สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ซ้อมรบทางอากาศ รับมือภัยคุกคามเกาหลี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เปิดฉากการซ้อมรบร่วมทางอากาศเมื่อวันพุธ (1 ก.พ.) ที่ผ่านมา โดยการซ้อมรบร่วมครั้งนี้ สหรัฐฯได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดหนัก B-1B

รวมถึงเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-22 สเตลธ์ ซึ่งถือเป็นเครื่องบินรบ 2 ชนิดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางด้านยุทธศาสตร์เข้าร่วมด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

นี่เป็นการส่งสัญญาณจากสหรัฐฯอย่างชัดเจนที่สุดว่า พวกเขาพร้อมปกป้องเกาหลีใต้อย่างเต็มรูปแบบรวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากถูกเกาหลีเหนือรุกราน

แน่นอนว่าการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ในครั้งนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่เกาหลีเหนือ ที่ออกแถลงการณ์ประณามในทันที

สหรัฐฯ ปัดยั่วยุ เกาหลีเหนือ ยันซ้อมรบ “เกาหลีใต้” ตามปกติ

"ไบเดน" ปฏิเสธหารือซ้อมรบนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้

ภาพของเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ B-1B และเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-22 ของสหรัฐฯ รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ F-35A และ F-35B ขณะลอยลำอยู่เหนือน่านฟ้าของเกาหลีใต้ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการซ้อมรบร่วมทางอากาศครั้งใหม่ระหว่างสองประเทศ

สหรัฐฯและเกาหลีใต้เคยจัดซ้อมรบร่วมทางอากาศมาแล้วหลายครั้ง แต่การซ้อมรบคราวนี้แตกต่างจากการซ้อมรบครั้งก่อนๆ อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรกคือ  จุดที่ซ้อมรบ คราวนี้จัดขึ้นที่ทะเลเหลืองซึ่งเป็นน่านน้ำที่อยู่ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรเกาหลี

ประการที่ 2 คือ การนำเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ B-1B ซึ่งมีศักยภาพในการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ และเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-22 สเตลธ์ ซึ่งสามารถหลบหลีกระบบป้องกันภัยทางอากาศทุกชนิดของเกาหลีเหนือเข้ามาร่วมในการซ้อมรบครั้งนี้ด้วย

สองสิ่งนี้คือตัวบ่งชี้ว่า สหรัฐฯและเกาหลีใต้ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ และสหรัฐพร้อมที่จะปกป้องเกาหลีใต้อย่างเต็มที่

การซ้อมรบครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ไปเยือนเกาหลีใต้

โดยหลังจากหารือกับ ลี จง ซ็อบ รัฐมนตรีกลาโหมของเกาหลีใต้ ทั้งคู่ออกมาแถลงข่าวร่วมกันว่า จะเพิ่มความเข้มข้นของการฝึกรบร่วมของทั้ง 2 ชาติเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์โดยเฉพาะ

ดูจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ตัดโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต จึงต้องมีการขนเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-1B เข้ามาฝึกรบในครั้งนี้ และแน่นอนว่าเกาหลีเหนือออกมาตอบโต้ทันที

ทันทีที่ภาพการซ้อมรบร่วมออกมา เกาหลีเหนือก็ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เคซีเอ็นเอทันที โดยระบุว่าสหรัฐฯ กำลังผลักดันสถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วในคาบสมุทรเกาหลีให้ขยับเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของ red-line ซึ่งหมายถึงเส้นที่กั้นระหว่างสันติภาพกับสงคราม

สถานีโทรทัศน์เคซีเอ็นเอ รายงานด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือไม่สนใจเข้าร่วมการเจรจาใดๆ กับสหรัฐฯ ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงเลือกดำเนินนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเกาหลีเหนือเช่นนี้

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เกาหลีเหนือมีการทดสอบขีปนาวุธถี่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาคือประมาณ 35 ครั้ง และหลายครั้งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า

หลายฝ่ายระบุว่า การที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธที่ถี่ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาก็เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในขั้นตอนสุดท้าย

เกาหลีเหนือเริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ช่วงปี 1980 โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเองจากการคุกคามของศัตรูหมายเลข 1 อย่างสหรัฐฯ

 

การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทำควบคู่ไปกับการพัฒนาขีปนาวุธเพื่อใช้ในการติดหัวรบ โดยขีปนาวุธที่เกาหลีเหนืออยากพัฒนาให้ได้มากที่สุดคือ ขีปนาวุธข้ามทวีปหรือ ICBM ที่สามารถยิงได้ในระยะ 10,000 - 11,500 กิโลเมตรที่มีรัศมีครอบคลุมไปถึงนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

นอกจากเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น  อีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงต่อสหรัฐฯ ในเอเชียก็คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรสำคัญนอกนาโต (major non-NATO ally) ที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ

สายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของฟิลิปปินส์ที่เป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้สหรัฐฯต้องการกลับเข้ามาใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานที่มั่นในแถบนี้

และวันนี้มีรายงานว่า สหรัฐฯ สามารถโน้มน้าวให้ฟิลิปปินส์อนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ในฐานทัพ 4 แห่งของประเทศได้

ข้อตกลงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการเยือนฟิลิปปินส์ของลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่เดินทางถึงกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ในวันนี้ ก่อนจะเข้าหารือเรื่องการใช้ประโยชน์ในฐานทัพและโครงสร้างพื้นฐานทางทหารต่างๆ ในฟิลิปปินส์เพิ่มเติม

และรายงานข่าวล่าสุดระบุว่าทางการฟิลิปปินส์เห็นชอบยอมเปิดฐานทัพอีก 4 แห่งของตัวเองให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นฐานทัพแห่งใดบ้าง

ในอดีตสหรัฐฯ เคยทำข้อตกลงเช่าฐานทัพอากาศคล้าร์กระหว่างปี 1951 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 1991 และเช่าพื้นที่ฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิกจนถึงเดือนพฤศจิกายน 1992  โดยสหรัฐฯไม่สามารถต่ออายุการเช่าได้อีก หลังวุฒิสภาฟิลิปปินส์ลงมติเมื่อเดือนกันยายนปี 1991 ปฏิเสธคำขอต่ออายุการเช่า ส่งผลให้สหรัฐฯต้องถอนทหารทั้งหมดออกจากฟิลิปปินส์ภายในวันที่ 24 พ.ย.1992

อย่างไรก็ดีในปี 2014 รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลงที่มีชื่อว่า En-hanced Defense Cooperation Agreement (EDCA) ซึ่งเปิดโอกาสให้สหรัฐฯกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ แต่ไม่สามารถส่งทหารมาประจำการถาวร

ในฐานทัพของฟิลิปปินส์ 5 แห่ง ซึ่งรวมถึง รันเวย์ ศูนย์เรดาร์ โรงซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ตั้งอยู่ภายในฐานทัพอากาศซีซาร์ บาซา (Cesar Basa Air Base) และพื้นที่ซ้อมยิงปืนใหญ่และเขตซ้อมรบด้วยกระสุนจริง ที่ตั้งอยู่ภายในค่ายทหารฟอร์ท แมกไซไซ (Fort Magsaysay)

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักระบุว่า นี่เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลและแสนยานุภาพของจีนที่มีเป้าหมายอยู่ที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะน้อยใหญ่ต่างๆ เช่น หมู่เกาะสแปรตลีย์ และหมู่เกาะพาราเซล

โดยจีนและหลายประเทศรวมถึงฟิลิปปินส์ ต่างมีข้อพิพาทในการอ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะเหล่านี้มายาวนาน

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้ประโยชน์ในฐานทัพของฟิลิปปินส์ได้ในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งที่มองว่า สหรัฐฯ กำลังดึงฟิลิปปินส์เข้าไปสู่ความขัดแย้งกับจีน ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีใดๆต่อฟิลิปปินส์

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ