สรุปดราม่า “Atomic Heart” เมื่อเกมรัสเซีย อาจมีเอี่ยวในสงครามยูเครน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สงครามรัสเซีย-ยูเครนในวงการเกม เมื่อ “Atomic Heart” เกมแนวยิงจากบริษัทรัสเซีย ถูกตั้งข้อสงสัยว่า อาจสนับสนุนการทำสงครามยูเครน

เมื่อพูดถึง “เกม” เรามักนึกถึงเรื่องของความสนุกสนานเพลิดเพลิน การผ่อนคลาย แต่บางครั้งเราก็พบว่า เกมสามารถนำไปสู่ดราม่าได้เหมือนกัน และบางครั้งเกมเองก็อาจเป็นเรื่องในเชิง “การเมือง” ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกระแสดราม่าในวงการเกมขณะนี้สำหรับเกม Atomic Heart” เกมแนว FPS (เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ที่เกมเมอร์และเกมแคสเตอร์หลายคนรอคอยในฐานะเกมที่น่าเล่น แต่ตอนนี้กำลังเกิดกระแสตีกลับว่า “บริษัทผู้พัฒนาเกม อาจมีส่วนในทางใดทางหนึ่งกับการรุกรานยูเครน”

กองทัพรัสเซีย "แวกเนอร์" ประชิด "บัคมุต" เหลือแค่ 2 กม.

ตุรกีแผ่นดินไหวซ้ำรุนแรง 5.6 เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บเกือบ 70 คน

"ปูติน"จวกตะวันตกส่งอาวุธให้ยูเครน ต้องการทำลายรัสเซีย

Atomic Heart เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจักรวาลคู่ขนาน ที่สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายชนะสงครามด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์สุดล้ำ แต่หุ่นยนต์เหล่านั้นเกิด “ความผิดปกติ” และไล่เข่นฆ่ามนุษย์ จนกลายเป็นปมสุดคลาสสิกของสงครามระหว่างจักรกลกับมนุษยชาติ โดยมีตัวเอกของเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงโซเวียตหรือ KGB

จากเนื้อเรื่องย่อข้างต้นจะเห็นว่า เกมนี้เป็นหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตแบบเนียน ๆ ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาเกมเมอร์ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น เพราะก็เป็นหนึ่งในวิธีเล่าเรื่องที่สามารถทำได้

แต่ปัญหาของ Atomic Heart อยู่ที่บริษัทผู้สร้างอย่าง “มันด์ฟิช (Mundfish)” ที่มีข่าวลือหนาหูว่าเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย และอาจเป็นหนึ่งในผู้หนุนหลังการทำสงครามในยูเครน!

ข้อสงสัยดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางบริษัทมันด์ฟิชได้ออกมาชี้แจงว่า “พวกเราได้ทราบถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับจุดยืนของเราแล้ว เราต้องการยืนยันว่า มันด์ฟิชเป็นผู้พัฒนาและสตูดิโอที่มีทีมงานระดับโลกที่มุ่งเน้นไปที่เกม และเป็นองค์กรที่สนับสนุนสันติภาพ ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้คน

“เราจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองหรือศาสนา โปรดมั่นใจว่า เราเป็นทีมงานระดับโลกที่มุ่งเน้นที่จะให้ Atomic Heart อยู่ในมือของเกมเมอร์ทุกที่ทั่วโลก ... เราไม่และจะไม่เอาผิดกับผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ส่งสแปมด้วยภาษาหรือเนื้อหาที่ก้าวร้าว แสดงความเกลียดชัง เลือกปฏิบัติ รุนแรง หรือคุกคาม”

คำชี้แจงดังกล่าวไม่ได้บอกชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านสงคราม และในขณะเดียวกันก็เหมือนพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงสงครามโดยตรง

มันด์ฟิชยังเจอข้อครหาใหญ่ หลังนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Mundfish Store มีข้อความที่บอกเป็นนัยว่า “นี่เป็นบริษัทของรัสเซียที่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัสเซีย และจะให้ข้อมูลของคุณแก่หน่วยความมั่นคงรัสเซีย (FSB)”

มันด์ฟิชชี้แจงในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่า “เกมและเว็บไซต์ของเราไม่ได้รวบรวมข้อมูลใด ๆ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของเว็บไซต์ล้าสมัยและไม่ถูกต้อง และควรถูกลบออกไปเมื่อหลายปีก่อน เราได้ปิด Mundfish Store เพื่อให้แฟน ๆ ของเรามั่นใจในความสมบูรณ์ของสตูดิโอและผลิตภัณฑ์ของเรา เราขออภัยสำหรับความสับสนในเรื่องนี้”

ทั้งนี้ คำชี้แจงดังกล่าวไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเคยให้ข้อมูลผู้ใช้แก่ FSB หรือไม่

มันด์ฟิชยังถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินทุน โดยมีรายงานว่า หนึ่งในนักลงทุนหลักของมันด์ฟิชประกอบด้วยบริษัท Tencent บริษัทจีนที่ลงทุนในบริษัทเกมจำนวนมาก, Gaijin Entertainment ผู้จัดจำหน่ายเกมของฮังการี และที่ชวนจับตาเป็นพิเศษคือ GEM Capital ซึ่งเป็นกองทุนของรัสเซียที่ก่อตั้งโดย อนาโตลี พาลีย์ ซึ่งทำงานให้กับบริษัทในเครือของก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรัสเซียที่กำกับดูแลโดยรัฐ

นอกจากนี้ โรเบิร์ต บากราตูนี หนึ่งในผู้ก่อตั้งมันด์ฟิช ยังเคยเป็นอดีตผู้จัดการของ Mail.ru ซึ่งปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า “VK” ซึ่งมีการเซนเซอร์เนื้อหาที่ต่อต้านรัสเซียหรือสงคราม และสนับสนุนการให้ข้อมูลในฝั่งรัสเซีย

อีกข้อสังเกตคือ ตัวเกม Atomic Heart นี้มีการใช้ตัวละครที่เป็นเจ้าหน้าที่ KGB จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ทีมงานจะต้องได้รับการสนับสนุนและการอนุญาตต่าง ๆ จากทางการรัสเซีย ในลักษณะเดียวกับที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เล่าเรื่องราวทหารสหรัฐฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทางการก่อนทั้งในเรื่องบทและข้อมูลต่าง ๆ แลกกับการสนับสนุนบางอย่างจากทางการหรือกองทัพ (ตัวอย่างชัด ๆ คือภาพยนตร์ Top Gun ที่เคยมีรายงานว่ากลาโหมสหรัฐฯ เข้ามายุ่มย่ยามมากจนเกินไป)

แม้ความสัมพันธ์เหล่านี้จะไม่ถึงกับสามารถชี้ได้โดยตรงว่า บริษัทมันด์ฟิชมีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลรัสเซีย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหมือนจะมีความเชื่อมโยงบางอย่างอยู่

นั่นนำมาสู่ข้อกังวลถัดมาที่ว่า รายได้จากเกม Atomic Heart ของมันด์ฟิชนี้ เข้ากระเป๋าตังค์รัฐบาลรัสเซียด้วยหรือไม่ เพราะหากรัสเซียได้เงินจากส่วนนี้ด้วย ก็หมายความว่าใครที่ซื้อเกมนี้ อาจกำลังสนับสนุนงบในการทำสงครามยูเครนโดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบัน มีอินฟลูเอนเซอร์ เกมเมอร์ เกมแคสเตอร์ หลายคน แม้แต่ในไทย เช่น พี่เอก HEARTROCKER  ที่ออกมาประกาศงดทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเกมสัญชาตรัสเซียเกมนี้ ด้วยความกังวลว่าอาจจะกลายเป็นการสนับสนุนสงครามในยูเครนนั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก Dexerto / Escapist / Vice

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ