สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐฯ

โดยมีเป้าหมายหลักคือการหารือความร่วมมือด้านความมั่นคงและประเด็นเศรษฐกิจโลก แต่ก่อนที่ผู้นำญี่ปุ่นจะเข้าพบกับผู้นำสหรัฐฯ คณะทำงานทั้งสองรัฐบาลก็ได้ประกาศเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงครั้งสำคัญ ท่ามกลางการขยายอิทธิพลของจีนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่นต่างเห็นตรงกันว่า จีนเป็นความท้าทายด้านยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดที่ทั้งคู่มีร่วมกัน

ญี่ปุ่น-อังกฤษ ลงนามกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง

หลายชาติประสานเสียงตรวจโควิดนักเดินทางจีน ยึดหลักวิทยาศาสตร์

ภาพการแถลงร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมและต่างประเทศของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังการหารือกันเมื่อวานนี้

ในแถลงการณ์ร่วม ทั้งสองประเทศระบุว่าเห็นตรงกันว่าจีนเป็นภัยคุกคามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อระเบียบโลก นโยบายต่างประเทศของจีนพยายามเปลี่ยนรูปแบบระเบียบระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และเพื่อให้จีนมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น

พฤติกรรมนี้ของจีนเป็นเรื่องน่ากังวลต่อพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ตลอดจนประชาคมโลก และแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นความท้าทายในด้านยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และกว้างไกลกว่านั้น

สหรัฐฯและญี่ปุ่นยังใช้โอกาสนี้ประกาศเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงครั้งสำคัญ โดยเห็นชอบปรับกองกำลังสหรัฐฯที่ประจำอยู่บนเกาะโอกินาวาทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการต่อต้านเรือของกองกำลังสหรัฐฯ บนเกาะดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากเกิดกรณีที่จีนบุกไต้หวันหรือกระทำการที่เป็นปรปักษ์ในทะเลจีนใต้หรือจีนตะวันออก

 โดย ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่ากรมนาวิกโยธินที่ 12 ของสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวาซึ่งเป็นกรมทหารปืนใหญ่ จะถูกปรับให้เป็นกรมนาวิกโยธินชายฝั่งภายในปี 2025 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านข่าวกรองและการเฝ้าระวัง ตลอดจนความสามารถในการยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการป้องปรามในภูมิภาค และทำให้สหรัฐฯสามารถปกป้องญี่ปุ่นและพลเมืองของญี่ปุ่นได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้จำนวนทหารสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นไม่เปลี่ยนแปลง แต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบกองกำลังครั้งนี้ก็ถูกมองเป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญไปยังให้จีน ให้ต้องทบทวนซ้ำสองก่อนหากจะก่อความขัดแย้งใดๆ ขึ้นมา

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังเห็นชอบขยายเนื้อหาสนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างกันให้ครอบคลุมการโจมตีไปยังอวกาศ และการโจมตีมาจากอวกาศด้วย โดยนี่เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อการเดินหน้าโครงการอวกาศและการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงของจีนที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

‘แอนโทนี บลิงเคน’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกำลังทำงานร่วมกันเพื่อขยายความร่วมมือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทะเล อากาศ  ไซเบอร์ และอวกาศ

การประกาศเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงเกิดขึ้นก่อนที่พรุ่งนี้จะมีการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ และประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’  ซึ่งคาดว่าประเด็นความมั่นคงต่างๆ ทั้งการขยายอิทธิพลของจีนในอินโด-แปซิฟิกและสงครามในยูเครน ตลอดจนการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนหลังสหรัฐฯ ได้ประกาศข้อจำกัดในการส่งออกไปเมื่อปีที่แล้ว จะเป็นประเด็นการหารือของผู้นำทั้งสอง

ขณะเดียวกัน ก่อนที่จะมีประกาศเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงจากพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้ออกมาแถลงดักคอว่า ความร่วมมือทางการทหารระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ไม่ควรเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของประเทศที่สาม หรือสั่นคลอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

การยกเครื่องปรับรูปแบบกองกำลังนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นที่โอกินาวา ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ที่นี่มีความสำคัญอย่างไร?

นี่คือพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่อการรักษาผลประโยชน์สหรัฐฯในแปซิฟิก  และจะยิ่งมีบทบาทสำคัญหากเกิดความขัดแย้งทางการทหารกับจี

หมู่เกาะโอกินาวาอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น เป็นเกาะที่แยกทะเลตะวันออกออกจากแปซิฟิกตะวันตก

สหรัฐฯ และญี่ปุ่นต้องการเสริมความแข็งแกร่งทางทหารที่เกาะแห่งนี้ เพราะนอกจากจะทำให้สามารถปกป้องญี่ปุ่นและตอบสนองเหตุฉุกเฉินได้รวดเร็วแล้ว   อีกเหตุผลสำคัญก็คือโอกินาวาอยู่ห่างจากไต้หวันแค่ประมาณ 600 กิโลเมตรเท่านั้น และเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ทางการทหารเรียกว่า "First Island Chain”  หรือ “แนวห่วงโซ่เกาะชั้นที่ 1”  ซึ่งเป็นกลุ่มดินแดนพันธมิตรของสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ลากยาวไปถึงอินโดนีเซีย ที่มีความสำคัญต่อการต่อต้านการรุกรานของกองทัพจีน

หมู่เกาะโอกินาวาถูกมองเป็นกุญแจหลักสำหรับปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในแปซิฟิก โดยมีทหารสหรัฐฯ ประจำอยู่กว่า 25,000 นาย และมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่ถึง 35 แห่ง  หากเกิดสถานการณ์ที่จีนใช้กำลังหวังผนวกไต้หวันจริง และสหรัฐฯ ต้องให้ความช่วยเหลือไต้หวันป้องกันตนเองตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน ฐานทัพสหรัฐฯ ที่โอกินาวาก็จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุทธศาสตร์ เพราะการส่งฝูงบินรบจากฐานทัพอากาศสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวามายังไต้หวันใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

ขณะที่ญี่ปุ่นเอง ก็กลัวว่าหากไต้หวันถูกจีนแผ่นดินใหญ่ยึดไปได้ จะส่งผลกระทบหนักต่อเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่จัดส่งน้ำมันมาสู่ญี่ปุ่น และจะยิ่งบ่อนทำลายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาค

ในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า ในแผนปรับโครงสร้างกองนาวิกโยธิน ของสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวาเป็นนาวิกโยธินชายฝั่ง จะทำให้หน่วยนี้มีกำลังประมาณ 2,000 นาย พร้อมอาวุธอย่างขีปนาวุธและโดรน มีหน้าที่เป็นกองกำลังลาดตระเวนและจู่โจมต่อสู้กับภัยคุกคามทางทะเล

ทั้งนี้ แผนปรับโครงสร้างกองนาวิกโยธินสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวาถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 2020

ขณะที่การประกาศเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ครั้งนี้ยังเกิดขึ้นไม่ถึง 1 เดือนหลังรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศว่าจะเพิ่มงบด้านกลาโหมขึ้นเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพีภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำงบกลาโหมของญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งญี่ปุ่นให้เหตุผลการเปลี่ยนทิศทางด้านนโยบายกลาโหมครั้งสำคัญนี้ว่าเป็นเพราะความกังวลต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และแนวโน้มที่จีนอาจใช้กำลังทางทหารกับไต้หวัน  ซึ่งล่าสุด มีความเห็นจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าวของญี่ปุ่น

จะเห็นได้ว่า ท่าทีคุกคามที่จีนมีต่อไต้หวัน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก ยิ่งมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรในภูมิภาคมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีความเห็นจากรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่บอกว่าเขาเองก็สงสัยอย่างจริงจังว่า การบุกไต้หวันใกล้จะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่

‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการแถลงร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของญี่ปุ่นโดยบอกว่า เราได้เห็นกิจกรรมทางทหารของจีนที่เพิ่มขึ้นของจีนใกล้ช่องแคบไต้หวัน ทั้งกิจกรรมทางอากาศและทางทะเล โดยสหรัฐฯ เชื่อว่าจีนพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” ขึ้นมา

แต่เขาเองก็ยังสงสัยอย่างจริงจังว่า กิจกรรมเหล่านี้จะหมายความว่าการรุกรานไต้หวันใกล้เข้ามาแล้วจริงๆ หรือไม่  อย่างไรก็ตาม ออสตินบอกว่าสหรัฐฯ จะจับตาสถานการณ์ และทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อทำทุกอย่างให้ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนทั้งภูมิภาค

ทั้งนี้ ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันพุ่งสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯในขณะนั้นเดินทางเยือนไต้หวัน จนทำให้จีนตอบโต้ด้วยการซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน

แต่ถึงแม้การซ้อมรบใหญ่ยุติลง แต่ก็มีรายงานว่าจีนยังดำเนินกิจกรรมทางทหารใกล้ไต้หวันออกมาต่อเนื่อง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมไต้หวันนระบุว่า ตรวจพบเครื่องบินจีน 57 ลำและเรือรบจีนอีก 4 ลำใกล้เกาะไต้หวัน ระหว่างกองทัพจีนดำเนินปฏิบัติการฝึกโดยมีเครื่องบิน 28 ลำที่บินเข้ามาในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน

 

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ