องค์การนาซา (NASA) แถลงความคืบหน้าภารกิจ DART หรือการนำยานสำรวจพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อยเพื่อทดลองการเบี่ยงวิถี เพื่อศึกษาการเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยที่อาจเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกในอนาคต หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย. นาซาได้ส่งยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เข้าเป้าสำเร็จตามแผนที่วางไว้
เดิมทีนาซาประเมินว่า อาจต้องใช้เวลา 2 เดือนจึงจะทราบผลว่า วิถีหรือวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ภารกิจ “DART” ของนาซาประสบความสำเร็จ ก้าวสำคัญป้องกัน “อุกกาบาตชนโลก”
นาซาซ้อมปกป้องโลก เตรียมทดสอบภารกิจ “DART” พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย
“เหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี” ศึกชิงความเป็นมหาอำนาจครั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์นาซาก็สามารถสรุปได้แล้วว่า “แรงที่เกิดจากการส่งยานไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสสามารถเปลี่ยนวิถีการโคจรของมันได้จริง” นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของนาซาในการศึกษาแผนการปกป้องโลกจากเหตุอุกกาบาตชนโลกที่อาจเกิดขึ้น
ก่อนการพุ่งชนของโครงการ DART ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสใช้เวลา 11 ชั่วโมง 55 นาที ในการโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย “ดีดิมอส (Didymos)” แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ผลของการพุ่งชนได้เปลี่ยนวิถีโคจรของไดมอร์ฟอสรอบดีดิมอสไป 32 นาที ทำให้วิถีโคจรสั้นลงเหลือ 11 ชั่วโมง 23 นาที
เดิมทีนาซาหวังแค่ว่าจะเปลี่ยนวิถีการโคจรของดาวเคราะห์น้อยได้อย่างน้อย 73 วินาที แต่ผลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า DART ประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 25 เท่า
บิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา กล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า “เราทุกคนมีหน้าที่ปกป้องโลกบ้านเกิดของเรา ท้ายที่สุด นี่เป็นโลกใบเดียวที่เรามี”
เขาเสริมว่า “ภารกิจนี้แสดงให้เห็นว่า นาซาพยายามเตรียมพร้อมสำหรับทุกสิ่งที่จักรวาลจะส่งมายังโลก นาซาได้พิสูจน์แล้วว่า เราจริงจังในฐานะผู้พิทักษ์โลก นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการปกป้องมนุษยชาติทั้งหมดจากดาวเคราะห์น้อย”
ด้าน ลอรี เกลซ ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา กล่าวว่า “ผลลัพธ์นี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำความเข้าใจผลทั้งหมดของ DART ที่มีต่อดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย”
เธอเสริมว่า “เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามาในแต่ละวัน นักดาราศาสตร์จะสามารถประเมินได้ดีขึ้นว่า ภารกิจในลักษณะเดียวกับ DART จะถูกนำมาใช้ในอนาคตเพื่อช่วยปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยหรือไม่และอย่างไร หากเราพบว่ามีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งกำลังมุ่งหน้ามาหาเรา”
นาซาและองค์กรอวกาศอื่น ๆ ทั่วโลกประเมินว่า ภัยจากอวกาศที่อาจคุกคามโลกได้ คือ วัตถุใกล้โลก (NEO) หรือดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่มีวงโคจรที่อยู่ในระยะ 48.3 ล้านกิโลเมตรจากโลก
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบและศึกษาวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเกือบ 30,000 ดวงในระบบสุริยะที่มีวงโคจรใกล้โลก ซึ่งดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดผ่านวงโคจรโลก ก็จะมีความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจึงต้องการเตรียมพร้อมตั้งรับความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกในอนาคต
แม้จะไม่มีการตรวจพบว่าจะมีดาวเคราะห์น้อยขนาด 10 กว่ากม. ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จะพุ่งตรงมายังโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงเล็ก ๆ ซึ่งตรวจสอบได้ยากกว่าก็สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลได้ ตัวอย่างเช่นเหตุอุกกาบาตตกเหรือเชลยาบินสก์ (Chelyabinsk) ในรัสเซียเมื่อปี 2013 แม้จะมีขนาดเพียง 20 เมตร แต่ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 1,600 คน และสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากได้รับความเสียหาย
เรียบเรียงจาก NASA
ภาพจาก AFP / NASA