น สัตว์ที่ตายที่นี่ก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากภัยแล้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เลเยียน บอกกับว่าที่จริงแล้วบริเวณยังพบว่ามีพรานป่าที่ชอบเข้ามาในบริเวณนี้ด้วย โดยมีรายงานที่น่าสนใจจากองค์กร Save the Elephants พบว่าตัวเลขของช้างที่ตายเพิ่มสูงขึ้นนั้น ตายเพราะกระสุน หอก ในขณะที่งาของพวกมันยังอยู่ดี ซึ่งนั่นก็แปลว่าคนที่ฆ่ามันไม่ได้ตั้งใจจะเอางาไปขาย แต่อาจจะเป็นเพราะพวกมันไปรุกล้ำพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่นั่นเอง
สืบเนื่องจากวิกฤตสัตว์ป่าที่ล้มตายเป็นจำนวนมากนี้อาจไม่ได้มีเหตุปัจจัยมาจากภัยแล้งเพียงอย่างเดียว เดวิด ดาบอลเลน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่ปศุสัตว์ขององค์กร Save the Elephants ระบุว่าการทำปศุสัตว์ที่มากเกินควรและทำให้พื้นที่ของอุทยานลดน้อยลงไป ซึ่งพื้นที่ปศุสัตว์นี้ก็ยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาสมบูรณ์ในภาวะภัยแล้งเช่นนี้ ส่วนการจะคาดการณ์ถึงปริมาณฝนที่จะตกลงมาในฤดูฝนปีหน้า ซึ่งปกติแล้วฝนจะตกในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนั้น เลทูรา นักอนุรักษวิทยาจากศูนย์พิทักษ์ม้าลายเกรวี พูดทิ้งท้ายว่ามันอาจจะเป็นการคาดหวังที่เลื่อนลอยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้ จึงกลายเป็นการเดินทางเข้าสู่วิกฤตของความหายนะที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง
วิกฤตภัยแล้งในเคนยาที่ว่ารุนแรงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี ไม่ได้กระทบแค่สัตว์ป่าเท่านั้น หากแต่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเคนยา มีรายงานว่าผู้คนในหลายครัวเรือนอยู่ภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ฝนตกน้อยมากในแถบประเทศเคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ประชากรกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน ต้องย้ายถิ่นฐานไปยังที่ที่มีอาหารและน้ำดื่มเพื่อให้อยู่รอด
ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่จากภาวะอดอยากนี้ ทำให้เด็กๆ เจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างในเขต Lodwar ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเคนยา มีห้องที่สร้างไว้เพื่อรับรักษาเด็กที่ป่วยหนักจากการขาดแคลนอาหาร
นอกจากนี้ องค์กรยูนิเซฟ ยังรายงานว่า ผลพวงจากสงครามรัสเซีย ยูเครน และการระบาดของโควิด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาวะอดอยากทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสินค้า เช่น น้ำมันพืช ขนมปัง แป้งสาลี ที่มีฐานการผลิตและส่งออกจากยูเครนเป็นหลักนั้น จะส่งไปยังประเทศในแถบแอฟริกา
ในขณะที่ นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซาระบุว่า ภัยแล้งเกิดขึ้นเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ หลายประเทศในแถบแอฟริกากำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่น่ากลัวและไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย ท่ามกลางสัตว์ป่าที่ล้มตายลงไปเป็นจำนวนมากเรื่อยๆ ในแต่ละปี และวิกฤตภัยแล้งครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี