หมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซียที่ถูกเรียกว่า “เขตอนุรักษ์วีดี (Widi Reserve)” กำลังจะถูกประมูลขายให้กับผู้ที่สนใจจากทั่วโลกในวันที่ 8-14 ธ.ค. นี้ ถือเป็นหนึ่งในการประมูลอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจับตามองครั้งหนึ่งของโลก
เขตอนุรักษ์วีดีเป็นหมู่เกาะที่ประกอบด้วยเกาะย่อย ๆ มากกว่า 100 เกาะ มีพื้นที่ป่าฝน ป่าชายเลน ทะเลสาบ และชายหาด รวมประมาณ 100 ตร.กม. ปัจจุบันไม่มีผู้อาศัย เป็นส่วนหนึ่งของเขตคุ้มครองทางทะเล “สามเหลี่ยมปะการัง” ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย
ภูเขาไฟใหญ่สุดในโลก “เมานาโลอา” ปะทุครั้งแรกในรอบ 40 ปี
เปิดคุณสมบัติ “กัญชา” ที่อาจทำให้มันเป็น “วีรบุรุษสู้โลกร้อน”
“โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนอวกาศ” อนาคตด้านพลังงานของโลก
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่า นี่เป็นหนึ่งในช่องทางที่อินโดนีเซียพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ เดิมทีภายใต้กฎหมายอินโดนีเซีย จะไม่สามารถขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทเกาะให้กับชาวต่างชาติโดยตรงได้ ดังนั้น ผู้ซื้อจะประมูลหุ้นในบริษัท PT Leadership Islands Indonesia (LII) แทน
LII เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของอินโดนีเซียที่ได้รับสิทธิ์ในการสร้างรีสอร์ทเชิงอนุรักษ์และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในเขตสงวน เท่ากับว่า ผู้ซื้อคนใดที่ประมูลหุ้นในบริษัท LII มาได้ ก็จะมีสิทธิ์ในการจัดการและพัฒนาหมู่เกาะเขตอนุรักษ์วีดีได้ เหมือนกับประมูลเกาะมาได้นั่นเอง
โดยขณะนี้ LII ได้มีการเตรียมทีมสำหรับการก่อสร้างที่พักระดับลักชัวรีไว้แล้ว นำทีมโดย บิล เบนสลีย์ นักออกแบบที่อยู่เบื้องหลังโรงแรมและรีสอร์ทหรูหลายแห่งทั่วเอเชีย
ชาร์ลี สมิธ รองประธานบริหารประจำภูมิภาค EMEA (ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา) ที่ Sotheby's Concierge Auctions ซึ่งเป็นผู้จัดการประมูล คาดหวังว่า การเสนอราคาสำหรับหมู่เกาะนี้จะได้รับความสนใจจากมหาเศรษฐีทั่วโลก
“มหาเศรษฐีทุกคนสามารถเป็นเจ้าของเกาะส่วนตัวได้ แต่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของโอกาสพิเศษนี้ที่จะได้ครอบครองเกาะมากกว่า 100 เกาะในคราวเดียว” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้รับเสียงคัดค้านอย่างมากจากบรรดานักอนุรักษ์ ซึ่งมองว่าการประมูลครั้งนี้ จะนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศของหมู่เกาะ ซึ่งนอกจากจะอุดมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์แล้ว ยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น วาฬสีน้ำเงิน ฉลามวาฬ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก แมลง และกิ้งก่าอีกรวมกว่า 600 สายพันธุ์ ยังไม่นับสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ถูกค้นพบซึ่งเชื่อว่ามีอยู่อีกจำนวนหนึ่งด้วย
โมฮัมหมัด อับดี ซูฮูฟาน เจ้าหน้าที่ประสานงานของ Destructive Fishing Watch Indonesia ได้ขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียตรวจสอบการประมูลขายหมู่เกาะครั้งนี้ เพราะแม้ว่าในแผนการพัฒนาหมู่เกาะจะระบุถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่กรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะจะ “ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ”
เขาบอกว่า “จุดหาปลาของชาวประมงที่ใช้เลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคนจะถูกจำกัด ผลกระทบทางสังคมของแผนพัฒนานี้จะหักล้างผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังเร่งรัดมากเกิดไปในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มีรายได้เข้ารัฐ”
ด้าน ไอวาน โซเฟียวาน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กล่าวว่า “จะรับประกันได้อย่างไรว่าเกาะเหล่านี้จะไม่ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว? แล้วการเข้าถึงชุมชนท้องถิ่นหลังจากเกาะกลายเป็นของเอกชนล่ะ?”
ในเรื่องนี้ สมิธให้ความเห็นว่า บริษัทพัฒนา LII จะมีส่วนร่วมและกำกับการพัฒนาหมู่เกาะอย่างใกล้ชิดด้วย ไม่ใช่แค่ส่งมอบโครงการแล้วปล่อยให้นักลงทุนปู้ยี่ปู้ยำเขตอนุรักษ์วีดียังไงก็ได้
เขากล่าวว่า แผนพัฒนาหมู่เกาะของบริษัท LII แตะต้องพื้นที่ป่าฝนน้อยกว่า 1% และน้อยกว่า 0.005% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด โดยมีพื้นที่ห้ามเข้าสำหรับนักท่องเที่ยวและพื้นที่ที่จำกัดจำนวนผู้เข้าพัก
สมิธเสริมว่า “เขตอนุรักษ์แห่งนี้กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการล่าปลาฉลาม การตัดไม้ทำลายป่า และการล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ภัยคุกคามเหล่านี้จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น” ดังนั้น นี่จึงเป็นบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจ
เขตสงวนวีดีสามารถเข้าถึงได้โดยเครื่องบินส่วนตัวเท่านั้น หากบินจากสนามบินนานาชาติงูระฮ์ ไร ของบาหลี จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.5 ชั่วโมง
การประมูลจะเริ่มขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค. และจะสิ้นสุดในวันที่ 14 ธ.ค. ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขราคาขั้นต่ำในการประมูลออกมา แต่ผู้ประมูลจะต้องวางเงินมัดจำ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (3.5 ล้านบาท) เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้มาประมูลเล่น ๆ
เรียบเรียงจาก CNN / The Guardian / Sotheby’s Concierge Auctions
ภาพจาก Sotheby’s Concierge Auctions