UN คาด 2 ปีรัฐประหารเมียนมา ปชช.ถูกสังหารเกือบ 3,000 ราย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

วันที่ 1 ก.พ. 2021 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมียนมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อกองทัพที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ของนางอองซานซูจี

เหตุผลของกองทัพในการยึดอำนาจคราวนั้นคือ พรรค NLD มีการโกงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 หรือ 3 เดือนก่อนยึดอำนาจ

ครบรอบ 2 ปีของการทำรัฐประหาร วันนี้มีการออกมาประท้วงของชาวเมียนมาในหลายเมือง

ชาวเมียนมาหลายพันคนเดินทางมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเวลา 11.00 น. ของวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 ปี หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร

2 ปีรัฐประหารเมียนมา กองทัพใช้การโจมตีทางอากาศเพิ่มขึ้น

เมียนมาประกาศกฎเลือกตั้งฉบับใหม่ เกมที่เล่นยังไงก็ชนะ?

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงฉากที่ผู้ประท้วงปะทะกับทหารเมียนมา เพื่อเน้นย้ำถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ประท้วงในรัฐบาลทหารที่กำลังปกครองประเทศในขณะนี้

ขณะเดียวกันผู้ประท้วงก็ได้ชูสามนิ้วเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ

ชาวเมียนมากล่าวว่าพวกเขาออกมาประท้วงเพื่อบอกให้โลกรู้ว่าชาวเมียนมาจะไม่มีวันยอมแพ้และจะสู้จนกว่าชนะ

ผู้ที่มาชุมนุมส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD พรรคของนางออง ซาน ซูจีที่ถูกจับกุมตัวตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร หลายคนถือภาพของเธอมาในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย

นอกจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเมียนมาในประเทศไทยแล้ว ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการชุมนุมของชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนรวมตัวกันที่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา ในกรุงโตเกียวเพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวเมียนมาในต่างประเทศที่ไม่ยอมแพ้ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

ผู้ประท้วงหลายคนได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา และเร่งให้ช่วยเหลือประเทศเมียนมาให้เร็วที่สุด

ในขณะที่เกิดการประท้วงในหลายเมือง ในหลายประเทศ  แต่ที่เมียนมามีรายงานว่า ไม่มีกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เกิดขึ้นในวันครบรอบ 2 ปี

สภาพของถนนในนครย่างกุ้งของเมียนมาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เป็นสภาพของถนนที่แทบไม่มีรถรา ไม่มีผู้คนพลุกพล่านจอแจเหมือนปกติ ทั้งเมืองเงียบสนิท

หลายฝ่ายระบุว่า นี่คือการประท้วงเงียบหรือ Silent Strike ของชาวเมียนมา เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ชาวเมียนมาเคยใช้ในช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร 

การรัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 สถานีโทรทัศน์ MRTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของทางการได้รายงานว่า กองทัพเมียนมา ที่นำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจีแล้ว แล้วโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 เกิดการโกงอย่างมโหฬาร

ไม่กี่วันหลังการรัฐประการ ประชาชนทั่วประเทศลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้านกองทัพ การประท้วงเริ่มยกระดับ ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ออกมารวมตัวกันตามท้องถนนในนครย่างกุ้งและเมืองต่างๆ ทั่วเมียนมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกองทัพเมียนมาได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอย่างหนัก ก่อนที่ประชาชนจำนวนมากจะหนีไปตั้งกลุ่มและจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพ

สถานการณ์โดยภาพรวมของเมียนมาเป็นอย่างไรหลังผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาได้ 2 ปี ผ่านมา 2 ปี ความรุนแรงที่กองทัพเมียนมากระทำต่อพลเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้พลัดถิ่นยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทอม แอนดรูว์ส เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติออกมาแถลงสถานการณ์ภาพรวมในเมียนมาว่ายังคงน่าเป็นห่วง หลังรัฐบาลทหารยังคงเดินหน้าปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พลเรือนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารถูกสังหารไปแล้ว 2,900 ราย ขณะที่ 1.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และอีกกว่า 70,000 คนต้องหนีออกนอกประเทศ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นรายนี้ระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะสูงมากกว่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกวาดล้างและสังหารผู้ต่อต้านอย่างเป็นระบบ และนี่อาจเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นรายนี้ยังบอกด้วยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังต่อต้านทหารกับกองทัพเมียนมาแล้วถึง 10,000 ครั้ง และสิ่งเหล่านี้คือข้อบ่งชี้ว่า ทางฝ่ายประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารยังไม่ยอมแพ้ถึงแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ