ยูเครนยังต้องการอาวุธเพิ่ม? โอกาสจบสงครามที่โต๊ะเจรจาริบหรี่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยูเครนในขณะนี้ยังคงพยายามร้องขอการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตกเพิ่มเติม ไร้วี่แววสงครามรัสเซีย-ยูเครนจบที่โต๊ะเจรจา

สงครามรัสเซีย-ยูเครนก้าวเข้าสู่เดือนที่ 11 และในเดือนหน้าก็จะครบรอบ 1 ปีของความขัดแย้งระดับโลกครั้งนี้ แต่กระนั้น สงครามนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดลง เพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมเจรจากันตราบใดที่อีกฝ่ายไม่ยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้น เช่นการถอนกำลังทหาร หรือการมอบดินแดน

นั่นทำให้ความขัดแย้งนี้ดูแล้วอย่างไรก็คงต้องไปวัดกันที่ความสามารถในการรบพุ่งของแต่ละฝ่ายว่าใครเหนือกว่า และหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ “อาวุธยุทโธปกรณ์”

กลาโหมอังกฤษ เผยรัสเซียอาจยึดเมืองโซเลียดาร์ได้เกือบหมด

สหราชอาณาจักรพิจารณาอาจส่งรถถัง “ชาเลนเจอร์ 2” ให้ยูเครน

"รัสเซีย"อ้างสังหารทหารยูเครน 600 นาย แก้แค้นที่ถูกโจมตี

มองกันเผิน ๆ อาวุธยุทโธปกรณ์ของฝั่งรัสเซียดูเหมือนจะเหนือกว่า แต่ยูเครนที่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนด้านการทหารจากสหรัฐฯ และพันธมิตรเองก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเท่าไรนัก

มิหนำซ้ำ หลังการไปเยือนสหรัฐฯ ของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อร้องขอให้สหรัฐฯ ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อนำไปรบกับรัสเซีย ทางสหรัฐฯ ก็ได้ตอบรับคำขอเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว และปีนี้ยังได้รับงบประมาณอัดฉีดกองทัพถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.6 ล้านล้านบาท จากสภาคองเกรส

จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า “ทางสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะส่งมอบอาวุธให้กับยูเครนตามคำขอความช่วยเหลือ แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชนิดก็ตาม ประธานาธิบดีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดย่อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการ เรามุ่งมั่นทำหน้าที่ของเรา และจะช่วยเหลือยูเครนเท่าที่ทำได้”

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ม.ค.) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศออกงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารให้ยูเครนอีกกว่า 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.25 แสนล้านบาท) โดยจะส่งยานเกราะต่อสู้ทหารราบ M2 Bradley ปืนใหญ่อัตตาจรเคลื่อนที่ ยานเกราะลำเลียงพล มิสไซล์พื้นสู่อากาศ กระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ให้แก่กองทัพยูเครนเพิ่ม

อย่างไรก็ดี เซเลนสกีแสดงความกังวลต่อการโจมตีด้วยมิสไซล์จากรัสเซีย อันส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศเสียหายและบางส่วนถูกทำลาย จึงต้องการยุทโธปกรณ์ป้องกันภัยทางอากาศที่มีศักยภาพมากกว่าเดิม ทางสหรัฐฯ และเยอรมนี จึงรับปากว่าจะส่งระบบมิสไซล์พื้นสู่อากาศ MIM-104 Patriot ให้กับยูเครนเพื่อเพิ่มศักยภาพการป้องกันการโจมตีด้วยมิสไซล์และโดรนของรัสเซีย

อีกหนึ่งยุทโธปกรณ์ที่ทางยูเครนต้องการคือ ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีกองทัพบก (Army Tactical Missile Systems หรือ ATACMS) เพื่อนำมาตอบโต้และขับไล่กองทัพเรือรัสเซียให้ออกจากบริเวณแหลมไครเมีย รวมไปถึงรถถังและยานเกราะมาทดแทนที่สูญเสียไป คาดการณ์ว่าทางสหรัฐฯจะส่งรถถัง M1 Abrams และยานเกราะต่อสู้ทหารราบ M2 Bradley ให้กับยูเครนเนื่องจากมีสำรองอยู่ในกองทัพเป็นจำนวนมาก

นอกเหนือจากนี้ ยูเครนยังต้องการเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับกองทัพอากาศ คาดการณ์ว่ายูเครนมี 2 ตัวเลือกให้พิจารณาคือ F-16 ของสหรัฐฯ และ Saab Gripen ของสวีเดน

ทางยูเครนจะเริ่มฝึกซ้อมกำลังพลให้ทำความเข้าใจกับยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยในสัปดาห์หน้า ทหารยูเครนราว 100 นายจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเริ่มการฝึกใช้ระบบมิสไซล์ Patriot ซึ่งปกติจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน แต่การฝึกนี้คาดว่าจะย่นระยะเวลาลง

ทั้งนี้ การที่ยูเครนยังคงร้องขออาวุธเพิ่มเติมนั้น ในแง่หนึ่งอาจเหมือนเป็นการเอาอาวุธเข้าสู้ตรง ๆ กับรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแข็งแกร่งของกองทัพก็เป็นหนึ่งในอำนาจต่อรองที่อาจนำไปสู่การเจรจาในท้ายที่สุดได้ วันใดที่ยูเครนสามารถเหนือกว่ารัสเซียได้และทำให้รัสเซียรู้สึกว่าการรบเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป เมื่อนั้นการจบสงครามที่โต๊ะเจรจาก็อาจเกิดขึ้น

 

เรียบเรียงจาก Newsweek / Japan Times / Reuters

ภาพจาก AFP

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ