เมืองฮัส เมืองภูเขาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคชื่อเดียวกันทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอลเบเนีย บ้านหลังน้อยๆ กระจายกลางพื้นที่เขียวขจี อากาศสดใส ประชากรไม่หนาแน่นเกินไปอบอวลด้วยบรรยากาศของความสงบ พิจารณาจากข้อดีหลายประการฮัสเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย เว้นแต่ที่นี่ไม่มีงานและรายได้มากนัก และนี่คือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ผู้คนไม่อยากอยู่ที่นี่เป้าหมายของชาวเมืองฮัสคือ อังกฤษ ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในสหราชอาณาจักร
ญี่ปุ่น-อังกฤษ ลงนามกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง
อังกฤษ ประกาศเตรียมส่งรถถังรุ่น "ชาเลนเจอร์ 2" ให้ยูเครน
กลิ่นอายและกายหยาบของความเป็นอังกฤษพบได้ทั่วไปที่นี่ ตั้งแต่ตู้โทรศัพท์สีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงลอนดอน ธงยูเนียนแจ็กสัญลักษณ์ของสหภาพ หรือแม้แต่ร้านอาหารสไตล์อังกฤษที่เมืองเล็กๆ นี้ก็มีให้ลิ้มลอง
อาจเรียกได้ว่า ความเป็นอังกฤษกลายมาเป็นซอฟเพาเวอร์ของเมืองฮัส โดยมีเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง อังกฤษเป็นเป้าหมายที่คนหนุ่มสาวใฝ่ฝันถึง และสอง อังกฤษคือสถานที่ที่ช่วยให้คนที่ไปถึงฝั่งฝันส่งเงินกลับมาเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวที่ยังอยู่ในแอลเบเนีย
ในมุมของ โคลเดียน คาสตราตี นักสังคมวิทยา เป้าหมายในการอพยพย้ายถิ่นฐานเสมือนโรคระบาดที่เกิดขึ้นที่นี่ แอลเบเนียเป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่าน แวดล้อมด้วยชาติมหาอำนาจมากมายไม่เคยว่างเว้นจากการเป็นประเทศราช หลายร้อยปีที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แอลเบเนียมีโอกาสปกครองตนเองในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะถูกยึดโดยอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ราชวงศ์แอลเบเนียถูกเนรเทศ แอลเบเนียเปลี่ยนการปกครองครั้งใหญ่ แอนแวร์ ฮอจา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศด้วยระบอบสังคมนิยม ตามแบบสหภาพโซเวียตผู้เป็นพันธมิตร
ภายใต้การนำของฮอจา แอลเบเนียเสมือนฤๅษีแห่งบอลข่าน ความหวาดกลัวการโจมตีจากนานาชาติของผู้นำทำให้แอลเบเนียปิดประเทศ เน้นนโยบายพึ่งพาตนเอง
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังฮอจาเสียชีวิตในปี 1985 ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 แอลเบเนียเปิดตัวสู่ชาวโลกอีกครั้ง แต่การโอบรับทุนนิยมทันทีในชั่วข้ามคืนส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา เศรษฐกิจโตอย่างรวดเร็วจนเงินทุนมีไม่เพียงพอ นำมาซึ่งการแก้ปัญหาด้วยเงินกู้นอกระบบจนธนาคารล้มและเศรษฐกิจพังทลายในช่วงปี 1996
ประกอบกับปัญหาจากการคอร์รัปชันในภาครัฐที่ส่งผลกระทบตามมาคือค่าแรงอันต่ำเตี้ย รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อปีในครัวเรือนอยู่ที่ 1,720 ยูโรเท่านั้น หรือราว 61,000 บาท ขณะที่อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวอายุ 15-29 ปีก็สูงถึงร้อยละ 20 เหล่านี้ทำให้ประเทศนี้ยากจนมาจนถึงปัจจุบัน
บรรยากาศของโรงเรียนมัธยมในเมืองฮัสที่เงียบเหงาลงเรื่อยๆ ทุกปี พ่อแม่ที่หางานทำในต่างแดนพาลูกๆ ของพวกเขาออกจากเมืองเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
เสียงจากครูใหญ่ของโรงเรียนเล่าว่า จำนวนนักเรียนในปี 2022 น้อยกว่าปีก่อนถึงเกือบครึ่งหนึ่งส่วนคนที่เรียนจบแล้วก็นั่งจับเข่าอยู่ตามห้างสรรพสินค้า บ้างก็เล่นพูลฆ่าเวลา เนื่องจากยากที่จะหางานทำ
ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะมองที่ทางของตนในต่างประเทศสอดคล้องกับผลสำรวจจาก Gallup Poll ในปี 2018 ชี้ว่า ร้อยละ 60 ของแรงงานชาวแอลเบเนียแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในต่างแดน
ข่าวลือที่ว่าอังกฤษกำลังต้องการแรงงานจำนวนมากถูกส่งผ่านปากต่อปากและจุดให้เกิดกระแสการผู้อพยพครั้งใหญ่
รายงานจากสหราชอาณาจักร ระบุว่า ช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา จำนวนผู้อพยพผิดกฎหมายจากแอลเบเนียที่โดยสารเรือข้ามช่องแคบอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ปี 2020 จำนวนผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่มายังอังกฤษมีเพียง 50 คนเท่านั้น ก่อนจะเพิ่มเป็น 800 คนในปีถัดมา
ข้ามมาปี 2022 ช่วงเก้าเดือนแรกจำนวนผู้อพยพชาวแอลเบเนียพุ่งเป็น 11,241 คน และยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 คนในเดือนธันวาคม ส่วนใหญ่ของผู้ที่เดินทางเป็นผู้ชายวัยผู้ใหญ่และมักมาคนเดียวโดยจับกลุ่มข้ามช่องแคบผ่านเรือลำเล็ก
รายงานจากสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ หรือ NCA ชี้ว่า ผู้อพยพจำนวนหนึ่งอ้างว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อที่จะได้ขอลี้ภัยในอังกฤษ และส่วนใหญ่ของผู้อพยพกลุ่มนี้มักหายตัวไปจากสถานที่ที่รัฐจัดหาให้ เพื่อเข้าทำงานแบบผิดกฎหมาย จากนั้นเมื่อเก็บเงินได้มากพอจึงเดินทางกลับบ้าน
สถานการณ์เข้าขันวิกฤตจน ริซี สุนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรต้องประกาศแผนป้องกันและนโยบายคัดกรองที่เข้มงวดขึ้นสำหรับผู้อพยพที่เป็นชาวแอลเบเนียโดยเฉพาะ
ความกังวลไม่เฉพาะจำนวนผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่สูงถึงหลักหมื่น แต่การหลั่งไหลของผู้อพยพชาวแอลเบเนียยังเพิ่มความเสี่ยงที่บรรดาแก๊งอาชญากรรมและพ่อค้ายาเสพติดจะเข้ามาในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน NCA ชี้ว่า แก๊งอาชญากรรมแอลเบเนียมีความเชี่ยมโยงกับการนำเข้ากัญชาและโคเคน ประเด็นเหล่านี้ก่อดราม่าระหว่างประเทศเมื่อผู้อพยพชาวแอลเบเนียถูกแปะป้ายเหมารวมว่าเป็นอาชญากร แบบเดียวกับที่ผู้อพยพจากเม็กซิโกเคยเผชิญกับการตีตราในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ข่าวคราวเดินทางมาถึงประเทศต้นทางด้วย เอดี รามา นายกรัฐมนตรีแอลเบเนียทวิตข้อความไม่พอใจต่อมุมมองของสหราชอาณาจักรที่เหมารวมชาวแอลเบเนียเป็นอาชญากร เพราะต้องไม่ลืมว่าในบรรดาผู้อพยพจากแอลเบเนีย มีคนที่มุ่งมั่นและพร้อมใจไปทำงานหนักยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้จริง
ที่เมืองฮัส นายกเทศมนตรีลีมัน โมรินา ให้สัมภาษณ์จากห้องทำงานที่มีพระบรมชายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งอยู่ว่า ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้เขาไม่พอใจอย่างมาก
คนส่วนใหญ่ของเมืองฮัสพึ่งพารายได้จากบรรดาผู้อพยพที่เสี่ยงชีวิตไปทำงานในอังกฤษ
ส่วนในภาพรวมทั้งประเทศ เงินที่ส่งมามีมูลค่าไม่น้อย รายงานจากธนาคารกลางชี้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 เงินที่ผู้อพยพส่งกลับบ้านมีมูลค่ารวมถึง 376 ล้านยูโร หรือราว 13,000 ล้านบาท
ปัจจุบันแรงงานแอลเบเนียถูกกฎหมายในสหราชอาณาจักรมีประมาณ 140,000 คน พวกเขาทำงานหลากหลายตั้งแต่งานก่อสร้าง งานบริการ ไปจนถึงเป็นแพทย์
เมื่อคนแอลเบเนียยังคงต้องพึ่งพารายได้นอกประเทศเช่นนี้ การสกัดคลื่นผู้อพยพจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ความคาดหวังในการเดินทางไปยังอังกฤษของคนเมืองฮัสมากถึงขนาดคลั่งไคล้ และยิ่งกระตุ้นแรงขับเคลื่อนมากขึ้นเมื่อพวกเขาเห็นคนที่ไปได้ถึงหอบเงินเป็นกอบเป็นกำกลับมา
คลื่นผู้อพยพครั้งใหญ่จากแอลเบเนียคือผลของการที่คนในสังคมหมดศรัทธาและความคาดหวังต่อรัฐบาลและประเทศของตน
เมื่อหมดใจก็มองไม่เห็นอนาคต หนุ่มสาวจำต้องฝากวันข้างหน้าไว้กับที่ที่มั่นคงกว่า ทิ้งปัญหามากมายตามมาแก่ประเทศนั้นๆ ที่งานและเงินเองก็มีจำกัด อังกฤษไม่ได้เผื่อที่ทางไว้สำหรับคนนอกอย่างแอลเบเนียเช่นกัน