เข้าปีใหม่ 2023 ได้ไม่นาน กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) ของนาซาก็เริ่มภารกิจใหญ่ครั้งใหม่ นั่นคือการสำรวจการก่อตัวของดาวฤกษ์ ก๊าซ และฝุ่นในหลากหลายกาแล็กซีที่อยู่ใกล้เคียงกับทางช้างเผือกของเรา
ภารกิจนี้เป็นความร่วมมือของทีมศึกษาฟิสิกส์ความละเอียดเชิงมุมสูงในดาราจักรใกล้เคียง (PHANGS) ซึ่งมีนักวิจัยมากกว่า 100 คนจากทั่วโลกเข้าร่วม นำโดย เจนิส ลี จากหอสังเกตการณ์เจมิไนของสหรัฐฯ
ทีมวิจัยกำลังศึกษาตัวอย่างที่หลากหลายของกาแล็กซีก้นหอย 19 แห่ง และในช่วงไม่กี่เดือนแรกของการปฏิบัติภารกิจ เจมส์ เว็บบ์ ก็สามารถสังเกตการณ์เป้าหมาย 5 กาแล็กซีสำเร็จ ได้แก่ M74, NGC 7496, IC 5332, NGC 1365 และ NGC 1433
ผลลัพธ์เบื้องต้นที่ได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจ เพราะโครงสร้างกาแล็กซีก้นหอยที่ถ่ายมาได้นั้นมีความชัดเจนมาก
มันชัดเจนถึงขนาดว่า นักวิทย์สามารถมองเห็นการมีอยู่ของเครือข่ายโครงสร้างบางอย่างภายในกาแล็กซีเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโพรงฝุ่นเรืองแสงและฟองอากาศขนาดใหญ่ที่กำลังเรียงตัวเป็นเกลียวแขน (Spiral Arm) ของกาแล็กซีก้นหอย
อดัม ลีรอย สมาชิกทีม PHANGS จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ กล่าวว่า “ทีมงานได้ใช้เวลาหลายปีในการสังเกตกาแล็กซีเหล่านี้ที่ความยาวคลื่นแสง คลื่นวิทยุ และรังสีอัลตราไวโอเลต โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและกล้องอื่น ๆ ... แต่เราไม่เคยมองเห็นช่วงแรกสุดของวัฏจักรชีวิตดาวฤกษ์เลย เพราะถูกบดบังด้วยเมฆก๊าซและฝุ่น”
แต่ด้วยความสามารถการบันทึกภาพที่ความยาวคลื่นอินฟราเรดอันทรงพลังของ เจมส์ เว็บบ์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถมองทะลุผ่านฝุ่นเพื่อเชื่อมต่อชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปได้
ทีมงานของ PHANGS จะทำงานเพื่อสร้างและเผยแพร่ชุดข้อมูลที่จัดเรียงข้อมูลของเว็บบ์เข้ากับชุดข้อมูลเดิมที่ได้รับก่อนหน้านี้จากหอดูดาวอื่น ๆ เพื่อช่วยเร่งสรุปการค้นพบ
เจนิส ลี กล่าวว่า “ด้วยความละเอียดของกล้องโทรทรรศน์ เป็นครั้งแรกที่เราสามารถทำการสำรวจการก่อตัวของดาวในกาแล็กซีก้นหอยได้อย่างสมบูรณ์ และเก็บข้อมูลโครงสร้างฟองอากาศระหว่างดวงดาวในกาแล็กซีใกล้เคียง”
เรียบเรียงจาก NASA
ภาพจาก NASA