รัสเซียโจมตีรพ.ในเคอร์ซอน ปธน.เซเลนสกี ร้องขออาวุธเพิ่ม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สงครามในยูเครนดำเนินมาถึงวันที่ 339 แล้ว สถานการณ์การต่อสู้ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด หลังจากที่ทางชาติพันธมิตรตะวันตกประกาศส่งรถถังหลักหลายรุ่นให้แก่ยูเครน

อีกความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ของเลขาธิการนาโต เพื่อขอให้เกาหลีใต้สนับสนุนอาวุธให้กับยูเครน นอกจากการสนับสนุนด้านมนุษยธรรม

ขณะที่เมื่อวานนี้ หน่วยงานทางการของยูเครนรายงานว่า รัสเซียได้โจมตีหลายพื้นที่ของประเทศและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ภายในวันเดียว และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในการโจมตีระลอกนี้คือ แคว้นเคอร์ซอน เมืองท่าติดทะเลดำทางตอนใต้ของยูเครน

IMF เตือน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยปีนี้

"แคนาดา" ประกาศส่งรถถัง นักวิเคราะห์ชี้เปลี่ยนเกมได้

ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของแคว้นเคอร์ซอน ที่กระทรวงสาธารณสุขของยูเครนเผยแพร่ออกมา หลังจากถูกรัสเซียโจมตีอย่างหนักเมื่อวานนี้ ( 29 ม.ค.)

ผลของการโจมตีทำให้หอพักผู้ป่วยบางส่วนได้รับความเสียหาย เตียงเต็มไปด้วยคราบเลือดของผู้ป่วย ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของอาคาร เช่น ฝ้า ผนัง และทางเดินของอาคารพังเสียหายอย่างหนัก

เจ้าหน้าที่ทางการของแคว้นเคอร์ซอนรายงานว่า เป้าหมายหลักในการโจมตีของรัสเซียรอบนี้เป็นโรงพยาบาล โรงเรียน สถานีขนส่ง ไปรษณีย์ ธนาคาร และที่พักอาศัยของประชาชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย และเสียชีวิตอีก 5 ราย

ประชาชนในพื้นที่ เล่าว่ารัสเซียจงใจใช้ขีปนาวุธโจมตีอะพาร์ตเมนต์และทำให้เด็กที่อยู่ในอาคารดังกล่าวเสียชีวิต

นอกจากที่แคว้นเคอร์ซอนแล้ว อีกพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายปะทะและต่อสู้กันอย่างหนักคือเมืองซีเวิร์สก์ ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองบัคมุต เมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันมาเกือบ 4 เดือนแล้ว และการต่อสู้อย่างหนักทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียกำลังพลไปค่อนข้างมาก

สภาพของสนามรบในเมืองซีเวิร์สก์ ทหารยูเครนได้พานักข่าวเข้าไปในพื้นที่สนามรบ ซึ่งมีร่างของทหารรับจ้างของฝั่งรัสเซียหรือกลุ่มแวกเนอร์ ถูกทิ้งไว้ตามต้นไม้หรือสนามเพลาะต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกแถลงการณ์ประจำวันระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์เมืองบัคมุต วูเกลดาร์ และเมืองอื่น ๆ ในแคว้นโดเนตสก์ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก

ขณะเดียวกันก็ระบุว่า รัสเซียต้องการทำสงครามยาว ทำให้ยูเครนต้องการอาวุธใหม่ ๆ และขอร้องให้ชาติพันธมิตรช่วยเร่งการส่งอาวุธให้ยูเครนเร็วขึ้น เพื่อให้ยูเครนสามารถรักษาดุลในสนามรบที่ยูเครนกำลังได้เปรียบเอาไว้ได้

ตอนนี้ชาติตะวันตกได้รวมพลังกันอย่างเต็มที่เพื่อช่วยสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ยูเครนใช้ในสนามรบตอบโต้รัสเซีย

อย่างไรก็ดี ทางฝั่งชาติพันธมิตรตะวันตกไม่ได้หยุดแค่นี้ และพยายามหาพันธมิตรนอกภูมิภาคเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับชาติ

หนึ่งในสัญญาณของการหาพันธมิตรช่วยเหลือยูเครนนอกภูมิภาคคือ การเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ของเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต เมื่อวานนี้

โดยวาระหลักของการเยือนในครั้งนี้คือ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทหารกับพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย

หลังจากที่เดินทางไปถึง เลขาฯ นาโตได้เข้าพบกับ พัค จิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ทั้งคู่ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ พร้อมกับระบุว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล

อย่างไรก็ดี นอกเรื่องเกาหลีเหนือแล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เลขาฯ นาโตได้พูดเรื่องความช่วยเหลือของเกาหลีใต้ต่อยูเครน ขณะที่ไปร่วมงานเสวนาของสถาบันเช ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงในกรุงโซล

โดยเลขาฯ นาโตได้ขอร้องให้เกาหลีใต้ส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธ เช่น กระสุนรุ่นที่จำเป็นเร่งด่วน และอาวุธหนักต่าง ๆ ให้แก่ยูเครนโดยตรง แทนการขายอาวุธให้ชาติตะวันตกเพื่อนำไปให้ยูเครน 

ทั้งนี้ เยนส์ระบุว่า การตัดสินใจเรื่องส่งออกอาวุธเป็นสิทธิของเกาหลีใต้ แต่หลายประเทศสมาชิกนาโต ที่เคยมีนโยบายไม่ส่งออกอาวุธไปยังประเทศที่มีความขัดแย้ง เช่น เยอรมนี สวีเดน หรือนอร์เวย์ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ เลขาฯ นาโตยังได้พูดถึงเรื่องนี้ในบทสัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว AFP เช่นกัน โดยระบุว่า ประเด็นปัญหาความมั่นคงไม่ใช่แค่ปัญหาระดับภูมิภาค แต่ปัญหาระดับโลก ซึ่งทุกคนได้เห็นความจริงข้อนี้ผ่านสงครามในยูเครน และชัยชนะของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมและลางร้ายสำหรับความมั่นคงในทุกประเทศรวมถึงเอเชียด้วย

ที่ผ่านมา เกาหลีใต้เป็นหนึ่งประเทศที่ให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน แต่เป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่ด้านอาวุธ เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสันติภาพและการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายระบุว่า เหตุผลที่แท้จริงที่เกาหลีใต้ไม่ส่งอาวุธให้แก่ยูเครน เนื่องจากกังวลว่ารัสเซียจะไม่พอใจ และเข้ามาสร้างความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อเกาหลีใต้เอง

หลายฝ่ายมองว่า เลขานาโตฯ กำลังส่งสัญญาณกดดันรัฐบาลเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้ คือหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมด้านอาวุธและความมั่นคงที่ก้าวหน้าแห่งหนึ่งของทั้งเอเชียและโลก หากเกาหลีใต้ยินยอมส่งอาวุธให้ยูเครนโดยตรง จะทำให้ยูเครนมีกระสุนและอาวุธที่เพียงพอในการรับมือกับรัสเซีย

โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า อาวุธที่เกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตและน่าจะมีประโยชน์กับยูเครนคือ กระสุนของปืนใหญ่อัตราจรฮาวอิซเซอร์ ซึ่งเป็นปืนใหญ่ที่ยูเครนใช้อยู่ในสนามรบตอนนี้

ส่วนยุทโธปกรณ์อีกชนิดของเกาหลีใต้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อยูเครนคือ รถถังหลักรุ่นเคทู แบล็ก แพนเธอร์  (K2 Black Panther) ซึ่งเป็นรถถังที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกกลุ่มเดียวกับเอ็มวัน เอบรามส์ของสหรัฐฯ เลพเพิร์ด 2 ของเยอรมนี และเลอแคลร์ของฝรั่งเศส

เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธของเกาหลีใต้ ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นในช่วงปี 1969 หลังจากที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐฯ ในเวลานั้นประกาศยุทธศาสตร์ปรับลดกำลัง ยุทโธปกรณ์และบทบาทของสหรัฐฯ ในเอเชียลง

นี่ทำให้เกาหลีใต้ ที่ขณะนั้นเป็นประเทศที่พึ่งพาอาวุธจากสหรัฐฯ ทำสงครามกับเกาหลีเหนือมาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 หรือเกือบ 20 ปี ต้องพยายามพึ่งพาตนเองในด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้น

โดยในปี 1970 ประธานาธิบดีพัก จ็อง-ฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้บุกเบิกอุตสาหกรรมพัฒนาอาวุธในประเทศ ด้วยการตั้งสำนักงาน Agency for Defense Development (ADD) และออกกฎหมายพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตอาวุธในประเทศ 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรรมผลิตอาวุธในเกาหลีใต้ก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการเจริญเติบโตทางภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเวลานั้นเกาหลีมีความเจริญถึงขีดสุด จนได้รับฉายาว่าเป็น “ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน”  (Miracle on the Han River)

อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้น 2005 โน มู-ฮย็อน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในเวลานั้น ประกาศเปิดแผนปรับปรุงกองทัพเกาหลีใต้และอุตสาหกรรมผลิตอาวุธภายในประเทศครั้งใหญ่ หรือ Defense Reform 2020 ซึ่งตั้งเป้าให้เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธอันดับต้น ๆ ของโลกให้ได้ภายในปี 2020

หลังจากนั้น ในปี 2018-2019 เกาหลีใต้มีรายได้จากการส่งอาวุธราว 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1 แสนล้านบาท และกลายมาเป็นผู้ส่งอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 10 ของโลก และเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าจากการส่งออกอาวุธของเกาหลีใต้ คิดเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 660,000 ล้านบาท

ทำให้ในปีนี้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล มีแผนที่จะทำให้เกาหลีใต้ขยับขึ้นไปเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธอันดับ 5 ของโลกให้ได้ภายในปี 2025 หรือในอีกสองปีข้างหน้า และขยับสู่อันดับที่ 4 ของโลกให้ได้ภายในปี 2027 โดยตอนนี้คู่ค้ารายสำคัญของเกาหลีใต้ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ โปแลนด์

ในปี 2022  รัฐบาลโปแลนด์เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพี  ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จากงบป้องกันประเทศปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เท่านั้น เนื่องจากความกังวลเรื่องภัยคุกคามจากรัสเซีย

ในปีเดียวกัน โปแลนด์ยังได้ประกาศใช้แผนขยายขนาดของกองทัพ โดยตั้งเป้าให้มีกำลังทหารประจำการอย่างน้อย 300,000 นาย ภายในปี ค.ศ.2035 และจัดซื้อรถถังในตระกูลเอบรามส์ 250 คัน และระบบ ขีปนาวุธ "ไฮมาร์ส" (HIMARS) อีก 500 ชุดจากสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน โปแลนด์ก็ได้หันไปหาบริษัทผลิตอาวุธในเกาหลีใต้ในฐานะที่เป็นตัวเลือกใหม่ของตลาดอาวุธทันสมัย

โดยมีรายงานว่า โปแลนด์ได้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆ จากเกาหลีใต้ในวงเงินที่สูงกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งคำสั่งซื้อดังกล่าว หลัก ๆ ประกอบด้วย รถถังเคทู แบล็ก แพนเธอร์ ปืนอัตตาจรรุ่นเคไนน์ ธันเดอร์ เครื่องบินรบ FA-50 และ FA-35

นอกจากเลขาฯ นาโตแล้ว อีกคนหนึ่งที่เดินทางไปเยือนเกาหลีใต้คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังจากที่เพิ่งเดินทางไปเยือนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ เดินทางถึงฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ เพื่อเตรียมเข้าร่วมหารือกับลี จง-ซ็อบ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ในวันพรุ่งนี้ 31 ม.ค.

โดยวาระหลักของการเดินทางไปเยือนคือ เพื่อหารือเรื่องเสถียรภาพในภูมิภาคและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านการทหารระหว่างทั้งสหรัฐฯ - เกาหลีใต้

 

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ