อย่างที่ทราบกันดีว่า ทางช้างเผือกของเราเป็นแค่หนึ่งในกาแล็กซีหรือดาราจักรจากจำนวนนับอนันต์ที่มีอยู่ในเอกภพ และนอกกาแล็กซีของเราก็เต็มไปด้วย “เพื่อนบ้าน” อย่างกาแล็กซีต่าง ๆ
แต่มนุษย์โลกยังไม่ได้รู้จักเพื่อนบ้านของเราดีนัก กาแล็กซีทั้งหลายที่รายล้อมทางช้างเผือกอยู่ยังคงเป็นปริศนาโจทย์ใหญ่ที่รอคอยผู้ไขความลับหาคำตอบ หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ที่เรียกว่า “NGC 346” ในดาราจักรแคระเมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) ที่ใกล้กับทางช้างเผือกของเรา ห่างออกไปราว 200,000 ปีแสง
“พวงมาลาดวงดาว” ภาพความงดงามของจักรวาลส่งท้ายปีจาก “เจมส์ เว็บบ์”
นาซาเผยภาพใหม่ “เจมส์ เว็บบ์” วินาทีสองกาแล็กซีหลอมรวมเป็นหนึ่ง
“กาแล็กซีชนกัน” ภาพสุดยอดหาชมยากจาก “เจมส์ เว็บบ์”
ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจในการศึกษาเมฆแมกเจลแลนเล็กก็เนื่องจากสภาพและปริมาณของโลหะภายในดาราจักรแคระนี้มีความคล้ายคลึงกับสภาวะของกาแล็กซีโบราณในยุคที่เรียกว่า “คอสมิกนูน (Cosmic Noon)” หรือช่วงราว 3 พันล้านปีหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง (ประมาณ 1 หมื่นล้านปีก่อน) ซึ่งเป็นช่วงที่กาแล็กซีจะมีดาวฤกษ์แรกกำเนิดก่อตัวเป็นจำนวนมาก
และในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กขณะนี้ ก็กำลังมีการก่อตัวของดาวฤกษ์ด้วยอัตราที่สูงมาก จนได้ชื่อว่าเป็นกาแล็กซีที่ “ตื่นตัว” ที่สุดในหมู่กาแล็กซีเพื่อนบ้านของเรา
ดังนั้นการศึกษากาแล็กซีนี้จึงเป็นเหมือนการศึกษายุคคอสมิกนูนกลาย ๆ และผู้ช่วยล่าสุดที่ทำให้เรื่องนี้มีความคืบหน้าก็คือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) ของนาซานั่นเอง
ทั้งนี้ พื้นที่ของเมฆแมกเจลแลนเล็กที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์มากที่สุดก็คือ NGC 346
นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาได้ว่า กระบวนการก่อตัวของดาวฤกษ์ในเมฆแมกเจลแลนเล็กนั้นแตกต่างจากที่เกิดขึ้นในทางช้างเผือกของเราหรือไม่ โดยการสังเกตดาวก่อนกำเนิด (โปรโตสตาร์) ที่อยู่ในกระบวนการก่อตัว
เมื่อดาวฤกษ์เริ่มก่อตัวขึ้น แกนของดวงดาวจะเกิดการควบรวมก๊าซและฝุ่นที่ลอยอยู่ในอวกาศ กลายเป็นภาพดูเหมือนกับ “ริบบิ้น” ที่เกิดจากฝุ่นก๊าซ ตามภาพที่กล้อง เจมส์ เว็บบ์ สามารถถ่ายไว้ได้
ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ตรวจพบก๊าซรอบโปรโตสตาร์ภายใน NGC 346 อยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาตรวจพบฝุ่นจำนวนมากขนาดนี้ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย สวนทางกับข้อสันนิษฐานเดิม
ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์ศึกษาพบว่า กาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กมีความเข้มข้นขององค์ประกอบธาตุที่หนักกว่าไฮโดรเจนหรือฮีเลียม (นักดาราศาสตร์เรียกว่า โลหะ) น้อยกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือก
และเนื่องจากฝุ่นในอวกาศมักมีส่วนประกอบเป็นโลหะเป็นส่วนใหญ่ นักดาราศาสตร์จึงคาดว่าเมฆแมกเจลแลนเล็กจะมีฝุ่นในปริมาณน้อยและตรวจจับได้ยาก แต่ข้อมูลใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ของนาซากลับเผยให้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสมมติฐานดังกล่าว
กุยโด เดอ มาร์ชี จากองค์การอวกาศยุโรป หนึ่งในทีมศึกษาวิจัย กล่าวว่า “เรากำลังเห็นส่วนประกอบของโครงสร้าง ไม่เพียงแต่ของดาวฤกษ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงดาวเคราะห์ด้วย ... และเนื่องจากเมฆแมเจลแลนเล็กมีสภาพแวดล้อมคล้ายกับกาแล็กซีในจักรวาลยุคคอสมิกนูน จึงมีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์หิน (Rocky Planet) อาจก่อตัวในเอกภพเร็วกว่ามากกว่าที่เราคาดการณ์กันไว้”
เรียบเรียงจาก NASA
ภาพจาก NASA